ส่อง ‘สินเชื่อ’ แบงก์จ่อหลุดเป้าปี67 ‘กรุงเทพ-กรุงไทย‘รับหนี้เสียขาขึ้น
ธนาคารพาณิชย์” รับสินเชื่อปี 67 “โตช้า-ไม่โต” สอดคล้องเศรษฐกิจทรุด“ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินสินเชื่อระบบแบงก์พาณิชย์ไทยปีนี้เสี่ยงหลุดเป้า 1.5% เหตุ “หนี้ครัวเรือน” อยู่ระดับสูง “แบงก์กรุงเทพ” ยันประคองสินเชื่อโต 3% รับ “หนี้เสีย” เป็น “ขาขึ้น”
ในส่วนของการดำเนินธุรกิจของ “ธนาคารพาณิชย์ไทย” ยังคงเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น ภายใต้ “เศรษฐกิจ” ที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัว ขณะที่ “หนี้ครัวเรือน” อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง อีกทั้ง “หนี้เสีย” ในระบบยังสูงขึ้นต่อเนื่อง
ก่อนหน้า “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ออกมาปรับประมาณการ “สินเชื่อ” ระบบธนาคารพาณิชย์เหลือ 1.5% จากระดับเดิมที่ 3% สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวล่าช้าลง ส่งผลการเติบโตทั้งสินเชื่อธุรกิจและครัวเรือนที่มีทิศทางชะลอตัวลง
โดยมองว่า 3 ปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลให้สินเชื่อชะลอลง ทั้งจากความต้องการสินเชื่อที่ชะลอลงทั้ง ธุรกิจและครัวเรือน จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงอยู่แล้ว และสุดท้าย เกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่ยังเข้มข้นต่อเนื่อง
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การเติบโตสินเชื่อทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์อาจโตต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งอาจเห็นการเติบโตต่ำกว่า 1.5% ที่มองไว้ เนื่องจากหากดูตัวเลขการเติบโตของสินเชื่อในช่วง 7 ถือว่าต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากความอ่อนแอของสินเชื่อที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะครัวเรือนที่เห็นการชะลอตัวต่อเนื่อง
"สินเชื่อที่ออกมา สิ้นก.ค.อยู่เพียง 0.1% ดังนั้นภาพมีโอกาสหลุด 1.5% ปีนี้ เพราะดีกรีของความอ่อนแอของสินเชื่อมีมากขึ้น รายย่อยและธุรกิจ สินเชื่อเช่าซื้อชะลอตัวต่อเนื่อง แต่ ยังคิดว่าช่วงที่เหลือของปี น่าจะเห็นสินเชื่อทยอยฟื้นคืนมาได้บางส่วน มีลุ้นว่าจะน่าจะพ้นช่วงที่ติดลบมาที่จะหนุนให้สินเชื่อขยับขึ้นได้"
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ในส่วนการเติบโตสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพปี 2567 ธนาคารยังคงประคับประคองการเติบโตที่ระดับ 3% ภายใต้การคาดการณ์ของจีดีพีที่ระดับ 2.5-3% แต่ยอมรับว่า ในส่วนของ “หนี้เสีย” หรือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ “เอ็นพีแอล” มีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้นบ้าง ภายใต้เศรษฐกิจไทยปัจจุบัน แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ธนาคารสามารถบริหารจัดการได้
“หนี้เสียก็มีเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ยังอยู่ในทิศทางที่บริหารจัดการได้ ก็ไม่ได้เป็นปัญหาที่กังวลใจมากนัก ดังนั้น ก็ต้องประคับประคองและช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ จากทิศทางหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นในส่วนของธนาคารเอง ต้องช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าของธนาคารสามารถกลับมาประคองตัวได้ หรือ สามารถกลับมาลงทุนและขยายธุรกิจต่อได้
ส่วนลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ และน้ำท่วม เบื้องต้นธนาคารมีการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยให้พนักงานสาขาในพื้นที่น้ำท่วมต่างๆ ลงไปช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้า และธนาคารพยายามหาแนวทางต่างๆ เพื่อช่วยเหลือด้านภาระหนี้ของลูกค้าต่อเนื่อง
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ยอมรับว่าสินเชื่อของแบงก์วันนี้อาจไม่ได้เติบโตมากนัก เหตุผลหลักจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และอัปไซด์ที่มีอย่างจำกัด ขณะที่กลุ่มที่เป็น K Shap ขาล่างมีดาวน์ไซด์มากขึ้น
ขณะที่การตอบโจทย์ของธนาคารพาณิชย์ เพื่อซัพพอร์ตธุรกิจไทยที่ออกมาขยายธุรกิจในต่างประเทศมีจำกัด และหากดูระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยแม้จะใหญ่ในประเทศไทยแต่หากเทียบกับแบงก์ในภูมิภาคถือว่ามีขนาดเล็กมาก
อย่างไรก็ตาม ในด้านภาพรวมหนี้เสียถือว่าสะท้อนกับสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ในส่วนของธนาคารต้องพยายามประคับประคองลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้กรอบและกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
“ภาพรวมหนี้ที่ดีไม่ดี จึงขึ้นอยู่กับว่าเขามีรายได้หรือไม่ ภายใต้เศรษฐกิจที่โตจำกัด และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้น เอ็นพีแอลจะมากหรือน้อย คือ ผลลัพธ์ ซึ่งแบงก์ก็ต้องประคับประคองลูกค้าต่อเนื่อง”