ทำบ้านเป็น "โฮมสเตย์" อย่าชะล่าใจเรื่องภาษี

ทำบ้านเป็น "โฮมสเตย์" อย่าชะล่าใจเรื่องภาษี

ไขข้อข้องใจ เมื่อทำบ้านเป็น "โฮมสเตย์" ต้องเสียภาษีอย่างไร และมีเงื่อนไขภาษีใดบ้างที่ต้องรู้สำหรับการทำกิจการโฮมสเตย์

ตามความหมายของคำว่า "โฮมสเตย์" คือ บ้าน ที่อยู่อาศัยของเจ้าของบ้านที่นำมาให้นักท่องเที่ยวเข้าพักค้างคืนเป็นรายวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะรับนักท่องเที่ยวได้จำนวนจำกัด เนื่องจากยังมีพื้นที่บางส่วนเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าของบ้าน และยังต้องแบ่งบางส่วนใช้เป็นพื้นที่ใช้สอยส่วนกลางด้วย

แต่ถ้าหากพูดถึงโฮมสเตย์ในมุมของภาษีนั้น สำหรับบ้าน ที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม รวมถึงบ้านเช่า อพาร์ตเมนต์ให้เช่า จะถูกจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในกลุ่มที่อยู่อาศัย เพราะเป็นการเช่าเพื่ออยู่อาศัย

แต่ถ้าเป็น “โฮมสเตย์” ซึ่งถือเป็นการทำธุรกิจลักษณะเดียวกับโรงแรม รีสอร์ต หรือกลุ่มที่ทำในเชิงพาณิชย์ ผู้ทำธุรกิจโฮมสเตย์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในกลุ่มเพื่อพาณิชยกรรม โดยจะมีภาษีที่สูงกว่าหรือไม่ และภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีอะไรอีกบ้าง ไปเปิดข้อมูลพร้อมกัน...

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เมื่อเจ้าของบ้าน นำบ้านพักของตนเองบางส่วนมาแบ่งให้นักท่องเที่ยวเข้าพักเป็นรายวัน รายได้นี้จัดอยู่ในการทำธุรกิจในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น รายได้ที่ได้รับในนามบุคคลธรรมดา ไม่ได้จดบริษัทเป็นนิติบุคคล ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) ผู้มีรายได้ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 (ภาษีสิ้นปี) และยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 (ภาษีครึ่งปี)

โดยสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควรได้ และมีค่าลดหย่อนอื่นๆ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว คู่สมรส บุตร เลี้ยงดูบิดามารดา อุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา เบี้ยประกันชีวิต เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นต้น

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจโฮมสเตย์ มีการจดบริษัทเป็นนิติบุคคล รายได้จากค่าบริการให้นักท่องเที่ยวเข้าพักโฮมสเตย์นั้น จะต้องยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยหากมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทและทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท จะได้ยกเว้นภาษีกำไร 300,000 บาทแรก และเสียภาษีในอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 15% สำหรับกำไรสุทธิที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท และ 20% สำหรับกำไรสุทธิที่เกิน 3 ล้านบาท

แต่ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขข้างต้น จะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่กำไรบาทแรก และยื่นภาษี 2 ครั้ง คือ ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 (ภาษีครึ่งปี) และ ภ.ง.ด.51 (ภาษีสิ้นปี)

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ค่าบริการให้เข้าพักโฮมสเตย์ จะรวมค่ายาสีฟัน สบู่ ครีมอาบน้ำอยู่แล้ว จึงถือเป็นรายได้ที่เมื่อเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี เจ้าของโฮมสเตย์จะต้องขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ vat ภายใน 30 วันหลังจากที่รายได้เกิน ที่กรมสรรพากร

จากนั้นต้องส่ง vat 7% ของรายได้แต่ละเดือนให้กับกรมสรรพากร และทำรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย สินค้าคงเหลือและวัตถุดิบ พร้อมส่งแบบ ภ.พ.30 ยื่นรายงานแก่กรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แม้ว่าเดือนนั้นๆ จะไม่มีการให้บริการ

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับธุรกิจโฮมสเตย์นั้น จะสามารถหักภาษีได้ก็ต่อเมื่อเจ้าของโฮมสเตย์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วเท่านั้น และธุรกิจโฮมสเตย์จะถูกนิติบุคคลหักภาษี ณ ที่จ่ายได้เช่นกันเมื่อมีค่าใช้จ่ายจากการใช้บริการต่างๆ

และเมื่อเดือนใดได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ จะต้องนำส่งกรมสรรพากรโดยใช้แบบฟอร์มที่กำหนด และนำส่งภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ดังตัวอย่างประเภทของการจ่ายเงินและอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย

1.ค่าบริการ เช่น ค่าทำความสะอาด ค่าซ่อมแซม ค่าติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3% ของจำนวนเงินที่จ่าย

2.ค่าจ้างงาน เช่น การจ้างงานก่อสร้าง การจ้างทำงานอื่นๆ ที่เป็นงานสัญญา อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3% ของจำนวนเงินที่จ่าย

3.ค่าเช่า เช่น ค่าเช่าที่ดินหรืออาคารสำหรับดำเนินธุรกิจ อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 5% ของจำนวนเงินที่จ่าย

4.ค่าขนส่ง อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 1% ของจำนวนเงินที่จ่าย 

5.ค่าโฆษณา อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 2% ของจำนวนเงินที่จ่าย

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าสำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งดูแลโดยกรมที่ดิน โฮมสเตย์จัดอยู่ในกลุ่มเพื่อพาณิชยกรรม ซึ่งการประกอบกิจการลักษณะเป็นการชั่วคราว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัยชั่วคราว โดยเรียกเก็บค่าตอบแทนเป็นรายวัน ไม่เข้าเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย และประกอบเกษตรกรรม จึงต้องเสียภาษีประเภทอื่นๆ ในเชิงธุรกิจ หรือกลุ่มเพื่อพาณิชยกรรม โดยภาษีอยู่ที่อัตรา 0.3 - 0.7%

ภาษีธุรกิจเฉพาะ

เนื่องจากตามหลักการและความเข้าใจโดยทั่วกันคือ โฮมสเตย์จะหมายถึงการแบ่งที่พักอาศัยของตนเองให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักเป็นรายวัน แต่ในกรณีที่เจ้าของบ้านได้มีการให้นักท่องเที่ยวเช่าหรือบริการในลักษณะเฉพาะ เช่น ให้เช่าที่พักในระยะยาว อาจต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 3% ของรายได้จากการเช่าหรือการให้บริการ

และเจ้าของโฮมสเตย์ต้องขอขึ้นทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ และยื่นแบบ ภ.ธ.40 ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือนถัดไปที่เกิดรายการที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ว่าจะเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา หรือแบบนิติบุคคล ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหากเข้าเงื่อนไขดังกล่าว

สรุป…โฮมสเตย์ไม่ถือเป็นที่อยู่อาศัย ต้องเสียภาษีในเชิงพาณิชย์

เมื่อมาถึงบรรทัดนี้ อาจสรุปได้ว่าเจ้าของธุรกิจโฮมสเตย์มีหน้าที่หลักๆ ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในกลุ่มเพื่อพาณิชยกรรม อัตราเริ่มต้น 0.3% ซึ่งจะสูงกว่ากลุ่มที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลหากหากจดบริษัท และภาษีหัก ณ ที่จ่าย รวมถึงเมื่อรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องจด vat อีกด้วย​​

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting