ค่าเงินบาทวันนี้ 28 มิ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ จากดอลลาร์อ่อนค่า - ราคาทองคำรีบาวด์

ค่าเงินบาทวันนี้ 28 มิ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ จากดอลลาร์อ่อนค่า - ราคาทองคำรีบาวด์

ค่าเงินบาทวันนี้ 28 มิ.ย.67 เปิดตลาด "แข็งค่า" ที่ 36.83 บาทต่อดอลลาร์ "กรุงไทย" ชี้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้น ตลาดรอลุ้นเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ และดีเบตรอบแรกของผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันศุกร์นี้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.65 - 36.85 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.83 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.86 บาทต่อดอลลาร์ 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.75-36.90 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ  และประเมินกรอบเงินบาท 36.65-37.00 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ  

ค่าเงินบาทวันนี้ 28 มิ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ จากดอลลาร์อ่อนค่า - ราคาทองคำรีบาวด์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ sideways down (แกว่งตัวในช่วง 36.77-36.87 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยจังหวะการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นเกือบ +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่ได้แรงหนุนจากการย่อตัวลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ และเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นได้ต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ และการดีเบตรอบแรกของผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันศุกร์นี้ อีกทั้ง ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ทำให้อาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันกลับเข้ามากดดันเงินบาทได้บ้าง

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้ชะลอลงบ้าง จากอานิสงส์การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ส่วนเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways ไปก่อน เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐ ในช่วงคืนวันศุกร์นี้ (เวลาราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของตลาดการเงิน ในช่วงตลาดติดตาม การดีเบตรอบแรกระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ (เวลาประมาณ 08.00 น. – 09.30 น.)  แต่เราประเมินว่า ตลาดการเงินอาจให้น้ำหนักกับรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE มากที่สุด โดยหากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่องตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด อาจช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ อาจย่อตัวลงบ้าง ส่งผลให้ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ ส่วนเงินบาทก็อาจแข็งค่าทดสอบแนวรับระยะสั้นแถว 36.60-36.70 บาทต่อดอลลาร์ได้ 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่างมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือ เช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ตลาดหุ้นสหรัฐ ยังอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว และผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ และการดีเบตรอบแรกระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันศุกร์นี้ อย่างไรก็ดี การย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ปรับตัวขึ้นบ้าง อาทิ Amazon +2.2%, Meta +1.3% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq +0.3% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.09%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.43% กดดันโดยแรงขายบรรดาหุ้นฝรั่งเศส อาทิ LVMH -1.6% ตามการลดความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดก่อนเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งรอบแรกของฝรั่งเศส ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ เช่นเดียวกับฝั่งสหรัฐ อาทิ ASML +1.4% ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานก็ปรับตัวขึ้นเช่นกันตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 4.29% หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ล่าสุดก็ออกมาผสมผสาน โดยแม้ว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกจะอยู่ที่ +1.4% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าคาดเล็กน้อย ทว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการ การว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ยังคงปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.839 ล้านราย แย่กว่าคาดเล็กน้อย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็คาดหวังว่า รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ ในวันศุกร์ จะสะท้อนภาพการชะลอลงเพิ่มเติมของอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ สอดคล้องกับคำแนะนำของเราที่ ย้ำว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง” 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ออกมาผสมผสาน ทว่าเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่กลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนเข้าใกล้ระดับ 160.8 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถว 105.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.7-106 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงขึ้น ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2,330-2,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐ ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังที่จะเห็นการชะลอลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในภาคการบริการที่ไม่รวมราคาที่พักอาศัย (Core Services ex. Housing) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด รวมถึง รอจับตาการดีเบตรอบแรกระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ (Joe Biden vs Donald Trump) 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว (Inflation Expectations) ที่สำรวจโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ ECB อาจใช้พิจารณานโยบายการเงิน 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์