พาณิชย์ จับตา จาก “เอลนีโญ” สู่ “ลานีญา”กระทบเงินเฟ้อไทย
สนค. เผย ไทยเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์“เอลนีโญ” สู่ “ลานีญา ทำฝนตกหนักมากกว่าปกติ ส่งผลทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ทำราคาสินค้าพุ่งโดยเฉพาะอาหารสด อาจกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ พร้อมจับตาใกล้ชิด
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น สภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพา "น้ำ" เป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตรไทย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางปีนี้ มีแนวโน้มว่า อุณหภูมิความร้อนจะลดลงและเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านฤดูกาล โดยข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังอ่อน ซึ่งจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเม.ย.-มิ.ย.และมีความน่าจะเป็นถึง 60 % ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค.2567
โดยลานีญาเป็นปรากฏการณ์ขั้วตรงข้ามกับเอลนีโญ เกิดจากกระแสลมที่พัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมายังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคดังกล่าวมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและอาจทำให้ฝนตกหนักมากกว่าปกติ
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อของไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากลานีญา เป็นสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาทิ ผักสด และผลไม้สด เนื่องจากเป็นสินค้าที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์น้ำค่อนข้างมาก ซึ่งปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไปจะกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก เป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยว และเกิดความเสียหายต่อผลผลิต นำไปสู่การสูงขึ้นของระดับราคาสินค้าจากปัญหาภาวะอุปทานขาดแคลน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง สำหรับผักและผลไม้สดมีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อของไทยประมาณ 5.83%
ทั้งนี้ในช่วงในปี 2565 ที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อของไทยจะได้รับอิทธิพลจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกและปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ยังมีสาเหตุสำคัญจากปรากฏการณ์ลานีญาที่กระทบต่อราคาสินค้าเกษตร ซึ่งในปีดังกล่าว มีปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 2,011.9 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าปกติ 389 มิลลิเมตร หรือประมาณ 24 % (ค่าปกติคาบ 30 ปี พ.ศ. 2534 - 2563 เท่ากับ 1,622.9 มิลลิเมตร) โดยเฉพาะเดือนส.ค.-ก.ย.-ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่มีปริมาณฝนในระดับสูง
เมื่อพิจารณาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเทียบกับปริมาณฝนในเดือนดังกล่าว พบว่า สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะกลุ่มผักและผลไม้สูงขึ้น โดยดือนส.ค.สูงขึ้น11.81 % เดือน ก.ย.สูงขึ้น 12.43 %และเดือนต.ค. ปี 2565 สูงขึ้น 7.99 % โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากน้ำท่วมขังในพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญา
ในปีเดียวกันประเทศอื่นอัตราเงินเฟ้อก็สูงขึ้น อาทิ ประเทศฟิลิปปินส์ ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ส่งผลให้ประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร และทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาปลีกของหมวดหมู่อาหารพื้นฐาน (ข้าวและผัก) ที่ปรับสูงขึ้น 15 - 20 %และประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลายเมืองสำคัญ อาทิ ซิดนีย์ และเมลเบิร์น บางพื้นที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ทำการเกษตร ส่งผลให้ราคาสินค้าผักและผลไม้พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 16%
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและความเสี่ยงที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญาเป็นวัฏจักรตามธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในหมวดสินค้าที่เกี่ยวข้อง ส่วนขนาดของผลกระทบคงต้องรอความชัดเจนของสถานการณ์อีกครั้ง หากปีนี้ความรุนแรงของปรากฏการณ์ลานีญาอยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอและเหมาะสมต่อการเพาะปลูก มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการเกษตร
อย่างไรก็ตามหากปรากฏการณ์ลานีญามีความรุนแรงจนถึงขั้นเกิดอุทกภัย อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและเกิดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง นอกจากผักและผลไม้ อาจส่งผลทางอ้อมไปยังกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่ใช้ผักและผลไม้เป็นหนึ่งในวัตถุดิบ อาทิ อาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง และอาหารโทรสั่ง (Delivery)
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคอยติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด วางแผนบริหารจัดการน้ำและช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิต พัฒนาพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งส่งเสริมการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเตรียมรับมือและวางแผนด้านมาตรการช่วยเหลือ โดยจะพิจารณาถึงผลกระทบของมาตรการต่อทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคอย่างรอบด้าน ซึ่งคาดว่าการวางแผนรับมือที่ดีจะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้