กำกับ-ส่งเสริมอุตสาหกรรม Digital Assets อย่างไรในยุคซบเซา

กำกับ-ส่งเสริมอุตสาหกรรม Digital Assets อย่างไรในยุคซบเซา

ตลาดทุนไทยกำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน ระยะประชิดมีปัญหากำไรเอกชนหดตัว หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ สินเชื่อธนาคารเริ่มซบเซา บริษัทน้อยใหญ่ยังไม่หยุดปลดพนักงาน รายได้ครัวเรือนหดหายแต่หนี้นอกระบบกลับสะพัด

 ระยะยาวยังมีปัญหาขาดแคลนทักษะและเริ่มขาดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงวิกฤตศรัทธาในกฎกติกายังไม่ถูกคลี่คลาย

ทั้งหมดนี้ผิดกับความคึกคักที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดโลกโดยเฉพาะความตื่นเต้นต่อก้าวถัดไปของตลาดทุน ‘ร่างใหม่’ ที่ได้สัญญาณจากการอนุมัติ Bitcoin ETF และความคืบหน้าของภาคเอกชนในการพยายาม institutionalize คริปโตเคอร์เรนซีระดับโลกชนิดอื่นๆ ที่เป็นรากฐานของอุตสาหกรรม Web3 อย่าง Ethereum และ Solana รวมถึงการมาของ Tokenized Real World Assets (RWA)

ลมกำลังเปลี่ยนทิศและหลายฝ่ายได้ให้ความหวังไว้มากกับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Digital Assets เนื่องด้วยสรรพคุณในการเพิ่มประสิทธิภาพในการระดมทุนและการให้บริการ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และความน่าตื่นเต้นที่สามารถดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ติดหนึ่งในสิบฐานลูกค้านักลงทุนรายย่อย Digital Assets ของโลก

ทว่าอุตสาหกรรม Digital Assets มิใช่ยาวิเศษและเคยเป็นบ่อเกิดของความเสียหาย อันมาจากความหละหลวมในการจัดการกับความเสี่ยงและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้เล่น และด้วยความผันผวนของสินทรัพย์เหล่านี้ รวมถึงในปีนี้

สถาบัน ThailandFuture พบจากแบบสอบถามว่ากว่า 35% ลงทุนด้วยเงินที่ ‘ยืมมา’ ไม่ว่าจะจากแพลตฟอร์มการซื้อขายหรือญาติสนิทมิตรสหายรอบตัว ทำให้การส่งเสริมและกำกับดูแลอุตสาหกรรม Digital Assets ยิ่งต้องชัดในจุดหมายและโฟกัสโดยเฉพาะในช่วงเวลาคับขันทางการเงินและความเชื่อมั่นของประชากรไทย

จากการกลั่นกรองความเห็นของผู้ประกอบการ ข้อมูลในอุตสาหกรรม และความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมงานสัมมนา “แนวทางการพัฒนานโยบายสินทรัพย์ดิจิทัล” เมื่อวันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ผู้เขียนขอเสนอหลักคิด 3 ประการเพื่อการเดินหน้าอย่างสมดุล ดังนี้

1. เป้าหมายหลักต้องเป็นการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่สร้างกำไร

หากมองว่า Digital Assets เป็นคาบหนึ่งของตลาดทุนในอนาคต การส่งเสริมและกำกับต้องตั้งเป้าให้เกิดสภาพแวดล้อมเชิงนโยบายที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจให้เกิดโอกาสในการทำกำไรเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะในฝั่งอุปสงค์หรืออุปทาน 

หลักคิดของสิงคโปร์ล่าสุดต่อเทคโนโลยี AI ถือเป็นตัวอย่างที่ดี สิงคโปร์สื่อเป้าหมายสำคัญได้ชัดว่า “สิงคโปร์จะไม่มีวันตกรถ” แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เพิกเฉยต่อความเสี่ยงที่ตามมากับการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวในวงกว้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและชีวิตมากกว่าเทคโนโลยีบลอกเชนหรือการซื้อขาย Digital Assets ด้วยซ้ำ

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการสนับสนุน พัฒนา และเลือกใช้นวัตกรรม Digital Assets ไม่น้อย แต่ที่ยังขาดคือผลลัพธ์ที่มีความหลากหลายและแหลมคมของผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์และสร้างประโยชน์ให้กับทั้งฝั่งระดมทุนและนักลงทุนอย่างเป็นวงกว้าง

2. ส่งเสริมวัฒนธรรมในการปกป้องลูกค้าและเปลี่ยนจากให้ความรู้ไปสู่การให้ข้อมูล

ในโลกเศรษฐกิจดิจิทัลอันแสนซับซ้อน ไม่มีอะไรที่สามารถกำกับดูแลได้ครบจริงทุกจุด และไม่มีใครสามารถแบกรับความรับผิดชอบได้ทั้งหมด หลักการสำคัญคือการสร้างและดูแล ‘conduct culture’ ให้เกิด เพื่อกระจายภาระหน้าที่ในการปกป้องนักลงทุนให้ไปสู่วัฒนธรรมในการประกอบธุรกิจและดูแลลูกค้า ให้กลายเป็นจุดขายให้ได้

การให้ความรู้นักลงทุน ควรเป็นความรับผิดชอบพื้นฐานของผู้ประกอบการในตลาด และให้ลูกค้าเป็นผู้ตัดสินใจว่าความรู้และกลไกปกป้องนักลงทุนที่ผู้ประกอบการแต่ละรายมอบให้มีคุณค่าเพียงใด เพราะนักลงทุนทุกคนที่ประสบความสำเร็จพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าความรู้และทักษะในการลงทุนมีเพียงตลาดเท่านั้นที่เป็นครูได้จริง

สิ่งที่ผู้กำกับดูแลควรโฟกัสคือ การร่างและบังคับใช้กฎกติกาอย่างมีประสิทธิภาพ และเริ่มเล่นบทบาทในการเป็นผู้ให้ข้อมูลมากกว่าการเป็นผู้ให้ความรู้หรือผู้ปกป้องโดยตรง เพื่อให้เกิดมาตรฐานของการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง ทันเวลา ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และง่ายต่อการร่วมตรวจสอบ 

อีกทั้งควรมีการแยก taxonomy ของความเสี่ยงและผู้รับผิดชอบให้ชัดเจนที่สุดต่อผู้เล่นทั้งหมด เพื่อความชัดเจนในการเอาผิดและลดความเสียหายเมื่อเกิดปัญหา

กำกับ-ส่งเสริมอุตสาหกรรม Digital Assets อย่างไรในยุคซบเซา

3. ใช้ RegTech ในการกำกับดูแลแบบจริงจังและเปิดเผย

ภาครัฐและองค์กรกำกับดูแลเป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด จากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน  นอกจากการยกระดับระบบข้อมูลในตลาดทุน Digital Assets แล้ว เทคโนโลยี AI ยังสามารถนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน หรือการเฝ้าระวังและตรวจจับความผิดปกติได้เพื่อเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่อีกด้วย

ที่สำคัญที่สุดคือควรมีการวัดและชี้แจงผลจากการทดลองใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการกำกับดูแล เพื่อทำให้อุตสาหกรรมสามารถรักษากฎกติกาได้ในระดับที่น่าพอใจ แม้ว่าในอนาคตจะมีจำนวนหรือลักษณะของสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ มากเพียงใด รวมถึงการชี้แจงต่อภายนอกยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของผู้กำกับดูแลอีกด้วย

ทั้ง 3 หลักคิดจำเป็นต้องพึ่งพาความร่วมมือที่แนบแน่นระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการและผู้ลงทุน  Digital Assets มีพลวัตสูง การจะส่งเสริมและกำกับดูแลได้ทันท่วงทีนั้น จำเป็นต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้อย่างสม่ำเสมอ การเวียนย้ายบุคลากรมีความจำเป็นเพื่อลดช่องว่างความเข้าใจให้สามารถร่วมกันวางกฎระเบียบและแนวปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์สุงสุดต่อทุกฝ่าย

ข้อคิดดังกล่าวพูดง่าย ทำยาก แต่หากละเลยเป็นเวลาเนิ่นนานก็จะประสบกับความท้าทายเช่นเดียวกับที่เราได้เห็นในตลาดทุนหลัก เนื่องจากตลาดทุนไทยไม่สามารถแยกออกจากพลวัตรโลกได้และโลกก็มีแนวโน้มจะสร้างโอกาสและความท้าทายที่ไม่รอเรา.

กำกับ-ส่งเสริมอุตสาหกรรม Digital Assets อย่างไรในยุคซบเซา