ราคารถดิ่งต่อเนื่อง สะท้อนกำลังซื้อทรุด ระดับฐานรากอ่อนแอ

ราคารถดิ่งต่อเนื่อง สะท้อนกำลังซื้อทรุด ระดับฐานรากอ่อนแอ

ราคารถยนต์ดิ่งต่อเนื่อง “นักเศรษฐศาสตร์” ชี้สะท้อนกำลังซื้อระดับกลาง-ล่างอ่อนแอ หวั่นลามกระทบการบริโภค การจ้างงาน การผลิตวูบห่วงราคารถร่วง กระทบผู้บริโภคตัดสินใจทิ้งรถ มองผ่อนต่อไม่คุ้ม “ทีทีบี”ชี้ตลาดรถยนต์ตกต่ำรอบ 15ปี

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สถานการณ์ราคารถยนต์ที่ลดลงเป็นปัจจัยที่น่าห่วง แม้จะเป็นเพียงสงครามด้านราคา แต่อีกด้านสะท้อนกำลังซื้อคนในประเทศที่อ่อนแอมากขึ้น เพราะภาคอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และเป็นปัจจัยที่ 4-5 

ดังนั้นราคารถที่ลดลงไม่เพียงเฉพาะการแข่งขันด้านราคาเท่านั้น แต่สะท้อนถึงกำลังซื้อระดับล่างและระดับกลางของระบบของระบบเศรษฐกิจที่กำลังซื้ออ่อนแอลงอย่างมาก ทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์ต่างๆลดลง

โดยเฉพาะกระบะที่ลดลงอย่างมาก ที่สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของภาคเกษตรอย่างมาก ที่ถือเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ เพราะจากปัญหากำลังซื้อ ที่ลดลงอาจลามกระทบต่อการบริโภค การจ้างงาน กำลังการผลิตในระยะข้างหน้าให้ลดลงด้วย สุดท้ายอาจลามกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้มีความเสี่ยงมากขึ้น

“ตลาดรถยนต์ถือเป็นตลาดที่สำคัญที่อาจกระทบเป็นห่วงโซ่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่ต้องระวัง คือสงครามราคา ที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่อง ที่อาจกระทบต่อรถมือสองต่างปรับลดลงได้ 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องระวัง จากราคารถที่ปรับลดลง คือพฤติกรรมการทิ้งรถ ระหว่างการผ่อนชำระ เพราะมองว่าการไม่คุ้มค่าในการผ่อนต่อไป ดังนั้นอาจปล่อยให้รถถูกยึดมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่น่าห่วง และไม่อยากให้เกิดขึ้น

“สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ ปัญหาสินทรัพย์ ภายใต้ราคารถยนต์ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ที่อาจทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ปล่อยให้รถยึด เพราะมองว่า หากผ่อนไปสักระยะ เมื่อจนราคาที่ได้อาจไม่คุ้มกับราคารถในปัจจุบัน ทั้งไม่คุ้มต่อการขายต่อต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เห็นภาพนี้ เพราะอาจกระทบต่อผู้กู้ในการก่อหนี้ใหม่ในระยะข้างหน้าได้ ที่อาจเจอปัญหาตามมาได้”

ยอดขายรถปีนี้ตกต่ำสุดรอบ15ปี

ล่าสุดศูนย์วิจัย ttb analytics ประเมินภาพอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยปี 2567 ว่า จากยอดขายรถยนต์ 5 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวอย่างหนักถึง 23.8% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อาจทำให้แนวโน้มยอดขายรถยนต์ทั้งปี 2567 จะหดตัวรุนแรงสุดในรอบ 15 ปี 

ttb analytics มองว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศอาจไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับก่อนการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562 ได้ในเวลาอันใกล้ จากการชะลอตัวของภาคอุปสงค์ในระยะยาวเนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 

ตลาดรถยนต์ในประเทศอิ่มตัวจากจำนวนรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนสะสมทั่วประเทศปัจจุบันสูงเกือบ 20 ล้านคัน หรือคิดเป็น 277 คันต่อประชากรไทย 1,000 คน ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเวียดนาม 50 คัน ฟิลิปปินส์ 38 คัน และอินโดนีเซีย 78 คันต่อประชากร 1,000 คน

ประกอบกับพฤติกรรมการใช้งานรถยนต์ของคนไทยที่ค่อนข้างนานเฉลี่ยถึง 12 ปี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยประเทศหลักที่ใช้งานรถยนต์ประมาณ 6-8 ปี จึงทำให้โอกาสที่จะซื้อรถยนต์ใหม่เพื่อหมุนเวียนรถเก่าค่อนข้างต่ำ

อีกทั้ง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยนับตั้งแต่การบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของแบรนด์ผู้ผลิตจีน ทำให้มาตรฐานการตั้งราคารถใหม่ในท้องตลาดมีแนวโน้มลดลงจากเดิม ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน 

ขณะที่บางส่วนชะลอการซื้อรถยนต์ออกไปจนกว่าจะเจอราคาที่เหมาะสมกับกำลังซื้อ รวมไปถึงทัศนคติต่อการซื้อรถยนต์ของคนยุคใหม่ที่หันมาใช้การเช่าแทนการซื้อครอบครอง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตและลดภาระค่าใช้จ่ายที่จะตามมา ทำให้การซื้อรถยนต์ในยุคสมัยนี้อาจน้อยกว่าในอดีต

หวั่นคุณภาพหนี้รถยนต์ด้อยลง

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนสูง ถือเป็นข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากระดับหนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันสูงถึง 91.3% ของจีดีพี ซึ่งสูงเกินกว่าระดับที่เหมาะสมที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 80% ของจีดีพี และสูงกว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกัน ท่ามกลางความพยายามแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ จึงทำให้สถาบันการเงินมีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อแก่รายย่อยมากขึ้น

สะท้อนจากการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อของสถาบันการเงินหดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ไตรมาสในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินจะมีแนวโน้มผ่อนคลายลงบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อ แต่คาดว่าความกังวลเกี่ยวกับการเสื่อมค่าของมูลค่าสินทรัพย์ (รถยนต์) ในอนาคตแนวโน้มการด้อยลงของคุณภาพหนี้ 

รวมถึงเงื่อนไขสัญญากู้และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค จึงทำให้สถาบันการเงินยังคงมีความรัดกุมในการพิจารณาสัญญาสินเชื่อเช่าซื้อต่อไป