'เงินบาท' แข็งพรวดเฉียด 1% นักลงทุนปิดสถานะ 'ขาย' ป้องขาดทุน- ลุ้น GDP ไตรมาส 2

'เงินบาท' แข็งพรวดเฉียด 1% นักลงทุนปิดสถานะ 'ขาย' ป้องขาดทุน- ลุ้น GDP ไตรมาส 2

เงินบาทเช้าวันนี้(19ส.ค.) แข็งค่าอย่างรวดเร็วเกือบ 1% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับสถานะการขายเงินบาท(Short) เพื่อหยุดการขาดทุน หลังเงินบาทเริ่มกลับมาอยู่ในทิศทางการแข็งค่า

สำหรับ"เงินบาท"เช้าวันนี้ เปิดตลาดที่ระดับ 34.85 บาท ก่อนจะแข็งค่ามาเคลื่อนไหวที่บริเวณ 34.50 บาท หรือแข็งค่าขึ้นมาราว 0.33 บาท คิดเป็น 0.96% และในช่วง 30 วันย้อนหลังที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วราว 4.63%

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลุดทั้งโซนแนวรับ 34.85 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ 

\'เงินบาท\' แข็งพรวดเฉียด 1% นักลงทุนปิดสถานะ \'ขาย\' ป้องขาดทุน- ลุ้น GDP ไตรมาส 2

โดยแม้ว่าเงินบาทจะมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง หลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนสิงหาคม ออกมาดีกว่าคาด หนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใส

จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ลดความน่าสนใจในการถือครองเงินดอลลาร์และกดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ทำให้เงินบาทได้แรงหนุนจากทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์

และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จนทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (ทะลุโซน 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์)

นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทดังกล่าว อาจได้แรงหนุนจากการปรับสถานะ Short THB(ขาย) ของผู้เล่นในตลาด ที่อาจโดน Stop Loss ไปได้ หลังเงินบาทได้แข็งค่าหลุดโซนแนวรับระยะสั้นลงมา

สำหรับ แนวโน้มในสัปดาห์นี้ ประเมินว่า ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ที่อาจกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ธนาคารกลางยุโรป(ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) พร้อมรอลุ้นรายงาน GDP ไตรมาสที่ 2 และผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย

"โมเมนตัมการแข็งค่ายังมีอยู่ แต่อาจชะลอลงบ้าง ทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าได้ หากการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่มีแนวโน้มล่าช้า กดดันฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง หรือราคาทองคำเริ่มกลับมาย่อตัวลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมจังหวะที่ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยผันผวนสูงขึ้น"พูน กล่าว

ส่วนกรอบค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะเคลื่อนไหวในระดับ 34.35-35.15 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ในระดับ 34.45-34.70 บาทต่อดอลลาร์