“ประเมินเรื่องเด่นในครึ่งปีหลังของ 2024”
การประเมินในยุคที่ภูมิรัฐศาสตร์ร้อนแรงนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก สหรัฐวุ่นวาย แต่จะลงตัวในที่สุด พรรคเดโมแครตจะมีชัยชนะ ทรัมป์จะแพ้การเลือกตั้ง แต่จะไม่ยอมรับ จีนมีวิกฤติอันตรายต้องแก้ไขด่วน แต่จะมีทางออกผล และอาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรัสเซีย
หากเรามองย้อนหลังกลับไปถึงต้นปี อาจเห็นหลายอย่างเกิดขึ้นใกล้เคียงหรือแตกต่างกับที่เราประเมินไว้ การประเมินในยุคที่ภูมิรัฐศาสตร์ร้อนแรงนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก แต่ท่านผู้อ่านหลายท่านได้แสดงความสนใจในประเด็นต่อไปนี้เป็นพิเศษ ผมจึงขอแบ่งปันวิสัยทัศน์โดยสังเขป แล้วเราค่อยมาสนทนากันอีกครั้งตอนสิ้นปีว่า สิ่งต่อไปนี้จะออกมาตามที่บันทึกไว้ ณ วันนี้หรือไม่ครับ
1) สหรัฐวุ่นวาย แต่จะลงตัวในที่สุด
เหลือเวลาน้อยกว่าสี่เดือนจะรู้ผลการเลือกตั้งครั้งใหญ่(5 พ.ย.)ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี และพรรคการเมืองใดจะได้คุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา (ชิง 34 ที่นั่ง) สภาผู้แทนราษฎร (ชิง 435 ที่นั่ง) และผู้ว่าการ 13 รัฐ
ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นสิ่งที่โลกจับตามอง เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจและความมั่นคงเป็นวงกว้าง
พรรคเดโมแครตจะมีชัยชนะ (แม้ตัวแทนที่เข้าชิงอาจจะไม่ใช่ประธานาธิบดีไบเดนซึ่งขณะนี้มีกระแสกดดันภายในพรรคให้วางมือ) คะแนนเสียงของสตรีและผู้ที่เป็นอิสระไม่สังกัดพรรคการเมือง (independent voters) รวมทั้งชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย (AAPI) ในรัฐสีม่วง (swing states) จะเป็นตัวตัดสินผลการเลือกตั้งที่ออกมาสูสีมาก
ทรัมป์จะแพ้การเลือกตั้ง แต่จะไม่ยอมรับผล
จะสร้างความวุ่นวายระยะหนึ่ง แต่ปัญหาทางกฎหมายและการเงินที่รุมเร้าจะทำให้ความศรัทธาลดลง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้พรรครีพับลิกันยึดอำนาจภายในพรรคกลับมาคืน และใช้โอกาสนี้ปฏิรูปโครงสร้างภายในของพรรค
(การหยั่งเสียงปัจจุบันทรัมป์มีคะแนนนำ 9% แต่จะมีประเด็นสำคัญเข้ามาแทรกและทำให้แพ้)
เศรษฐกิจของสหรัฐโดยทั่วไปจะมั่นคงเช่นเดียวกับต้นปี
การลงทุนเพิ่มขึ้นมากทางทหารและฐานผลิตสินค้าภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาจีน ดอกเบี้ยจะถูกปรับลงอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
เทคโนโลยี AI จะแทรกซึมทุกด้านทั้งบวกและลบ หุ้นของบริษัทเกี่ยวข้องกับAIจะบูมต่อไป แต่AIอาจสร้างปัญหาเช่นถูกนำมาใช้แทรกแซงการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นต้น
สหรัฐยังเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจการเมืองและความมั่นคงของโลก
และความสัมพันธ์กับพันธมิตรในยุโรปและในเอเชียตะวันออก(ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้) รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะเข้มแข็งขึ้น
ตัวแปรสำคัญคืออินเดียและอาเซียนบางประเทศ
เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซียที่อาจจะเพิ่มความสัมพันธ์ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์กับสหรัฐ บทบาทของสหรัฐที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาจะชัดเจนมากขึ้น และจะมีการใช้วิธีรุกผ่านองค์กรต่างๆ เช่น สหประชาชาติและสถาบันการเงินหลัก สิงคโปร์และไทยจะถูกโยงไป
เกี่ยวข้องกับเรื่องเมียนมาบ่อยครั้ง
2) จีนมีวิกฤติอันตรายต้องแก้ไขด่วน แต่จะมีทางออก
จะเห็นนโยบายสำคัญถูกประกาศในเดือนกรกฎาคมและถูกนำมาใช้แก้ปัญหาใหญ่สามเรื่อง คือ การว่างงานของคนวัยหนุ่มสาว หนี้สาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่น และปัญหาสินค้าส่วนเกินที่จำเป็นต้องส่งออก
หนุ่มสาวจีนจะใช้พลังเงียบต่อรองการเมืองทำให้นโยบายของรัฐเปลี่ยนทิศทาง
ความเข้มงวดที่เคยใช้ในอดีต เช่น ควบคุมเทคโนโลยีเทคโนโลยีสื่อสาร เซ็นเซอร์ข้อมูล หรือปิดกั้นการประท้วงต่างๆจะเปลี่ยนไปเป็นจิตวิทยามวลชนแบบนุ่มนวลเสถียรภาพของผู้นำจีนและกลุ่มผู้บริหารใกล้ชิดไม่อยู่ในภาวะอันตราย
การทูตแบบตอบโต้รุนแรง (wolf warrior diplomacy) จะเปลี่ยนเป็นการใช้ศิลปะต่อรอง อาจเห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียจะเปราะบางเพิ่มขึ้น ความขัดแย้งเรื่องไต้หวันกับทะเลจีนใต้จะอยู่ในวงจำกัด
คนหนุ่มสาวในจีนจะมีโอกาสทำงานเพื่อส่วนรวมทั้งเป็นอาสาสมัครและงานสร้างสรรค์มากขึ้น
และอาจมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเปิดทางช่วยเหลือให้คนหนุ่มสาวซื้ออสังหาริมทรัพย์และมีครอบครัวซึ่งเป็นผลดีต่อปัญหาประชากรสูงวัยและจำนวนประชากรลดลง
รัฐบาลท้องถิ่นของจีนจะดิ้นรนออกมาต่างประเทศ
เช่น ในอาเซียนรวมทั้งไทยเพื่อเซ็นสัญญาต่างๆเพิ่มความสะดวกและความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น เพื่อหาทางสร้างรายได้เพื่อไปชำระหนี้ของตนเอง จะเห็นข้าราชการในระดับท้องถิ่นหรือรัฐวิสาหกิจนำเอกชนออกมาหลายกลุ่มต่างกรรมต่างวาระกัน คล้ายกับการแข่งขันโดยที่ไม่ได้มีการประสานงานกันจากปักกิ่ง แต่เป็นการเอาตัวรอดของแต่ละจังหวัดหรือแต่ละอุตสาหกรรมเป็นต้น
ในระยะสั้นจะเห็นบรรยากาศคึกคักแต่อาจมีปัญหาระยะยาว
เนื่องจากจีนมีความพร้อมแทบทุกด้านและได้เปรียบในการค้ากับประเทศที่ขาดความพร้อม จึงอาจเกิดกระแสต่อต้าน และทำให้จีนต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เพื่อรักษาความยั่งยืนของสัมพันธไมตรีและอิทธิพลในภูมิภาค
3) อาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรัสเซีย
การที่ธนาคารโลกแถลงถึงระดับรายได้ของชาวรัสเซียสูงขึ้นและจีดีพีเติบโตมากแม้ถูกคว่ำบาตรโดยตะวันตก อาจทำให้ดูเหมือนเศรษฐกิจของรัสเซียมีความมั่นคง แต่เมื่อพิจารณารายงานโดยละเอียด จะเห็นว่า “เศรษฐกิจของรัสเซียพึ่งพาการลงทุนทางการทหารและการก่อสร้าง รวมทั้งสถาบันการเงินซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำสงครามในยูเครน” ดังนั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงขาดโครงสร้างของเศรษฐกิจแบบยั่งยืน
การเปลี่ยนบุคลากรระดับสูงเพื่อเตรียมประเทศเป็นเศรษฐกิจระหว่างสงครามให้มีความพร้อมในระยะยาวแสดงถึงความมุ่งมั่นของผู้นำที่จะทำต่อไปจนกว่าจะได้ชัยชนะ ขณะเดียวกันยูเครนอยู่ในภาวะที่ยอมแพ้ไม่ได้ เนื่องจากการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาและสมาชิกนาโตอื่นๆซึ่งเชื่อว่ารัสเซียจะไม่หยุดที่ยูเครน เพราะมีเป้าหมายจะขยายอิทธิพลกลับไปสู่ยุคสหภาพโซเวียต
ยูเครนมีความพร้อมมากขึ้นจากการช่วยเหลือโดยพันธมิตรตะวันตก (หลังจากที่ขาดแคลนไปเป็นเวลาเกือบแปดเดือน) การใช้ฝูงบิน F-16 และอาวุธทันสมัยป้องกันทางอากาศที่มีประสิทธิภาพของยูเครนจะกดดันให้รัสเซียต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธี และความเสียหายจากสงครามจะเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างเห็นได้ชัด
จีน อิหร่านและเกาหลีเหนือสนับสนุนยุทธภัณฑ์ต่างๆต่อรัสเซียทำให้สงครามยืดเยื้ออยู่ในระดับปัจจุบัน จึงคาดว่าจะมีการแทรกแซงทางการเมืองและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศเหล่านี้โดยสหรัฐและพันธมิตรทางตะวันตกเพื่อกดดันกลุ่มนี้มากขึ้น และจะทำให้รัสเซียจำเป็นต้องเสนอหยุดยิงและหาทางออกถาวร
อินเดียที่ซื้อน้ำมันจากรัสเซียในราคาถูกเป็นตัวอย่างของประเทศที่อาจจะถูกกดดันด้วย อาจเห็นบทบาทของอินเดียลดลงในองค์กร BRICS ซึ่งปีนี้รัสเซียเป็นเจ้าภาพ(และอินเดียจะเดินเกมการทูตแบบกระจายความเสี่ยงคือจับมือกับหลายฝ่ายพร้อมกัน โดยรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐและยุโรปเป็นอันดับหนึ่ง)
อาจเห็นการโจมตีโดยไซเบอร์ระหว่างรัสเซียกับศัตรูเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น อนาคตของประธานาธิบดีปูตินอยู่ในภาวะเสี่ยงมากในครึ่งปีหลังนี้ และอันตรายอาจมาจากกลุ่มคนใกล้ชิดที่ไม่สามารถทนการคว่ำบาตรจากทางตะวันตกได้อีกต่อไป
นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้วยังมีอีกหลายอย่างที่ผมจะหาโอกาสมาประเมินในครั้งหน้า เช่น ความขัดแย้งและทางออกของตะวันออกกลาง ปัญหาเงินเฟ้อและราคาพลังงานของโลก สิ่งแวดล้อมและโลกร้อน ไข้หวัดนก ความเสี่ยงของสงครามโลกครั้งที่สามหรือการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองและความมั่นคงของไทยครับ