หนี้สาธารณะพุ่ง ฉุดตลาด ‘หุ้นกู้อินโดฯ’ ดิ่ง นักลงทุนเทขายหนักสุดในเอเชีย

หนี้สาธารณะพุ่ง ฉุดตลาด ‘หุ้นกู้อินโดฯ’ ดิ่ง นักลงทุนเทขายหนักสุดในเอเชีย

‘ตลาดตราสารหนี้อินโดนีเซีย’ เจอแรงเทขายหนักสุดในเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มรัฐวิสาหกิจ นักลงทุนกังวลหนี้ประเทศพุ่ง จากนโยบายเพิ่มหนี้ต่อจีดีพี 50% ขณะที่ตราสารหนี้กว่า 6 พันล้านดอลลาร์ ใกล้ครบกำหนดสิ้นปี 68

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ตลาดตราสารหนี้อินโดนีเซีย นำโดยหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ของบริษัท Perusahaan Listrik Negara (PLN) หรือบริษัทไฟฟ้าแห่งชาติอินโดนีเซีย เผชิญแรงเทขายหนักที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้ราคาตกลงอย่างมาก โดยสาเหตุหลักมาจากความกังวลต่อระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกำลังเป็นแรงกดดันไปทั่วตลาดตราสารหนี้ในอินโดนีเซีย ที่กำลังจะมีตราสารหนี้ครบกำหนดไถ่ถอนมากถึงราว 6 พันล้านดอลลาร์ ภายในสิ้นปี 2568 

ข้อมูลจากบลูมเบิร์กเผยให้เห็นว่าในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ในบรรดาตราสารหนี้สกุลดอลลาร์ของเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ที่มีราคาลดลงมากที่สุด 10 อันดับแรกนั้น เป็นของบริษัทไฟฟ้าแห่งชาติอินโดนีเซียไปถึง 6 ตัว นอกจากนี้ยังรวมถึงรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น PT Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติ และ PT Hutama Karya บริษัทรับเหมาก่อสร้างของรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรเหล่านี้พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับนโยบายการเงินของรัฐบาลอินโดนีเซีย

 

ความกังวลของนักลงทุนมีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีคนใหม่ “ปราโบโว ซูเบียนโต” ประกาศจะก่อหนี้เพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศตามสัญญา ด้วยการเพิ่มสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีขึ้นปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงห้าปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้หนี้สาธารณะอินโดนีเซียพุ่งไปเป็นเกือบ 50% ของจีดีพีประเทศ

ความกังวลต่อหนี้สาธารณะของอินโดนีเซียทำให้ส่วนต่างเฉลี่ยของหุ้นกู้เอกชน และตราสารขององค์กรกึ่งรัฐ (quasi-sovereign notes) ขยายวงกว้างขึ้น 6 จุดในเดือนมิถุนายน ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน 

 

ขณะเดียวกัน ค่าเงินรูเปียห์ ก็อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี ส่งผลให้บริษัทท้องถิ่นต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการชำระหนี้หุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์

ทั้งนี้ หุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ เป็นกลุ่มที่มีอันดับเครดิตสูงสุดเมื่อเทียบในตลาดหุ้นกู้ หากเครดิตสเปรดยิ่งกว้างจะส่งผลให้หุ้นกู้ที่มีอันดับเดรดิตรองลงมากต้องออกหุ้นกู้ใหม่ที่ยีลด์สูงขึ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งที่สุดแล้วจะส่งผลต่อต้นทุนการรีไฟแนนซ์หนี้เหล่านี้ โดยข้อมูลล่าสุดพบว่า มีหุ้นกู้สกุลดอลลาร์มูลค่ากว่า 6 พันล้านดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนภายในสิ้นปี 2568 ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์

“ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่ขยายกว้างขึ้น เกิดจากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการคลังที่กลับมาอีกครั้ง ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในสินทรัพย์เสี่ยงของอินโดนีเซีย” วินสัน ฟูน หัวหน้าฝ่ายวิจัยตราสารหนี้ประจำสิงคโปร์ของบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กล่าว

ทางด้าน ติง เม้ง นักกลยุทธ์สินเชื่ออาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียของธนาคาร ANZ  กล่าวว่า ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลง ย่อมส่งผลเสียต่อการชำระหนี้ที่เป็นเงินสกุลดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้ว “เครดิตสเปรดที่ตึงตัวอยู่ในขณะนี้ ทำให้มีผลต่อความผันผวนของยีลด์ และมุมมองความเสี่ยงของนักลงทุนเพียงเล็กน้อย 


 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์