กรุงศรีคาด 'กรอบค่าเงินบาท' สัปดาห์นี้ 31.75 - 32.10 บาท
"ธนาคารกรุงศรีอยุธยา" คาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 31.75 - 32.10 บาทต่อดอลลาร์ จับตาท่าทีทางการหลังบาทแข็งค่าสุดในรอบ 41 เดือน
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.75-32.10 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.83 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทยังคงแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 41 เดือน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยด้วยมูลค่า 2.4 พันล้านบาท และ1.67 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วนดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญ ขณะที่ยูโรได้แรงหนุนจากคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เตรียมจะลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นช่วยพยุงค่าเงินดอลลาร์ไว้ได้บ้าง
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีมองว่า แรงขายดอลลาร์ยังมีจำกัดในช่วงเปิดตลาดเอเชียเช้านี้ แม้มีการปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ หลังพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องงบประมาณได้ โดยตลาดจะจับตาอย่างใกล้ชิดว่าประเด็นนี้จะยืดเยื้อหรือไม่ นอกจากนี้ นักลงทุนยังให้ความสนใจการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และอีซีบี ขณะที่ถ้อยแถลงล่าสุดของผู้ว่าการบีโอเจบ่งชี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น แต่ได้ระบุเช่นกันว่าบีโอเจจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ส่วนการประชุมอีซีบีในรอบนี้ ตลาดจะจับตาการประเมินการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรว่าจะส่งผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในยูโรโซนมากน้อยเพียงใด
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดมีแนวโน้มเพิ่มความระมัดระวังต่อท่าทีของทางการเกี่ยวกับการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท หลังรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเปิดเผยว่ารัฐบาลได้เรียกประชุมด่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและไม่ต้องการเห็นเงินบาทแข็งค่าอย่างไม่สมเหตุสมผล ขณะที่ก่อนหน้านี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่าเงินบาทที่แข็งค่ากระทบต่อกำไรของบางธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ แต่ในระยะยาวผู้ประกอบการต้องยกระดับความสามารถในการแข่งขันมากกว่าพึ่งพาปัจจัยเรื่องค่าเงินในการตั้งราคาสินค้า ขณะที่ธปท.มองว่าค่าเงินบาทน่าจะผันผวนต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทำหนังสือชี้แจงต่อรมว.คลังกรณีเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของนโยบายการเงินว่า เกิดจากปัจจัยด้านอุปทานและไม่ได้สะท้อนภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด ท่าทีดังกล่าวสนับสนุนมุมมองของเราที่ว่าทางการอาจมีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้น หากเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าสกุลเงินคู่ค้าและคู่แข่ง แต่คาดว่าจะไม่ใช้เครื่องมือดอกเบี้ยดูแลค่าเงินบาทเนื่องจากผู้ดำเนินนโยบายตอกย้ำถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจหากมีการปรับลดดอกเบี้ยจากระดับปัจจุบัน