ทำธุรกิจเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เข้าข่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ แล้วขอคืนภาษีได้ไหม

ทำธุรกิจเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เข้าข่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ แล้วขอคืนภาษีได้ไหม

ผู้ประกอบการอย่าชะล่าใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ทั้งให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน รับแลกเปลี่ยนเงินตรา สิ่งที่ต้องเจอและหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ "ภาษีธุรกิจเฉพาะ"

ทุกธุรกิจอาชีพต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาษี แต่ภาษีที่ต้องเสียจะแตกต่างกัน ซึ่งหากเป็นภาษีโดยทั่วไปที่ทุกธุรกิจต้องเจอคือ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหัก ณ ที่จ่าย” แต่มีอีกหนึ่งภาษีที่ผู้ประกอบธุรกิจเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ อย่างเช่นการให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน รับแลกเปลี่ยนเงินตรา ต้องเจอและหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ "ภาษีธุรกิจเฉพาะ"

​แล้วรู้หรือไม่ว่า! ธุรกิจที่เข้าข่ายจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องไปดำเนินการขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย และมีหน้าที่ต้องส่งภาษีธุรกิจเฉพาะนี้ให้กับกรมสรรพากรทุกเดือน

ด้วยเหตุนี้จึงถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบกิจการที่ทำธุรกิจเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จะต้องจัดการเรื่องภาษีธุรกิจเฉพาะตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่สรรพากรจะตรวจสอบพบ ดังสามารถอธิบายได้ดังนี้

รู้ให้ลึก...ภาษีธุรกิจเฉพาะ​​​

ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือภาษีอีกประเภทหนึ่งในหลายๆ ประเภทภาษี ที่จะจัดเก็บกับบางธุรกิจที่เข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ประกอบการที่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ สามารถเป็นได้ทั้งผู้ประกอบการที่ทำในนามบุคคลธรรมดา ทำเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และนิติบุคคล รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ กองทุน กองมรดก หน่วยงานหรือกิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันมิใช่นิติบุคคล และองค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล

โดยถ้าหากผู้ประกอบการดำเนินกิจการอยู่นอกราชอาณาจักร ต้องมีผู้รับผิดชอบดำเนินการแทนให้ ได้แก่ ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้แทนซึ่งมีอำนาจในการจัดการโดยตรง

ธุรกิจที่เข้าข่ายต้องจดภาษีธุรกิจเฉพาะ

นอกจากรูปแบบการประกอบธุรกิจ อย่างเช่นนิติบุคคล บุคคลธรรมดา คณะบุคคล จะมีผลต่อผู้ประกอบการในเรื่องของการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ประเภทธุรกิจที่ทำก็อาจเข่าข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย ซึ่งสามารถแบ่งได้ตามประเภทธุรกิจที่มีหน้าที่ต้องขดจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนี้

- การธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายเฉพาะ
- การรับประกันชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต
- การรับจำนำ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ
- การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
- การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ
- การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม

วิธีการยื่นขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะแบบออนไลน์

ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่ในข่ายที่ต้องจดภาษีธุรกิจเฉพาะดังที่กล่าวไปแล้ว สามารถยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.01) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ที่ www.rd.go.th ซึ่งยื่นคำขอได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

โดยมีรายละเอียดขั้นตอน คือ เริ่มจากให้กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (13 หลัก) ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา ให้ใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน และนิติบุคคลให้ใช้เลขทะเบียนนิติบุคคลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกให้ ส่วนกรณีอื่นๆ ให้ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (13 หลัก) ของกรมสรรพากร

​จากนั้นยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยเอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นมีดังนี้

1.คำขอ ภ.ธ.01
2.สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระบุชื่อ ที่อยู่ หรือหนังสือยินยอมให้ใช้อสังหาริมทรัพย์
3.หนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
4.ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (กรณีเป็นบุคคลต่างด้าว)
5.หนังสือการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ กองทุน มูลนิธิ หน่วยงานหรือกิจการของเอกชนที่มิใช่นิติบุคคล
6.หนังสือตั้งตัวแทนรับรองโดยสถานทูตหรือสถานกงสุล
7.เอกสารการดำเนินกิจการร่วมค้า (ถ้ามี)
8.แผนที่ตั้งสถานประกอบการ พร้อมภาพถ่าย
9.หนังสือมอบอำนาจ (ติดอากรแสตมป์) พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจ

และจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและอนุมัติต่อไป โดยเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร จนถึงแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายใน 27 วันทำการ

ธุรกิจที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะลักษณะใดขอคืนภาษีได้

ทั้งนี้ การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ผู้ประกอบการสามารถขอคืนภาษีในส่วนนี้ได้ หากเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดดังนี้

- ผู้ไม่มีหน้าที่เสียภาษีแต่ได้ชำระภาษีไว้
- ผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่เสียภาษี และได้ชำระภาษีไว้เกิน หรือผิด หรือชำระซ้ำไว้

โดยผู้ประกอบการที่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี และการยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีธุรกิจเฉพาะตามแบบ ค.10 จำเป็นต้องแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกับคำร้อง ได้แก่

- หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กรณีผู้ขอคืนเป็นนิติบุคคล
- ใบเสร็จรับเงินภาษีธุรกิจเฉพาะ และหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ขอคืน

สรุป

ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การธนาคาร หรือโรงรับจำนำ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยจะต้องยื่นแบบ ภ.ธ.01 ภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ และมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ธ.40 โดยยื่นแบบรายเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมีรายรับในเดือนนั้นหรือไม่ก็ตาม

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting