แบงก์ไร้สาขา หนุนเศรษฐกิจ ลดต้นทุน - ดอกเบี้ยต่ำ

แบงก์ไร้สาขา หนุนเศรษฐกิจ ลดต้นทุน - ดอกเบี้ยต่ำ

“นักเศรษฐศาสตร์” ชี้ผู้สนใจลุยสนามเวอร์ชวลแบงก์ยิ่งมากช่วยเพิ่ม “คุณภาพบริการ-การแข่งขัน”หนุนต้นทุนดอกเบี้ยต่ำลง“บล.เกียรตินาคินภัทร” เปิด 3 ความเสี่ยงสกัดความสำเร็จ “ข้อมูลจริงต้องพร้อม-เทคโนโลยี-บิดเบือนฉ้อโกง”

ด้าน“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ย้ำเข้าถึงทุกคนดอกเบี้ยถูกจริงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ“สมประวิณ”ชี้ เอื้อกลุ่มหนี้นอกระบบเข้าระบบหนุนเกิดการแข่งขันในธุรกิจแบงก์

นับตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ผู้สนใจขอใบอนุญาตประกอบ “ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” (Virtual Bank) ภายใน 6 เดือน (20 มี.ค.-19 ก.ย.2567) เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางช่วยธุรกิจรายย่อยและเป็นโครงการสำคัญของ ธปท.ที่คาดว่าเปิดบริการปี 2569 

ผลดังกล่าวส่งผลให้ Virtual Bank ถูกพูดถึงในแวดวงการเงินและภาพรวมธุรกิจในประเทศ เพราะเป็นเทคโนโลยีทันสมัย และสอดคล้องการเข้าสู่ “ยุคดิจิทัลของไทย” ที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์ธุรกรรมการเงินที่ดีขึ้น และกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินไทยอย่างเหมาะสม โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพ ระบบการเงิน หรือทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้บริการเป็นวงกว้าง

“กรุงเทพธุรกิจ” สอบถามมุมมอง “นักเศรษฐศาสตร์” ถึงการมาของ Virtual Bank” ว่า ส่งผลอย่างไรต่อแวดวง “การเงินและ เศรษฐกิจไทย” ตลอดจนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เข้าร่วมลงทุนและจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือมีความสำคัญในวงการธนาคารของไทยอย่างไรบ้าง

3 ความเสี่ยงสกัดความสำเร็จ “เวอร์ชวลแบงก์” 

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า การเปิดให้ผู้สนใจขอไลน์เซนส์เวอร์ชวลแบงก์ มองว่าเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการและเพิ่มการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นความหวังจากความตั้งใจให้เพิ่มผู้เล่นหน้าใหม่ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใน “การลดต้นทุน” 

อีกหนึ่งความสำคัญ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของลูกค้าใน “ต้นทุน” (ดอกเบี้ย) ที่ต่ำลง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารายย่อย 

โดยที่ผู้ให้บริการ (แบงก์) ไม่ต้องติดข้อจำกัดของธนาคารรูปแบบเดิม เช่น ไม่ต้องติดกับข้อกำหนด ต้นทุนของการมีสาขา สามารถลดจำนวนพนักงาน และโครงข่ายกายภาพอย่างอื่นๆ เช่น ATM 

“มองว่าการแข่งขันในระบบแบงก์เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดความหวังว่าจะทำให้บริการทางการเงินด้วยดอกเบี้ยถูกลงและคุณภาพบริการเพิ่มขึ้น รวมทั้งการมีผู้เล่นรายใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริการทำให้เกิดความคาดหวังการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันตามความเสี่ยงผู้กู้แต่ละราย และมีบริการการเงินรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงลูกค้าเพิ่มขึ้น ในต้นทุนที่เหมาะสมและถูกลง” 

ทั้งนี้ ความสำเร็จของเวอร์ชวลแบงก์และผลต่อเศรษฐกิจประเมินว่าขึ้นกับ “3 ปัจจัยเสี่ยง” คือ 

1.เวอร์ชวลแบงก์ต้องมี “ข้อมูลจริง” เพียงพอประเมินความเสี่ยงลูกค้าได้ถูกต้องและตั้งราคา (ดอกเบี้ย) สอดคล้องความเสี่ยงหรือไม่ เช่น ข้อมูลรายได้ ข้อมูลพฤติกรรม หรือข้อมูลทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ เพราะข้อมูลที่แบงก์ใช้ประเมินความเสี่ยงลูกค้า หรือ Alternative Data เช่น ข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือ ข้อมูลการซื้อของออนไลน์ ข้อมูลทางเลือกเหล่านี้มีศักยภาพสูงนำมาประเมินการให้สินเชื่อ และดอกเบี้ยตามความสามารถการชำระหนี้ และช่วยบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น

2.ต้นทุนทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้นต่อเนื่องตามการพัฒนาของความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและบุคคลากรทางไอที (IT) มีต้นทุนสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ต้นทุนส่วนนี้ช่วงแรกอาจสูงกว่าเมื่อเทียบการเปิดธุรกิจแบงก์ 

3.ความเสี่ยงของการฉ้อโกง บิดเบือนข้อมูล และการโกงระบบ ซึ่งเป็นเวอร์ชวลแบงก์กิ้งไม่มีสาขา จะจัดการกับความเสี่ยงนี้อย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องระวัง

“เวอร์ชวลแบงก์ไม่ได้ทำให้เม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ยกเว้นจะมีผู้ลงทุนธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์เพิ่มขึ้น แต่มองประเด็นการแข่งขันในระบบการเงินไทย หากเวอร์ชวลแบงก์ทำได้ดีจริง ระบบแบงก์ปกติจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นทำให้บริการให้กลุ่มลูกค้าดอกเบี้ยถูกลงทุน และเข้าบริการทางการเงินได้เพิ่มขึ้น เป็นการเช็กอัปอุตสาหกรรมการเงินของไทย”

“เวอร์ชวลแบงก์” อาจลดปัญหาหนี้ครัวเรือน  

ทั้งนี้ เวอร์ชวลแบงก์จะนำสู่การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระบบได้นั้น เบื้องต้นเวอร์ชวลแบงก์ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าปล่อยกู้ให้คนที่ควรปล่อยในราคาที่ “ต่ำลงกว่าแบงก์” แล้วนำมารีไฟแนนซ์จากแบงก์ดั้งเดิมไปทั้งหมด หากเป็นเช่นนั้นเวอร์ชวลแบงก์จะเข้ามาดิสรัปแบงก์ดั้งเดิมด้วยการตั้งราคา (กำหนดอัตราดอกเบี้ย) ที่สอดคล้องความเสี่ยงแต่ละบุคคลได้จริง (Risk-based pricing) 

รวมทั้งแยก “ลูกค้าดี” และ “ลูกค้าไม่ดี” ออกจากกัน และลูกค้าดีได้รับการลดภาระอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นอาจมีโอกาสเป็นไปได้ช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือน

“กุญแจสำคัญของผู้เล่นเวอร์ชวลแบงก์แต่ละราย คือ “ข้อมูลลูกค้า” ที่นำมาประเมินความเสี่ยงหรือความสามารถการชำระคืนหนี้ของลูกค้าได้ ซึ่งต้องพิสูจน์ว่าข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่นั้นมีประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ได้จริงหรือไม่”

หากดอกเบี้ยถูกจริงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า “ข้อดี” ของเวอร์ชวลแบงก์หากมีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ที่ดีขึ้น และให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ทั่วถึงมากขึ้น ไม่ต้องมีสาขาและด้วยต้นทุนที่ลดลงทำให้ดอกเบี้ยที่ส่งผ่านไปประชาชน “ถูกลง” ได้ 

รวมถึงประสิทธิภาพการพิจารณาและอนุมัติการให้สินเชื่อด้วยระบบอัตโนมัติน่าจะทำได้เร็วขึ้น มองเป็นประโยชน์ของธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์ ซึ่งมองว่าจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน การแข่งขันระหว่างรูปแบบแบงก์ปกติ (ดั้งเดิม) กับเวอร์ชวลแบงก์ มีมากขึ้น ซึ่งยิ่งทำให้บริการและผลิตภัณฑ์การเงินยิ่งดีขึ้น มองว่า เวอร์ชวลแบงก์หากทำให้คนไทยไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินกว้างขวางขึ้น ยิ่งเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์การเงินได้ ด้วยวิธีการวัดเครดิตสกอลิ่ง หรือการวัดความน่าเชื่อถือของผู้กู้ด้วยวิธีการอย่างอื่น

โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือการพิจารณาการสินเชื่อได้ต่างจากที่แบงก์ดั้งเดิมทำอยู่แล้ว จะทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์การเงินที่ดีมีความน่าเชื่อถือ ต้นทุนทางการเงินถูกลงทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ และลดปัญหาหนี้ครัวเรือน

แนะปิดความเสี่ยง“เวอร์ชวลแบงก์”

ขณะที่อีกด้านต้องคำนึงความเสี่ยงของเวอร์ชวลแบงก์ เช่น กรณีเงินกองทุนไม่เพียงพอ , เปิดให้บริการมาไม่นานแล้วปิดทันที, มีแอปพลิเคชันปลอมหลอกลวงประชาชน ดังนั้น ต้องพิจารณาการกำกับดูแลกันว่าจะปิดความเสี่ยงอย่างไร มองว่าการกำกับดูแลเวอร์ชวลแบงก์ให้แข็งแกร่งด้านทุนสำรอง เช่นเดียวกับธุรกิจแบงก์ที่ต้องดูแลเงินฝากประชาชนเพื่อไม่ให้กระทบความเชื่อมั่นของระบบการเงินไทย

“ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เพิ่มขึ้น แปลกใหม่ขึ้น หรือแข่งขันมากขึ้นจากเวอร์ชวลแบงก์ ดังนั้นผู้สนใจหลายรายที่จะมาเป็นผู้เล่นรายใหม่ในระบบสถาบันการเงิน หรือแม้เป็นผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินเช่นเดียวกับแบงก์ แต่เวอร์ชวลแบงก์ให้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่าด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เมื่อในระบบมีการแข่งขันมากขึ้น ประชาชนและระบบเศรษฐกิจไทยยิ่งได้ประโยชน์มากที่สุด" 

ทั้งนี้เวอร์ชวลแบงก์อาจมีสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี เช่น ธุรกิจค้าขายออนไลน์ เพราะปัจจุบันธุรกิจประเภทนี้เข้าถึงสินเชื่อแบงก์ปกติได้ยากและต้องกู้สินเชื่อจากบัตรเครดิตดอกเบี้ยสูงกว่ามาเป็นเงินหมุนเวียน

เอื้อคนนอกเข้าสู่ระบบด้วยต้นทุนต่ำขึ้น 

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การมาของ Virtual Bank ต้องการให้คนเข้าถึงบริการการเงินมากขึ้น เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น โดยเฉพาะผู้เข้าไม่ถึงระบบแบงก์ เพราะโครงสร้างของไทยส่วนใหญ่อยู่นอกระบบที่มีความเสี่ยงมากกว่าหนี้ในระบบ และคนกลุ่มนี้อาจต้องเผชิญหนี้นอกระบบ

ดังนั้น Virtual Bank จะเข้ามาปิดช่องว่างตรงนี้ และเอื้อให้คนนอกระบบเข้ามาสู่ระบบการเงินปกติได้มากขึ้น ด้วยต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงได้

ทั้งนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันกันหรือไม่ ระหว่างแบงก์ดั้งเดิม และ Virtual Bank มองว่าระยะแรกอาจไม่เห็นการแข่งขันมากนัก  เพราะจุดประสงค์ของ Virtual Bank มีลูกค้าแตกต่างกับลูกค้าแบงก์ในปัจจุบัน ดังนั้นคงไม่แย่งลูกค้า แต่ระยะยาวหากทำข้อมูลความเสี่ยง หรืออัตราดอกเบี้ยของ Virtual Bank แข่งขันดอกเบี้ยตลาดได้มากขึ้น อาจมีส่วนเอื้อให้อนาคตอาจเห็นการแข่งขันกันได้

โดยเฉพาะหากเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ดี การให้ดอกเบี้ยเงินกู้ในอนาคตผ่าน Virtual Bank อาจต่ำลง หรือเทียบเท่าดอกเบี้ยแบงก์ในระบบปัจจุบัน ก็จะทำให้แข่งขันกันมากขึ้นระหว่างแบงก์ดั้งเดิมและ Virtual Bank และสุดท้ายอาจเปิดทางให้คนอยู่นอกระบบเข้ามาในระบบแบงก์ได้มากขึ้น

“ประโยชน์ของ Virtual Bank ทำให้คนที่อยู่นอกระบบเข้ามาในระบบมากขึ้น ด้วยต้นทุนการให้บริการที่ถูกลง จากการให้บริการบนดิจิทัล และมองว่าระยะสั้นคงไม่แข่งขับกับธุรกิจแบงก์โดยตรงเพราะเป้าหมายลูกค้าคนละกลุ่ม แต่อนาคตเมื่อลูกหนี้เข้ามาอยู่ในระบบแล้วชำระหนี้ดีขึ้นและได้ดอกเบี้ยถูกลง กลุ่มนี้ท้ายที่สุดระยะยาวจะเป็นลูกค้าแบงก์ได้ ดังนั้น มองว่ามีประโยชน์”