ค่าเงินบาทวันนี้ 27 ก.ย.67 ’แข็งค่า‘ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำหนุน

ค่าเงินบาทวันนี้ 27 ก.ย.67 ’แข็งค่า‘ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำหนุน

ค่าเงินบาทวันนี้ 27 ก.ย.67 เปิดตลาด “แข็งค่า“ ที่ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ความหวังเศรษฐกิจจีนฟื้น ทำให้สกุลเงินในภูมิภาคแข็งค่า ขณะที่เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงตามแรงขายทำกำไร มองกรอบเงินบาทวันนี้ 32.35-32.55 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.55 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.55 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวรับสำคัญ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ (กรอบการเคลื่อนไหว 32.35-32.57 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) มีจังหวะปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ แถวโซน 2,685 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ก่อนที่ราคาทองคำจะเผชิญแรงขายทำกำไรและถูกกดดันเพิ่มเติมจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) และ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2

ค่าเงินบาทวันนี้ 27 ก.ย.67 ’แข็งค่า‘ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำหนุน

อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นาน โดยเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงตามแรงขายทำกำไร (Sell on Rally) ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดการเงินโดยรวม อีกทั้งบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ในอีก 2 การประชุมที่เหลือของปีนี้ (ล่าสุด ตลาดมอง BOE อาจลดดอกเบี้ยอีกราว -39bps)

ซึ่งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำอีกรอบ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท 

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทจนทะลุโซนแนวรับสำคัญ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ไม่ได้เหนือความคาดหมายของเรานัก เนื่องจากเรามองว่า ตราบใดที่ราคาทองคำยังพอมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นได้ ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะเห็นการกลับตัวมาอ่อนค่าลงของเงินบาท อีกทั้งในช่วงนี้ ตลาดการเงินก็ดูมีความหวังกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนพอสมควร หลังทางการจีนได้ออกมาย้ำจุดยืนพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ในวันก่อนหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงการถือครองสินทรัพย์ฝั่งเอเชีย หนุนให้ในระยะสั้น สกุลเงินฝั่งเอเชียมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้บ้าง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ (เงินดอลลาร์อาจขยับมาอยู่ตรงกลางของ USD Smile Curve) และเมื่อประเมินในเชิงเทคนิคัลเพิ่มเติม การแข็งค่าทะลุโซนแนวรับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 32.25-32.35 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน โดยจะมีแนวรับถัดไปแถวโซน 32.00 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทควรจะชะลอลงบ้าง หลังราคาทองคำเริ่มเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น และไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องชัดเจน อีกทั้งสัญญาณเชิงเทคนิคัล เริ่มสะท้อนความเสี่ยงของการย่อตัวลงบ้างของราคาทองคำ ทำให้ หากราคาทองคำมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ก็อาจช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท นอกจากนี้ เรามองว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็ไม่ได้มีมุมมองเชิงบวกต่อเงินบาทนัก โดยเฉพาะหากประเมินจากปัจจัยพื้นฐาน ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) ได้บ้าง ดังจะเห็นได้จากการที่เริ่มเห็นแรงขายบอนด์ระยะสั้นจากนักลงทุนต่างชาติออกมาบ้างในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในระยะสั้น อาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบเพิ่มเติม รวมถึงอาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศ อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นพอสมควรในช่วงนี้ 

อนึ่ง เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า ในเชิง Valuation การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าโซน 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะโซนแข็งค่าเกิน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่า เป็นระดับที่ Overvalued (Z-Score ของดัชนีค่าเงินบาท REER เกินระดับ +0.5) ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการอย่างฝั่งผู้นำเข้าควรเตรียมพร้อมปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด (GDP ไตรมาสที่ 2 และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก) นอกจากนี้ บรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ยังปรับตัวขึ้นเป็นส่วนมาก หลัง Micron Tech. +14.7% จากคาดการณ์ผลการดำเนินงานที่สดใสและแข็งแกร่ง ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.60% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.40% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +1.25% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม กลุ่มเหมืองแร่ อาทิ LVMH +9.9%, Rio Tinto +3.6% ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังทางการจีนได้ออกมาย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ ทว่าตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันบ้างจากหุ้นกลุ่มพลังงาน อย่าง Shell -4.6% ที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ หลังมีรายงานข่าวว่า ทางการซาอุฯ อาจยกเลิกเป้าหมายราคาน้ำมัน อีกทั้งซาอุฯ กับกลุ่ม OPEC+ ก็พร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิต  

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 3.80% อีกครั้ง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมก็อยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ในจังหวะ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือโซน 3.80% ซึ่งเป็นแนวต้านสำคัญได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจับตาว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 3.80% ได้อย่างชัดเจนหรือไม่ เพราะการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เหนือโซนดังกล่าวอาจเปิดโอกาสให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับไปแถว 3.90%-4.00% ได้ไม่ยาก โดยมีโอกาสที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเลือกทิศทางที่ชัดเจน หลังการรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกันยายน ในสัปดาห์หน้า 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นในช่วงแรกตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามแรงขายจากผู้เล่นในตลาด ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็ถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังผู้เล่นในตลาดลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ลงบ้าง ส่วนเงินยูโร (EUR) ก็ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 100.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.4-101 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความผันผวนจากการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ รวมถึงแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ได้ส่งผลให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ก็เคลื่อนไหวผันผวนสูงเช่นกัน โดยมีทั้งจังหวะปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ ก่อนที่จะปรับตัวลงแรง และรีบาวด์ขึ้นกลับสู่โซน 2,695 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยโฟลว์ธุรกรรมทองคำ ทั้งฝั่งขายทำกำไรและซื้อตอนย่อตัว ก็มีส่วนทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงคืนที่ผ่านมา 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อ PCE และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ยังมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า เฟดจะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ตามที่ตลาดคาดหวังไว้