เอชเอสบีซี มอง ‘ตราสารหนี้-หุ้นคุณภาพ’ เป็นโอกาสการลงทุน ครึ่งปีหลัง

เอชเอสบีซี มอง ‘ตราสารหนี้-หุ้นคุณภาพ’ เป็นโอกาสการลงทุน ครึ่งปีหลัง

เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้ง มองตราสารหนี้และหุ้นคุณภาพเป็นโอกาสการลงทุนครึ่งปีหลังปี 2567 จาก 3 ปัจจัยบวก “เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น - ผลกำไรของภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น – การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง”

นางฟาน ชุค วาน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนประจำภูมิภาคเอเชีย  เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้งแอนด์เวลธ์ เผย "ธนาคารฯ มีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้

และยังคงเน้นการลงทุนด้วยการลดสัดส่วนเงินสดไปเพิ่มการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลกเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเราเชื่อว่าปัจจุบันได้ผ่านจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้และจุดต่ำสุดของภาวะเศรษฐกิจโลกมาแล้ว

ซึ่งหมายความว่าผลการดำเนินงานของพอร์ตการลงทุนต่อไปจะขับเคลื่อนด้วยสองปัจจัยหลัก ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่สูงดึงดูดนักลงทุนและการเติบโตของกำไรที่เพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจ"

"ทั้งนี้ โอกาสเติบโตของกำไรของภาคธุรกิจได้รับแรงหนุนจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้นและแรงกดดันด้านต้นทุนที่เริ่มคลี่คลาย โดยอุปสงค์ภายในประเทศของสหรัฐฯ ยังมีความแข็งแกร่ง ในขณะที่เศรษฐกิจในยุโรป และสหราชอาณาจักรก็เริ่มฟื้นตัว 

ซึ่งเราคาดการณ์ว่าในปีนี้การเติบโตของจีดีพีโลกและสหรัฐฯ จะยังคงเติบโตได้อย่างมั่นคงที่ร้อยละ 2.6 และ 2.4 ตามลำดับ นอกจากนั้น มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ล่าสุดของจีนจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ในปีนี้

ส่วนเศรษฐกิจอินเดียจะยังคงเติบโตสูงกว่าคาดการณ์ในหลายด้าน ซึ่งสอดคล้องกับที่เราเคยประเมินเอาไว้ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตที่ร้อยละ 7.3 ด้านตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวได้ภายใต้แรงผลักดันจากหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้เรากำลังขยายภาพการลงทุนไปยังภูมิภาคและอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้นในพอร์ตการลงทุนหุ้นทั่วโลกของเรา เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนและค้นหาหุ้นที่น่าสนใจในราคาที่สมเหตุสมผล" นางฟาน กล่าวเสริม

4 กลยุทธ์การลงทุนสำหรับครึ่งหลังของปี 2567

นางฟานไฮไลท์  4 กลยุทธ์การลงทุนครึ่งปีหลัง ได้แก่ 

1. ขยายการลงทุนในหุ้นให้ครอบคลุมหลากหลายภูมิภาคและอุตสาหกรรม จากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอันส่งผลต่อการเติบโตของกำไรของบริษัทต่างๆ ในหลายภูมิภาคและหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น 

2. นำเงินสดไปลงทุนในตราสารหนี้และใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบผสมผสานในสินทรัพย์หลายประเภท อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในขณะนี้อยู่ใกล้ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี การจัดสรรเงินลงทุนในตราสารหนี้และกลยุทธ์การลงทุนแบบผสมผสานในสินทรัพย์หลายประเภทสามารถช่วยสร้างกระแสรายได้ที่มั่นคง ควบคู่ไปกับการกระจายความเสี่ยงของพอร์ต 

3. ลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดและโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด (Private assets) มอบผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดหลักทรัพย์เมื่อเทียบในระยะยาว

4. ปลดล็อกสู่โอกาสที่ดีที่สุดในเอเชีย เอเชียยังคงเป็นกลไกการเติบโตที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจโลก โดยคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตของจีดีพีร้อยละ 4.7 และอัตราการเติบโตของผลตอบแทนร้อยละ 23 ในปี 2567 ซึ่งสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยให้น้ำหนักการลงทุนกับหุ้นญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ซึ่งเรามองเห็นโอกาสดีที่สุดในการเข้าถึงธีมการเติบโตเชิงโครงสร้างของเอเชีย และมีมุมมองที่เป็นกลางต่อหุ้นฮ่องกงและจีน

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย

นายเจมส์ เชียว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย       เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้งแอนด์เวลธ์ เผย เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงร้อยละ 1.5 ในไตรมาส 1 ของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566  

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง และการลงทุนในประเทศไทยก็ยังทรงตัว สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี มาตรการทางการคลังอาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แม้จะยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับงบประมาณและกรอบระยะเวลาของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐก็ตาม ส่วนการกลับมาของนักท่องเที่ยวเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงไฮซีซั่นในระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2567 และพฤศจิกายน –ธันวาคม 2567

“แม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในช่วงหลังของปี 2567 แต่เรายังคงรักษาจุดยืนต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยว่าต้องใช้ความระมัดระวังโดยพิจารณาจากการประเมินศักยภาพในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมหภาค ในขณะที่มองว่ามีโอกาสที่น่าสนใจมากกว่าในตลาดหุ้นอื่นๆ ของเอเชีย นอกจากนั้นเรายังมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน โดยคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 2.5 ต่อไป " นายเจมส์กล่าว

4 ธีมการลงทุน เพื่อคว้าโอกาสทองสร้างการเติบโตและรายได้ในเอเชีย

1. เอเชียครองแชมป์การปฏิรูปบรรษัทภิบาล รัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลในเอเชียต่างกำลังเร่งปฏิรูปองค์กรธุรกิจเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับนักลงทุนและยกระดับมูลค่าตลาดหุ้นให้ทัดเทียมตลาดโลก โดยเราเชื่อว่าบริษัทในญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้จะได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปการกำกับดูแลกิจการนี้ เนื่องจากบริษัทในประเทศเหล่านี้มีเงินสดสำรองจำนวนมาก มีหนี้สินต่ำ และมีความสามารถทางการเงินในการเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นผ่านเงินปันผล การซื้อหุ้นคืน และกลยุทธ์ในการเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท

2. การปรับโฉมห่วงโซ่อุปทานของเอเชีย กลุ่มผู้นำการผลิตระดับไฮเอนด์ของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน จะได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานอย่างรวดเร็วในเอเชีย เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ของโลก 

ส่วนในกลุ่มอาเซียนนั้น สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามกำลังมีความแข็งแกร่งมากขึ้นในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จากการเป็นตลาดใหม่ขนาดใหญ่และฐานการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะสำหรับบริษัทจีนที่เติบโตได้ช้าลงในประเทศและต้องการขยายธุรกิจในอาเซียนด้วยกลยุทธ์ China+1

3. การเติบโตของอินเดียและอาเซียน ธีมการลงทุนนี้มาจากการเล็งเห็นโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียและอาเซียนจากปัจจัยบวก ได้แก่ จำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของชนชั้นกลาง การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว

4. คว้าผลตอบแทนการลงทุนในเอเชียจากตลาดอัตราดอกเบี้ยสูง เรามุ่งเน้นหาผลตอบแทนระดับสูงจากการลงทุนตราสารหนี้ภูมิภาคเอเชียในกลุ่มที่มีอันดับเครดิตน่าลงทุน (IG)โดยเฉพาะในกลุ่มอายุคงเหลือ 5-7 ปี เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการที่อัตราเงินเฟ้อกำลังลดลงอย่างต่อเนื่องและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ดูเหมือนจะเริ่มในเดือนกันยายน 

ทั้งนี้ เราคาดว่าธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียหลายแห่งจะเริ่มทยอยลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ดังนั้น เราจึงมุ่งเป้าการลงทุนไปที่ภาคการเงินของญี่ปุ่นและเกาหลีและตราสารหนี้ระดับการลงทุนของบริษัทเอกชน ตลอดจนตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นของอินเดีย รวมถึงลงทุนในตราสารหนี้ Quasi-Sovereign ระดับ IG ของอินโดนีเซีย และตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบันเทิงในมาเก๊า รวมทั้งกลุ่มเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมในประเทศจีน