ค่าเงินบาทวันนี้ 21 มิ.ย. 67 ‘แข็งค่า‘ ตามBOEส่งสัญญาณดอกเบี้ยผ่อนคลาย
ค่าเงินบาทวันนี้ 21 มิ.ย.67 เปิดตลาด “แข็งค่า“ ที่ 36.73 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตามสัญญาณบีโออี ส่งสัญาณดอกเบี้ยผ่อนคลาย และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ระวังค่าเงินบาทความผันผวน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาทต่อดอลลาร์
ค่าเงินบาทวันนี้ นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.73 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.77 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.69-36.78 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้ว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังตลาดมองว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) แม้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25% ตามคาด แต่ BOE ก็มีการส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มคาดว่า BOE อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนสิงหาคม
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับไม่ได้อ่อนค่าไปมาก ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำที่ช่วยพยุงเงินบาทเอาไว้ หลังราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นราว +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางความหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งฝั่งตะวันออกกลางและ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้ หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก อย่างไรก็ดี โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ก็อาจชะลอลงได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการนั้นออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้
นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ ซึ่งในช่วงคืนที่ผ่านมาการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ได้ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้ หากมีปัจจัยเข้ามากดดันราคาทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง เราคาดว่าเงินบาทก็อาจผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (Buy on Dip) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มราคาทองคำ เช่น มีเป้าราคาทองคำ (XAUUSD) ในโซน 2,400-2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า เงินบาทก็อาจผันผวนไปตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่อาจยังคงทยอยขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องได้ในช่วงนี้ จนกว่านักลงทุนต่างชาติจะมีความเชื่อมั่นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น หรือ ความเสี่ยงการเมืองไทยลดลงชัดเจน ถึงจะเริ่มเห็นการทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติอีกครั้ง
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ เพราะหากออกมาสูงกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความหวังที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ หนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้ไม่ยาก
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมเคลื่อนไหวผสมผสาน ท่ามกลางแรงขายทำกำไรบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor อย่าง Nvidia -3.5%, Apple -2.2% ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Exxon Mobil +2.2% หลังราคาน้ำมันดิบได้ทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงนี้ ทำให้โดยรวม แม้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq จะปรับตัวลง -0.79% แต่ดัชนี S&P500 ก็ปิดตลาดเพียง -0.25%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.93% หนุนโดยความหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะ BOE ที่เริ่มมีการส่งสัญญาณอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ ASML +2.3% หลังทาง Morgan Stanley ได้มีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในหุ้น ASM International +5.3%
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 4.26% โดยเรายังคงเห็นแรงซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นของผู้เล่นในตลาดอยู่ หลังผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ในช่วงนี้ออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจผันผวนในกรอบ sideways และสามารถที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งของเฟดในปีนี้ ทว่าเราคงคำแนะนำเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง” มากกว่าที่เฟดจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มคาดหวังว่า BOE อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุน ตามการทยอยอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดได้อ่อนค่าใกล้ระดับ 159 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 105.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.3-105.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น ทว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ก็สามารถปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 2,380 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์จากทั้งปัญหาตะวันออกกลางและสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กลับมาร้อนแรงขึ้น รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก ซึ่งการปรับตัวขึ้นดังกล่าวของราคาทองคำ ก็เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนมิถุนายนของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น
ส่วนในฝั่งอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนพฤษภาคม