นักเศรษฐศาสตร์คาด กนง. ‘คงดอกเบี้ย‘ ที่ 2.50% รอการเมือง-เศรษฐกิจชัดเจน

นักเศรษฐศาสตร์คาด กนง. ‘คงดอกเบี้ย‘ ที่ 2.50% รอการเมือง-เศรษฐกิจชัดเจน

“นักเศรษฐศาสตร์” ฟันธงคาดที่ประชุม กนง. 21 ส.ค.67 นี้ “คงดอกเบี้ย” ที่ 2.50% ชี้เก็บกระสุน “ลดดอกเบี้ย” ไว้ดูแลเศรษฐกิจหาก “เลวร้าย” กว่าคาด พร้อมรอดูสถานการณ์ “การเมือง-ตั้งครม.” ก่อน รวมทั้งภาพเศรษฐกิจวันนี้ (19 ส.ค.67) ก่อนปรับลดดอกเบี้ยในปลายปี

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธที่ 21 ส.ค.2567 นี้ ถือเป็นวาระที่ต้อง “จับตา” มากขึ้น เพราะหลายปัจจัยเศรษฐกิจอาจทำให้ กนง. ต้องกลับมายืนเป็น “กองหน้า” ของเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ที่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ดังนั้น อาจกระทบต่อการเบิกจ่ายการลงทุนของภาครัฐให้ดีเลย์ออกไปอีก แต่ “นักเศรษฐศาสตร์” หลายคนมองว่าอาจยังไม่ใช่จังหวะในการ “ลดดอกเบี้ย” เพราะสถานการณ์ทุกอย่างยังคลุมเครืออย่างมาก ทั้งเศรษฐกิจ และสถานการณ์ทางการเมืองที่ต้องรอความชัดเจนมากขึ้น

  

นักเศรษฐศาสตร์คาด กนง. ‘คงดอกเบี้ย‘ ที่ 2.50% รอการเมือง-เศรษฐกิจชัดเจน

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ประเมินว่า การประชุม กนง. รอบนี้ กนง. น่าจะ “คงดอกเบี้ยนโยบาย” ไว้ที่ 2.50% แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวมจะยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว แต่เงินเฟ้อมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น และคาดว่าช่วงปลายปีนี้จะกลับเข้าสู่เป้าที่ระดับ 1%

ซึ่งมองว่า กนง. น่าจะรอดูตัวเลขเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์จะประกาศวันจันทร์นี้ (19 ส.ค.67) โดยคาดว่าจะออกมาอยู่ที่ 2.1% ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 2.4-2.5% จากไตรมาสแรกที่ผ่านมา ฉะนั้น โดยรวมเศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้หากดูด้านเสถียรภาพระบบการเงิน สินเชื่อครัวเรือนปัจจุบันอยู่ที่ 91% ต่อจีดีพี ซึ่งจะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตสินเชื่อปีนี้ไม่เติบโตมากนัก จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 3% เติบโตกว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้เล็กน้อย

แต่ปัจจุบันการคาดการณ์สินเชื่อจะเติบโตได้เพียง 1% เท่านั้น จากหลายสินเชื่อที่กลับมาหดตัว ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ ดังนั้นการลดดอกเบี้ย อาจไม่ได้ช่วยให้สินเชื่อกลับมาเติบโตมากขึ้น

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า คาดการณ์ว่า กนง. น่าจะ “คงดอกเบี้ย” ต่อเนื่อง โดย กนง. น่าจะรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจที่จะออกมาในระยะข้างหน้านี้ แม้ปัจจุบันภาพเศรษฐกิจไทยจะเปราะบางมากขึ้น

แต่สถานการณ์ต่างๆ ยังอยู่ในภาวะคลุมเครือที่รอความชัดเจน ทั้งจากภาพเศรษฐกิจไทย และสถานการณ์ทางการเมืองในระยะข้างหน้า ดังนั้น มองว่าเป็นไปได้ที่ กนง. จะยังคงดอกเบี้ย และรอความชัดเจนอีกครั้ง

“สแตนชาร์ด” คาด กนง.คงดอกเบี้ยรอความชัดเจน

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายเศรษฐศาสตร์ ประจำประเทศไทย และเวียดนาม ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า มีโอกาสที่จะเห็น กนง. “คงดอกเบี้ย” และหันมาลดดอกเบี้ยในช่วงปลาย ธ.ค.ปีนี้ เหลือ 2.25%

โดยยังเป็นไปตามประมาณการที่มองไว้ก่อนหน้านี้ แม้หลายธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลงแล้ว ทั้ง อังกฤษ , นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ , สหรัฐ ดังนั้น มองว่ากนง. น่าจะรอลดดอกเบี้ยหลังจากธนาคารกลางสหรัฐในช่วงปลายปีนี้ ที่ 0.25% เพราะยังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม ทั้งทิศทางเงินเฟ้อว่าจะหลุดกรอบหรือไม่ และการจัดตั้งรัฐบาลเต็มว่าจะสำเร็จเมื่อใด และงบประมาณภาครัฐจะดีเลย์หรือไม่

รวมถึงนโยบายการคลังที่จะออกมาในระยะข้างหน้า จะออกมารูปแบบใด ดิจิทัลวอลเล็ตจะยังคงอยู่หรือไม่ ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งเพิ่มน้ำหนักใน กนง.น่าจะรอดูสถานการณ์ และปรับลดดอกเบี้ยได้ในช่วงธ.ค.ปีนี้

นักเศรษฐศาสตร์คาด กนง. ‘คงดอกเบี้ย‘ ที่ 2.50% รอการเมือง-เศรษฐกิจชัดเจน

คาด กนง. “คงดอกเบี้ย” ยกเว้นเศรษฐกิจแย่กว่าคาด

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มองว่า กนง. น่าจะ “คงอัตราดอกเบี้ย” ต่อไป เพราะสถานการณ์ต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นถ้าภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะเปลี่ยนไปอย่างมาก ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าคาด หรือ จีดีพีไตรมาส 2 ออกมาต่ำกว่าประมาณการที่ระดับ 2.5% รวมถึงคุณภาพสินเชื่อที่ออกมาดูแย่กว่าที่คาด อาจทำให้ กนง. เปลี่ยนใจมาเป็นลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ได้ จากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของสภาพัฒน์ที่ออกมาแย่กว่าคาด

 “ผมยังคงมองว่า มีความจำเป็นในการลดดอกเบี้ย แต่ไม่ใช่ครั้งนี้ ยกเว้นสถานการณ์เศรษฐกิจออกมาแย่กว่าที่คาดอย่างมาก วันนี้สิ่งที่แบงก์ชาติมอง คือ เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว เดี๋ยวเงินเฟ้อจะเริ่มกลับมา และห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือนมากกว่าการเติบโตแล้ว”

ลุ้น กนง.ลดดอกเบี้ยพุธนี้

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า มีโอกาสที่การประชุม กนง. รอบนี้จะมีการ “ลดดอกเบี้ย” มากขึ้น จาก 3 ปัจจัย ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงด้านขาลงมากขึ้น โดยมาจากปัจจัยต่างประเทศ การฟื้นตัวของภาคการผลิตต่างๆ ไม่ดีเหมือนที่คาดไว้ ปัจจัยที่สอง เงินเฟ้อปัจจุบันขยับขึ้นมาบ้างแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ และดิจิทัลวอลเล็ตอาจเกิดขึ้นน้อย ดังนั้นผลต่อเงินเฟ้อที่จะมาอาจไม่ได้รุนแรงเหมือนที่คิด

ปัจจัยที่สาม เรื่องของเสถียรภาพ เดิมกังวลว่า หาก กนง. ต้องลดดอกเบี้ยจะยิ่งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่า แต่ภาพปัจจุบันจากการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดดอกเบี้ยลงในระยะข้างหน้า 0.25-0.50% ในช่วงเดือนพ.ค. หรือเดือนธ.ค. นี้ทำให้เริ่มเห็นเงินไหลเข้ามาสู่ภูมิภาค และทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเริ่มแข็งค่าขึ้น

ดังนั้น มองว่า กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้ในรอบการประชุมครั้งนี้ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนไป เศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น และหลักการของนโยบายการเงินคือ ต้องใช้เวลา 6 เดือนถึงจะเห็นผล ดังนั้น หากไม่ลดดอกเบี้ยตอนนี้เศรษฐกิจอาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ และการฟื้นตัวเศรษฐกิจไม่ได้ดีเหมือนที่คิดไว้ และยังเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้น และภาพเศรษฐกิจไทยวันนี้ เศรษฐกิจไทยยัง

นักเศรษฐศาสตร์คาด กนง. ‘คงดอกเบี้ย‘ ที่ 2.50% รอการเมือง-เศรษฐกิจชัดเจน

คาด กนง. คงดอกเบี้ยระดับ 2.50% 

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตลาดคาดหวัง กนง. ลดดอกเบี้ยในการประชุม กนง. เดือนส.ค.นี้ แต่เรายังคาดว่า กนง. น่าจะยัง “คงดอกเบี้ย” ระดับ 2.50% เท่าเดิมไว้ก่อน รอติดตามเฟดลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย.นี้ก่อน หลังจากนั้นยังต้องติดตามธนาคารกลางอื่นในภูมิภาคเอเชีย จะปรับลดดอกเบี้ยตามเฟดหรือไม่ด้วย

และยังต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อไทยไตรมาส 4 ปีนี้ จะปรับขึ้นมาอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-2% ได้หรือไม่ หากยังติดลบต่ำกว่า 1% หากธนาคารกลางอื่นในภูมิภาคเอเชียปรับลดดอกเบี้ย มองว่า กนง. อาจมีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้หรือเริ่มลดดอกเบี้ยในปีหน้า

เราคาดว่า กนง. มีโอกาสที่ปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้ามากกว่าปีนี้ เนื่องจากในไตรมาส 4 ปีนี้ แนวโน้มค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค และเก็บกระสุนไว้ใช้ดูแลเศรษฐกิจไทยในปีหน้า หากสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐ ถดถอยหรือเลวร้ายลงมากกว่าที่ตลาดกังวล จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า

“ในบางจังหวะที่เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนค่อนข้างมาก ทั้งอ่อนค่า และแข็งค่าระหว่างวัน ธปท. เข้ามาดูแลค่าเงินบาทต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนและอ่อนค่าจนเกินไป เป็นที่น่าพอใจ”

ชี้หาก ศก.ไตรมาส 4 ไม่ฟื้นโอกาสทบทวนลดดอกเบี้ย 

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ และในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า คาดว่าการประชุม กนง. ในเดือนส.ค.นี้ น่าจะยัง “คงดอกเบี้ย” ที่ระดับ 2.50% เพื่อรอความชัดเจนเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนก.ย. และลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ มากกว่าหรือตามที่ตลาดคาด

อีกทั้งยังต้องติดตามธนาคารกลางประเทศอื่นๆ จะลดดอกเบี้ยตามเฟดหรือไม่ และอยู่กับเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้จะฟื้นตัวได้อย่างที่คาดกันไว้หรือไม่ หากธนาคารกลางประเทศในเอเชียลดดอกเบี้ยตาม และเศรษฐกิจไทยไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่คาดกันไว้ ก็มีโอกาสที่ ธปท.กลับมาพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยได้

“มองว่า ธปท.ติดตามดูแลใกล้ชิด และรู้จุดเหมาะสมที่ต้องใช้นโยบายลดดอกเบี้ยอยู่แล้ว ขณะนี้ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโต3%ฟื้นต่อเนื่องจากปีนี้”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์