ค่าเงินบาทวันนี้ 25 มิ.ย. 67 ‘แข็งค่า‘ รับแรงหนุนโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ

ค่าเงินบาทวันนี้ 25 มิ.ย. 67 ‘แข็งค่า‘ รับแรงหนุนโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ

ค่าเงินบาทวันนี้ 25 มิ.ย.67 เปิดตลาด “แข็งค่า“ ที่ 36.77 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคารีบาวด์ แต่ยังรอปัจจัยใหม่อาจพลิกอ่อนค่าได้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.75 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.61 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.69 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.75 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.60-36.70 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นบ้างจากโซนแนวรับ ส่วนเงินดอลลาร์ก็แกว่งตัว sideways หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

 ทั้งนี้ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงปลายเดือน ทำให้เงินบาทยังสามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์และบรรดาสกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) จากบรรดาผู้เล่นในตลาด อย่างฝั่งผู้นำเข้า 

ค่าเงินบาทวันนี้ 25 มิ.ย. 67 ‘แข็งค่า‘ รับแรงหนุนโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ

แนวโน้มค่าเงินบาท

แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า แม้เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ทว่าการแข็งค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากเงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเงินดอลลาร์ก็ยังไม่กลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ เพราะแม้ตลาดจะเชื่อว่า เฟดอาจสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ทว่าเงินดอลลาร์ก็ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลักอื่นๆ ตามปัจจัยเสี่ยงการเมืองและแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก (ECB, BOE และ BOJ)

นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน เงินบาทก็จะเริ่มเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์และบรรดาสกุลเงินต่างประเทศ จากฝั่งผู้นำเข้า ทำให้เรามองว่า เงินบาทก็อาจยังติดแถวโซนแนวรับ 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน 

ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นเข้าใกล้แนวต้านระยะสั้น ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ นอกจากนี้ บรรดานักลงทุนต่างชาติก็อาจชะลอแรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย หลังดัชนี SET เริ่มส่งสัญญาณการกลับตัวที่ดีขึ้น ทำให้หากบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจเริ่มกลับเข้าตลาดทุนไทยได้เช่นกัน 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมยังคงเคลื่อนไหวผสมผสาน หลังบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ต่างเผชิญแรงขายทำกำไรอย่างต่อเนื่อง อาทิ Nvidia -6.7% ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะหุ้นสไตล์ Value ที่ปีนี้ยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนัก เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร และกลุ่ม Healthcare เป็นต้น ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงกว่า -1.09% แต่ดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง -0.31%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.73% ท่ามกลางการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นฝรั่งเศส อาทิ BNP +3.3%, LVMH +1.3% ก่อนเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งรัฐสภารอบแรกของฝรั่งเศสในช่วงปลายสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มยานยนต์ หลังทางการยุโรปและทางการจีนเตรียมที่จะเจรจาเกี่ยวกับการกำหนดภาษีนำเข้า EV ของจีน อนึ่ง ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันจากการขายทำกำไรหุ้นกลุ่ม Semiconductor เช่นเดียวกับฝั่งสหรัฐฯ 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย สู่ระดับ 4.24% หลังผู้เล่นในตลาดทยอยเพิ่มโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้เป็น 90% (จาก CME FedWatch Tool) จากความหวังว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงนี้ อาจส่งสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่วนอัตราเงินเฟ้อ PCE ก็น่าจะชะลอลงต่อเนื่องได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ไปมากแล้ว ทำให้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด สวนทางกับที่ตลาดคาดหวัง ก็อาจทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนสูงขึ้นได้ไม่ยาก ทว่าเราคงคำแนะนำเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง” และจากผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Bloomberg ล่าสุด พบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2025 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมแกว่งตัว sideways ในกรอบ หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และปัจจัยการเมืองในฝั่งยุโรป ซึ่งในช่วงปลายเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนกรกฎาคม จะมีการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและอังกฤษ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 105.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.3-105.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดประเมินว่าเฟดมีโอกาส 90% ในการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นเข้าใกล้โซน 2,340-2,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไร ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ โดย Conference Board (Consumer Confidence) ในเดือนมิถุนายน พร้อมกับติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะข้างหน้า