ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ส.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ ตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐชะลอ

ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ส.ค.67  ‘อ่อนค่า‘ ตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐชะลอ

ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ส.ค.67 เปิดตลาด “อ่อนค่า“ ที่ 35.09 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ดอลลาร์พลิกแข็งค่า ตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำจังหวะย่อตัว พร้อมลุ้นผลโหวตนายกฯ มองกรอบเงินบาทวัน 34.95-35.20 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.09 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.97 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.20 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นแถวโซน 34.90 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในช่วง 34.91-35.21 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ล้วนออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก และยิ่งลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ลง โดยล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดคาดว่า เฟดมีโอกาส 75% ที่จะลดดอกเบี้ยลง -25bps ในการประชุมเดือนกันยายน นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวลงกว่า -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด 

ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ส.ค.67  ‘อ่อนค่า‘ ตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐชะลอ

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทจะผันผวนอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และจังหวะปรับตัวลดลงของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา แต่ทว่า ในเชิงเทคนิคัลนั้น เราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทได้เข้าสู่ช่วงผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.15-35.20 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน ซึ่งภาพดังกล่าวก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น และอาจจะต้องรอให้ตลาดรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อาทิ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (รอติดตามงานสัมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole) จนทำให้ ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดจะไม่เร่งลดดอกเบี้ยในปีนี้ และอาจลดดอกเบี้ยราว -75bps (หรือน้อยกว่านั้น) หรืออาจเป็นปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น (แต่ในกรณีนี้ เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุน หากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นได้) หรือสถานการณ์การเมืองไทยยังคงเผชิญความไม่แน่นอนอยู่

โดยในส่วนของสถานการณ์การเมืองไทยนั้น เรามองว่า ในวันนี้ มีความเป็นไปได้ว่า พรรคเพื่อไทยและบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถลงคะแนนเสียงเพื่อโหวตให้แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ คนถัดไปได้สำเร็จ ทำให้ตลาดอาจคลายกังวลต่อประเด็นความไม่แน่นอนของการเมืองไทย ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินไทยอาจกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) และมีโอกาสที่จะเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้บ้าง ซึ่งจะช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท และทำให้เงินบาทก็อาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways ในช่วงนี้ได้ ทั้งนี้ หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ได้ ก็อาจมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 35.30 บาทต่อดอลลาร์ และ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านสำคัญ ขณะที่บริเวณ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นแนวรับในช่วงนี้ โดยมีแนวรับถัดไปแถว 34.85 บาทต่อดอลลาร์ 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะ JPY Carry Trade/Short JPY ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) มากขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้ง ยอดค้าปลีกและยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานนั้นออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนัก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาสดใส อาทิ Cisco +6.8%, Walmart +6.6% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.61%  

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +1.15% โดยตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ที่ยังคงออกมาสดใส อาทิ Adyen +12% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้รับอานิสงส์จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนัก 

ในส่วนตลาดบอนด์ บรรดาผู้เล่นในตลาดได้ทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว +10bps เข้าใกล้ระดับ 3.95% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะผันผวนไปตาม การปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทั้งนี้ เรายังคงคำแนะนำเดิม “เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip” หรือเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ส่วนจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นนั้น ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดพิจารณาขายทำกำไรได้บ้าง หากมีกลยุทธ์ Range-Bound Trading 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.5-103.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาด ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2,480 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะสามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง กลับสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ แถวโซน 2,490 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม ซึ่งหากออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจยังไม่รีบลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนได้ โดยในกรณีดังกล่าวก็อาจพอช่วยหนุนให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) สามารถแข็งค่าขึ้นได้บ้าง 

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนสิงหาคม โดยเฉพาะในส่วนของคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้  

และในฝั่งไทย ไฮไลท์สำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ในช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งผู้ที่จะได้เป็นนายกฯ นั้นจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่า 247 เสียง จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 493 ท่าน โดยหากผลการโหวตเลือกนายกฯ เป็นไปโดยราบรื่น และตามที่ตลาดคาดหวัง เรามองว่า ตลาดการเงินไทยก็อาจกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ได้