ล่องใต้ฟังเรื่อง … แบงก์ชาติกับการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
ต้น ก.ย. ที่ผ่านมา แบงก์ชาติ สำนักงานภาคใต้ (สภต.) ได้จัดงานสัมมนาประจำปีตามที่สรุปใน web site โดยผู้ว่าการได้กล่าวว่าปีนี้มีการปรับการจัดงานให้ตอบโจทย์ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากขึ้น คือ
1. เรื่องหนี้ โดยคาดหวังให้ประชาชนมีข้อมูลที่ถูกต้องตลอดวงจรหนี้ และ 2. เรื่องภัยการเงิน เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันมิจฉาชีพตลอดทั้งวงจรการหลอกลวง ตั้งแต่การป้องกันจนถึงเมื่อโดนหลอกแล้วประชาชนจะทำอย่างไร
แบงก์ชาติไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่การออกเกณฑ์หรือมาตรการต่าง ๆ แต่ยังติดตามและตรวจสอบการให้บริการของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด รวมทั้งยกระดับการจัดการภัยทุจริตทางการเงินอย่างต่อเนื่องให้เท่าทันมิจฉาชีพ เพื่อป้องกันประชาชนจากภัยการเงิน
คุณอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ขยายความต่อในหัวข้อ “ครบเครื่องเรื่องคุ้มครองลูกหนี้” โดยสะท้อนเป้าหมายของการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน คืออยากให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีตลอดช่วงชีวิต และผู้ให้บริการทางการเงินต้องให้บริการอย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบ
สิ่งที่แบงก์ชาติทำ คือ
1. ออกเกณฑ์ Responsible Lending (RL) เพื่อดูแลตลอดวงจรการเป็นหนี้
2. กำกับดูแลผู้ให้บริการอย่างทันการณ์และใกล้ชิด เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสม
3. ส่งเสริมความรู้ทางการเงินเพื่อปลูกฝังพฤติกรรมและทัศนคติทางการเงินที่เหมาะสม โดยหลักการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องทำครบวงจร ทำถูกหลักการ และต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย
คุณดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน เล่าถึง “แบงก์ชาติกับการป้องกันภัยการเงิน” โดยชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันภัยการเงินมีหลายรูปแบบ สร้างความเสียหายสูงและกระทบคนเป็นวงกว้าง ซึ่งแบงก์ชาติไม่เคยนิ่งนอนใจ มีการออกมาตรการจัดการและป้องกันภัยการเงินอย่างต่อเนื่อง
กรณีถูกขโมยข้อมูลบัตร ถ้าพิสูจน์ได้ว่าลูกค้าไม่ได้เป็นคนทำธุรกรรมเอง ลูกค้าบัตรเดบิตจะได้รับเงินคืนภายใน 5 วัน ลูกค้าบัตรเครดิตจะได้รับการยกเลิกรายการดังกล่าว
กรณี SMS หลอกลวงและแอปดูดเงิน มีมาตรการป้องกัน ได้แก่ ธนาคารงดส่ง SMS ที่มีลิงก์แนบ การสแกนใบหน้าสำหรับธุรกรรมโอนเงินเกิน 50,000 บาท/ครั้ง หรือเกิน 200,000 บาท/วัน การจำกัดให้ลูกค้า 1 คน มี 1 บัญชี Mobile banking และใช้งานได้อุปกรณ์เดียว และธนาคารต้องพัฒนาระบบความปลอดภัยบน Mobile banking อยู่เสมอ
กรณีหลอกให้โอนเงินด้วยตัวเอง ไม่ว่าในรูปแบบใดล้วนใช้บัญชีม้าเป็นเส้นทางเดินเงิน มาตรการที่ออกจึงเน้นจัดการบัญชีม้า โดยแบงก์ชาติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน
1) ร่าง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เพื่อกำหนดโทษบัญชีม้า
2) ร่วมมือพัฒนาระบบ Central Fraud Registry (CFR) ให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเส้นทางการเงินต้องสงสัยข้ามธนาคาร
3) ยกระดับจัดการบัญชีม้าจากระดับ “บัญชี” เป็น “บุคคล” ข้ามธนาคารด้วยมาตรฐานเดียวกัน เพื่อตัดตอนบัญชีม้าไม่ให้มีม้าหมุนไปเปิดใหม่ที่ธนาคารอื่น
การจัดการบัญชีม้าให้มีประสิทธิภาพต้องมีฐานข้อมูลที่แลกเปลี่ยนกันได้ โดยฐานข้อมูลมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ 1. ข้อมูลสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ม้าดำ 2. ข้อมูล CFR หรือ ม้าเทา และ 3. ข้อมูลภายในของธนาคารจากการติดตามบัญชีที่มีพฤติกรรมต้องสงสัย หรือ ม้าน้ำตาล
คุณดารณี ยังได้ทิ้งท้ายว่าแบงก์ชาติไม่หยุดนิ่งและจะดำเนินการต่อ เพื่อช่วยดูแลให้ประชาชนใช้บริการได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยจะกำหนดให้ธนาคารเพิ่มทางเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยมากขึ้นให้ลูกค้าเลือกใช้ได้ตามความต้องการของตัวเอง ซึ่งจะเริ่มเห็นการให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2567
ในช่วงเสวนา หัวข้อ“เสริมภูมิคุ้มกันภัยการเงิน รู้เท่าทัน ป้องกันได้” โดยวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ คุณธวัชชัย ชีวานนท์ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions บมจ. ธนาคารกรุงไทย พ.ต.ท. ธนธัส กังรวมบุตร รองผู้กำกับวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ คุณภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ธปท.
ชี้ให้เห็นว่า ภัยการเงินเป็นเรื่องใกล้ตัว ประชาชนต้องตระหนัก รู้เท่าทัน อาทิ
แอปดูดเงิน มิจฉาชีพมีกลอุบายใหม่ จึงต้องไม่กดลิงก์น่าสงสัย ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมนอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัย ตั้งรหัสผ่านให้คาดเดายาก ตั้ง PIN ของ Mobile banking ต่างชุดกับแอปพลิเคชันอื่น
หมั่นอัพเดทระบบปฏิบัติการของมือถือและ Mobile banking เป็นเวอร์ชันล่าสุด ทั้งนี้ กลลวงบางเรื่องที่เป็นข่าว อาจไม่ใช่เรื่องจริง เช่น กรณีสายชาร์จดูดเงิน และกรณีรับโทรศัพท์แล้วถูกดูดเงิน เป็นต้น
ภัยจากการซื้อของออนไลน์ สามารถสังเกตได้จากความโปร่งใสของเพจ เช่น ระยะเวลาที่เปิด ความถี่ของการเปลี่ยนชื่อ ที่ตั้งของเพจ และมีบริการชำระเงินปลายทางเป็นทางเลือก หากจำเป็นต้องโอนเงิน ต้องตรวจสอบชื่อบัญชี ยอดเงินให้ถูกต้องก่อนโอนเงินทุกครั้ง
ภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีวิธีป้องกันคือ ไม่ตั้งค่าเพิ่มเพื่อนอัตโนมัติ ติดตั้งแอป Whoscall เพื่อช่วยเช็กเบอร์โทรแปลกปลอม สามารถกด *138*1# เพื่อบล็อกสายจากต่างประเทศ ที่สำคัญต้องไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว ไม่โอนเงิน และรีบวางสายหากรู้สึกไม่ปลอดภัย
ภัยจากการถูกหลอกให้เปิดบัญชีม้า ปัจจุบันธนาคารมีการยกระดับความปลอดภัยจากฐานข้อมูลในระบบ CFR และมาตรการอายัดบัญชีเพื่อตัดวงจรบัญชีม้าและสนับสนุนการทำงานของตำรวจ
หากตกเป็นเหยื่อภัยการเงินที่กล่าวมาทั้งหมด ต้องตั้งสติ และให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ AOC ผ่านเบอร์โทร 1441 ศูนย์รับแจ้งเหตุอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ที่คอยช่วยประสานงานไปยังธนาคาร รวมถึงให้คำแนะนำในการแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ
หรือผู้เสียหายอาจติดต่อไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุภัยการเงินของแต่ละธนาคารได้โดยตรง ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อขอระงับธุรกรรมหรือบัญชีชั่วคราวของผู้เสียหายและบัญชีปลายทางไว้
ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานแบงก์ชาติที่ทำเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน เพื่อให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนค่ะ
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด