‘หุ้นญี่ปุ่น​‘ ในโหมดเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงิน แค่ปรับฐานหรือขาลง?

‘หุ้นญี่ปุ่น​‘ ในโหมดเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงิน แค่ปรับฐานหรือขาลง?

บลจ.จิตตะเวลธ์ ชวนเช็คพอร์ตลงทุน หุ้นญี่ปุ่น ย้ำยังน่าสนใจ แม้ขึ้นดอกเบี้ย-เยนอ่อนค่า แต่เศรษฐกิจยังเฟื่องฟู เปิด “3 หุ้นเด่นน่าคบหา” หนุน Jitta Ranking ย้อนหลัง 10 ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 12.26% ชนะตลาด พ่วง “ 3 หุ้นที่คุณปู่ Warren Buffett ”ทำราคานิวไฮใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ค่าเงินเยน ผันผวนค่อนข้างสูง หลังเงินเยนอ่อนค่าสุดรอบเกือบ 38 ปีไปเอง เมื่อปลายเดือนก็กลับมาแข็งค่าขึ้นติดต่อกันช่วงหลายวัน ก่อนการประชุมนโยบายการเงินของ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา  

ผลการประชุมล่าสุด BOJ ก็ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ​ พร้อมประกาศปรับลดปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ลงด้วย ตลาดมองว่าการตัดสินใจของ BOJ  ครั้งนี้มาจากแรงกดดันเรื่องค่าเงินที่อ่อนค่าอย่างมาก  

จากนี้คงต้องจับตาผลของการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญนี้ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในเชิงบวกหรือลบ แต่ที่แน่ๆ ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นหมายถึงต้นทุนเงินกู้ของภาคธุรกิจและรัฐ ย่อมจะสูงขึ้นตาม ที่สำคัญ

 

หากเจอทั้งค่าเงินเยนแข็งและขึ้นดอกเบี้ย ทำเอานักลงทุนวิตกจะลดทอนกำไรของบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในตลาดหุ้น แต่ก็มีคำถามเข้ามาว่า ทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น สวนทางกับชาวโลกที่กำลังจะปรับขาลง จะกดดัน ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ช่วงสั้น หรือปรับฐานระยะยาว​​  

หุ้นญี่ปุ่น จะไปต่อในทิศทางใด และยังมีปัจจัยอะไรอีกที่เป็นบวกกับตลาดหุ้นญี่ปุ่นบ้าง "ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์" CEO บลจ.จิตตะ เวลธ์ (Jitta Wealth ) ขอมาอัพเดตสถานการณ์ญี่ปุ่นว่า กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลให้คุณใช้ประกอบการทบทวนทำการบ้านเช็คพอร์ตลงทุนไปด้วย

 

ดอกเบี้ย-เงินเยน ท่องเที่ยวเฟื่องฟู ส่งออกเพิ่ม พยุงเศรษฐกิจฝืด

ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ และจะปรับลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นด้วยกัน แต่อย่าลืมว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในปีนี้​ ถือเป็นการเริ่มปรับนโยบายการเงินกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (normalize) หลังจากที่คงดอกเบี้ยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษทั้งตรึงดอกเบี้ยติดลบ 0 ถึง -0.1% มายาวนานตลอดช่วง The lost decaded การปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ ในภาวะที่ดอกเบี้ยโลกที่กำลังอยู่วัฎจักรขาลง ก็จะทำให้ Gap ของดอกเบี้ยญี่ปุ่นและดอกเบี้ยโลกแคบลงมานิดเดียวเอง

ส่วนตัวผมมองว่า แม้ตอนนี้เงินเยนก็ยังอ่อนค่ากว่าต้นปีอยู่ ซึ่งหากดูในปี 2566 เงินเยนอ่อนค่า 19% จากที่แข็งค่าสุด 127.219 เยนต่อดอลลาร์ เมื่อต้นปี และไหลลงต่ำสุดรอบปีอยู่ที่ 151.905 เยนต่อดอลลาร์เมื่อราวเดือนต.ค. 2566  ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการใช้ยายาวนานของนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษด้วยดอกเบี้ยติดลบ 0 ถึง -0.1% ที่เกิดขึ้นจนถึงต้นปีนี้

และหากสังเกตทุกครั้งที่เห็นเงินเยนอ่อนค่าแรงทำสถิติเมื่อไหร่ ธนาคารกลางญี่ปุ่นคอยเข้ามาแทรกแซงเพื่อไม่ให้อ่อนค่าเกินไป

แม้จะเป็นช่วงพยุงเงินเยนแข็งค่าได้ช่วงสั้นๆ ก็ตาม แต่ก็ช่วยประคองเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าค่อนข้างมาก แต่ฝั่งผู้ส่งออกญี่ปุ่นจะได้ประโยชน์เต็มๆ และสะท้อนกลับมาเป็นผลประกอบการของบริษัทเอกชน

เนื่องจากญี่ปุ่นมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกหลังจากเพิ่งถูกเยอรมันแซงไป และการขยายตัวของ GDP ญี่ปุ่นมาจากภาคการค้าที่ใหญ่จากฝั่งธุรกิจที่ออกไปลงทุนต่างประเทศ นอกจากเศรษฐกิจในประเทศ นี่เป็น จุดเด่นตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติซามูไรยังจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น

สถาบันวิจัยไดอิจิ ได้คาด BOJ มีแนวโน้มที่จะปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ญี่ปุ่นในปีงบประมาณ (เม.ย. 2567- มี.ค.2568) นี้ลงเหลือ 0.5% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 0.8% และอีกหลายๆ สำนักวิจัยก็ออกมาปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ของญี่ปุ่นกัน อาทิ ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ คาดการณ์ว่า GDP ของญี่ปุ่นจะหดตัวลง 0.4% ในปี 2567 และทีมนักเศรษฐศาสตร์ของเอสเอ็มบีซี คาดการณ์ว่า GDP จะหดตัวลง 0.3%

ส่วนไหนของญี่ปุ่นที่ยังดีอยู่ ภาคเศรษฐกิจที่ได้อานิสงส์จากค่าเงินเยนที่อ่อนแรง คือ ภาคท่องเที่ยวของญี่ปุ่นที่ยังเฟื่องฟู ยิ่งปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลทะลักเข้าญี่ปุ่นกันไม่หยุด 

แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นตอนนี้แม้จะมีภาคท่องเที่ยวบูม และภาคส่งออกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลก แต่ก็ไม่อาจแบกรับเศรษฐกิจภาพรวมของญี่ปุ่นไหว จากบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เป็นสัดส่วนใหญ่ของ GDP ญี่ปุ่น มีการหดตัวค่อนข้างมาก จึงทำให้ปีนี้เป็นอีกปีที่ญี่ปุ่นเติบโตต่ำๆ

 

 

หุ้นญี่ปุ่น outperform ครึ่งปีแรกติดอันดับสองของโลก

เรามาดูความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่แข็งแกร่ง แม้เศรษฐกิจยังไม่สดใสเท่าที่คาดกันไว้ก็ตาม 

ใครที่ ลงทุนหุ้นญี่ปุ่น ไปช่วง 2 ปีมานี้ รับกำไรเข้าพอร์ตฉ่ำๆ เลย เพราะตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน ดัชนี Nikkei ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 50% แล้ว จากระดับ 26,000 จุด ขึ้นมาแตะ 40,000 จุด

 

ผลตอบแทนของ Jitta Ranking หุ้นญี่ปุ่น ย้อนหลัง 10 ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 12.26% ชนะดัชนี TOPIX TRI โดยมี  3 หุ้นญี่ปุ่นที่ผลประกอบการดีน่าคบหา ดังนี้ 

1. บริษัท Ono Parmaceutical บริษัทยาที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นมีอายุกว่า 300 ปี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยาสำหรับมะเร็ววิทยา มีรายได้จากต่างประเทศมากถึง 1 ใน 3 ของรายได้รวม

2. GL Sciences ผู้ให้บริการเครื่องแยกส่วนผสมสมรรถนะสูงสำหรับของเหลวและก๊าซ ประยุกต์ใช้กับหลายอุตสาหกรรม อย่างเครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม เหล็ก เหมืองแร่ ปิโตรเคมี มีรายได้จากต่างประเทศกว่า 30%

3. Business Brain Showa-Ota ผู้ผลิตซอฟแวร์เพื่อการวางแผนจัดการแก่องค์กรต่างๆ

 

ขณะที่ หุ้นญี่ปุ่นคุณปู่ Warren Buffett เข้าลงทุนทั้ง 3 ตัว ทำราคานิวไฮ แตะระดับสูงสุดใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ได้แก่ บริษัท Mitsubishi , Mitsui & Co. , Sumitomo หลังจากที่ปี 2566 Berkshire ใช้ 1.6 ล้านล้านเยน (ราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์) เพื่อซื้อหุ้นประมาณ 9% ในบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่น 5 แห่ง ได้แก่ Itochu, Marubeni, Mitsubishi, Mitsui & Co และSumitomo หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่มบริษัทเทรดดิ้ง ‘Sogo Shosha’ จะเห็นว่าหุ้นที่คุณปู่ลงทุนมีบทบาทสำคัญต่อการค้า และเศรษฐกิจในญี่ปุ่น เพราะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสำคัญๆ ของประเทศมากมาย รวมถึงพลังงาน เทคโนโลยี และการผลิต

 

ปั้นกำไรหุ้นญี่ปุ่นด้วย DCA - จัด 2 พอร์ตเสริมแกร่งทนทาน

คำแนะนำการลงทุนหุ้นญี่ปุ่น สำหรับคนที่ลงทุนใช้วิธี DCA หรือถัวเฉลี่ยอยู่ก่อนแล้วยังแนะนำให้เดินหน้าต่อ เพราะจะมีต้นทุนที่ดีกว่าคนที่มาลงทุนตอนนี้

เพราะฉะนั้น การ DCA คือการกระจายความเสี่ยงด้านราคา ทำให้เราไม่ต้องมาคอยคิดวนไปเวียนมาว่า เข้าลงทุนถูกหรือผิดจังหวะ

และสิ่งสำคัญ ก่อนลงทุนใส่เงินพิ่มทุกคน จะต้องทำการบ้านอย่างหนักและรอบคอบ  ผลลัพธ์ของพอร์ตลงทุนจะทำผลตอบแทนออกมาได้ดีกว่านักลงทุนทั่วไป แต่หาก DCA ในสินทรัพย์ที่ผิด พอร์ตลงทุนจะเสียหายได้

และอีกเครื่องมือที่แนะนำ คือ จัดพอร์ต Core & Satellite ซึ่งเป็นตัวช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุน (Asset Allocation) และฝ่าความผันผวนได้ระหว่างทาง เหมาะสำหรับคนที่ลงทุนระยะยาวปกติจะจัดสัดส่วนเป็นพอร์ต Core 80% ของพอร์ตรวม และพอร์ต Satellite อีก 20% เรียกว่าเป็นสัดส่วนมาตรฐานของพอร์ต Core & Satellite ที่ใช้กันทั่วโลก  และสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ และความเสี่ยงที่รับได้ 

ยิ่งตลาดหุ้นก็จะมีความอ่อนไหวกับความไม่แน่นอนต่างๆหรือความไม่ชัดเจนต่างๆมากกว่าหลายๆสินทรัพย์  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครควบคุมได้

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ควบคุมได้ นั่นคือ การจัดพอร์ตลงทุนให้แข็งแกร่ง ให้มีแรงทนทานฝ่าความผันผวนระหว่างทาง

หากนักลงทุนมีการจัดการหรือบริหารความเสี่ยงให้ดี และผลตอบแทนที่ตอบโจทย์ในทิศทางเดียวกัน จะสามารถลงทุนได้ในระยะยาวอย่างมีความสุข