‘แบงก์ดั้งเดิม‘ ไม่สะท้าน ’เวอร์ชวลแบงก์ผุด เร่งเดินหน้ายกระดับดิจิทัล
“แบงก์พาณิชย์ดั้งเดิม” ไม่หวั่น “ผู้เล่นใหม่” จาก “เวอร์ชวลแบงก์” เชื่อแข่งขันได้ ย้ำบริการไม่ต่างจากเดิมที่ให้บริการผ่านดิจิทัลอยู่แล้ว “กสิกรไทย” ยังไม่สนใจร่วมวงแข่ง “เกียรตินาคินภัทร” “ทิสโก้” เชื่อเป็นประโยชน์ต่อโดยรวม
แม้การมาของ Virtual Bank หรือ “ธนาคารไร้สาขา” ถูกจับตามากขึ้นว่า อาจกระทบต่อการทำธุรกิจของ “ธนาคารพาณิชย์” หรือผู้ให้บริการทางการเงินในปัจจุบันให้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการให้บริการ การดำเนินธุรกิจ และรายได้ที่อาจเปลี่ยนไปในอนาคต จากการมีผู้เล่นเข้ามาแข่งขันมากขึ้น
แต่บรรดา “ผู้บริหาร” ของธนาคารพาณิชย์ ที่เป็นผู้ให้บริการแบบดั้งเดิมยังเชื่อว่า การมาของ Virtual Bank อาจไม่กระทบต่อธุรกิจธนาคารดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ หรือเข้ามาแย่งตลาดที่มีอยู่มากนัก เพราะการให้บริการผ่าน Virtual Bank เป็นคนละกลุ่มกับที่ “แบงก์” ให้บริการ แม้เงินฝากอาจเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่ด้านรายได้หลักของแบงก์ มาจากด้าน “สินเชื่อ” ที่วันนี้ยังมาจากกลุ่มที่เข้าถึงบริการทางการเงินเป็นหลัก
อีกทั้งการให้บริการปัจจุบันของธนาคารพาณิชย์ ยังคงมุ่งไปสู่ดิจิทัลต่อเนื่อง ดังนั้นอาจไม่มีความต่างมากนักกับ Virtual bank
ให้บริการกลุ่มที่ไม่เข้าถึงทางการเงินอยู่แล้ว
ก่อนหน้านี้ “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารยังไม่สนใจยื่นขอไลเซนส์ หรือใบอนุญาต ในการทำ Virtual bank เนื่องจากมองว่าการให้บริการของ Virtual bank ไม่ได้มีความแตกต่างกับการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน
อีกทั้ง ในส่วนของธนาคารเอง ก็เริ่มให้บริการสำหรับกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินมากนัก และเข้าถึงบริการทางการเงินต่ำมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาอยู่แล้ว เช่น การที่ธนาคารเข้าไปปล่อยสินเชื่อผ่านบริษัทในเครือ เช่น ผ่านกสิกรไทย ไลน์ จำกัด (LINE BK) และภายใต้ บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด (KIV) ที่ทำธุรกิจคล้ายกับ Virtual Bank แล้ว ซึ่งถือว่าเพียงพอในการดูแลกลุ่มลูกค้ารายย่อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้
เชื่อการแข่งขันไม่ต่างจากเดิมมาก
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่าธนาคาร ยังไม่สนใจขอไลเซนส์ทำ Virtual bank เนื่องจากมองว่า การทำธุรกิจปัจจุบันของแบงก์ที่มุ่งไปสู่ดิจิทัล การให้บริการผ่านดิจิทัล ก็ไม่ได้แตกต่างกับการให้บริการผ่าน Virtaul bank ที่ปัจจุบันการทำธุรกรรมการเงินผ่านแบงก์ทั่วไปสามารถทำได้ทุกเวลาอยู่แล้ว และครอบคลุมการให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย
อย่างไรก็ตาม มองว่าการมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาด ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ที่จะทำให้ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจการเงินมีการแข่งขันกันมากขึ้น และการแข่งขันไม่ได้ติดกับกระบวนการแข่งขันแบบเดิมๆ ดังนั้นการเข้ามาของผู้เล่นผู้ให้บริการรายใหม่มากขึ้น นอกจากเพิ่มการแข่งขัน ยังทำให้การทำการตลาด การนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อผู้บริโภคมีความหลากหลายมากขึ้น
“วันนี้แบงก์ใหญ่ๆ ก็แข่งขันกันอยู่แล้ว จะแข่งขันเพิ่มขึ้นอีกมองว่าก็ดี เพราะการแข่งขันทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น ทั้งเชิงการตลาด การนำเสนอประโยชน์ การคิดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่อาจมีความหลากหลายมากขึ้น แต่โดยทั่วไป วันนี้การให้บริการบนดิจิทัลแบงก์ก็ทำได้อยู่แล้วก็ยังมองว่ายังไม่ต่างกับ Virtual Bank”
เวอร์ชวลแบงก์ได้ประโยชน์ทั้งระบบ
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (TISCO) กล่าวว่า การเปิดให้มี Virtual Bank สิ่งที่จะเห็นผลชัดเจนคือ เอื้อให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น สำหรับกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ หรือกลุ่ม (underserved) ที่แบงก์ไม่สามารถเข้าถึงได้
ดังนั้นฝั่งประชาชนจะได้ประโยชน์แน่นอน จากการที่มีผู้ให้บริการเพิ่มเติมเข้ามา จากความพร้อมของเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์มากขึ้น ในการเข้าถึงผู้บริโภค ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ เช่นเดียวกันการแข่งขันในระบบธนาคาร โดยเฉพาะด้านเงินฝาก ที่มองว่า ผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้นมองว่าการเพิ่มการแข่งขันต่างจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวม
เร่งยกระดับดิจิทัลเอื้อให้บริการครอบคลุม
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจากการมุ่งให้บริการบนดิจิทัลมากขึ้น หรือการมาของ Virtual Bank ทำให้แบงก์ดั้งเดิมเองต้องปรับตัว และยกระดับบริการให้มีความหลากหลายบนดิจิทัลมากขึ้นด้วย ส่วนด้านสินเชื่อก็มองว่า การลงไปเล่นเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะรายเล็กมากๆ ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เป็นโจทย์ที่แบงก์ต่างๆ รวมถึง Virtual Bank ก็ต้องศึกษามากขึ้น ดังนั้น หาก Virtual Bank สามารถเข้าไปปล่อยกู้รายเล็กรายน้อยได้มากกว่าที่แบงก์ปัจจุบันทำได้ มองว่าก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยตรง
ส่วนธนาคารเอง ยังไม่สนใจในการเข้าไปขอไลเซนส์ หรือทำธุรกิจผ่าน Virtual Bank เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการของธนาคารทิสโก้ หรือกลุ่มการเงินทิสโก้ถือว่าครอบคลุมอยู่แล้ว โดยเฉพาะการให้บริการเฉพาะกลุ่มสำหรับลูกค้ารายย่อย เช่น สมหวังเงินสั่งได้ ที่เน้นเข้าถึงลูกค้ารายย่อยอยู่แล้ว หรือการให้บริการผ่านสาขาของทิสโก้ ที่ปัจจุบันครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งนี้ในระยะข้างหน้า เพื่อให้ธนาคารยิ่งแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น ธนาคารเองก็ต้องยกระดับ และพัฒนาการให้บริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าหลายกลุ่มได้มากขึ้น
“วันนี้เราเชื่อว่า เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลลูกค้า underserved อยู่แล้ว เช่น ผ่านสมหวังเงินสั่งได้ ที่เรามีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ในชุมชนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น และตัวแบงก์เองก็พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มต่อเนื่อง เพื่อให้บริการให้บริการเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น”
“เวอร์ชวลแบงก์”ใช้ทุนสูง-เสี่ยงสูงกว่าลูกค้าปกติ
อย่างไรก็ตาม มองว่า แม้ Virtual Bank จะมีประโยชน์ และจูงใจในการเข้าไปแข่งขันมากขึ้น แต่การเข้าไปลงทุนในธุรกิจดังกล่าวมีต้นทุนค่อนข้างสูง
โดยเฉพาะทุนจดทะเบียนที่ 5,000 ล้านบาท อีกทั้งหากลงไปเล่นที่ตลาดไซส์เล็กๆ มาก ความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อก็ต้องยิ่งเพิ่มขึ้น ดังนั้นแบงก์เองอาจต้องมีแอสเซท หรือทุนในการรองรับการปล่อยสินเชื่อจำนวนมาก เพื่อรองรับรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“วันนี้เรามองว่าแม้น่าลงทุน แต่เงินลงทุนสูงมาก และไซส์ตลาด underserved ก็มีความเสี่ยง เช่น หากมองว่า เสี่ยงกว่าการปล่อยกู้ปกติ 10 เท่า ธุรกิจอาจต้องเตรียมเงินทุนไว้สูงถึง 10 เท่าจากทุนเดิม ก็แปลว่าอย่างน้อยต้องมี 5 หมื่นล้านบาทในการเข้าไปปล่อยกู้ ซึ่งถือว่างบลงทุนมหาศาล และยังมองว่ารีเทรนด์ หรือผลตอบแทนในระยะสั้น หรือระยะกลาง อาจยังไม่เห็นโดยเร็ว และอาจต้องดูระยะยาวๆ มากกว่า จึงเป็นเหตุผลให้แบงก์บางแห่งยังไม่สนใจเข้ามาแข่งในตลาดนี้”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์