‘ทีทีบี‘ ยกระดับแบงก์ สกัดบัญชีม้า เตือนลูกค้า ก่อนโอนเงินให้มิจฉาชีพ

‘ทีทีบี‘ ยกระดับแบงก์ สกัดบัญชีม้า เตือนลูกค้า ก่อนโอนเงินให้มิจฉาชีพ

“ทีทีบี” เร่งยกระดับป้องกันภัยทางการเงิน เตรียมอัปเกรดแอปฯ ขึ้นระบบเตือนลูกค้า ก่อนโอนเงิน หากเข้าบัญชีม้า-มิจฉาชีพ หวังสกัดภัยทางการเงินช่วยลูกค้าตื่นตัวก่อนทำธุรกรรมการเงิน

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า จากภัยทางการเงินในปัจจุบันที่สูงขึ้นต่อเนื่อง และมีผู้เสียหายที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงค่อนข้างมาก

ทำให้ธนาคารต้องตระหนัก และตื่นตัวมากขึ้นในการช่วยลูกค้าธนาคารลดความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะการโอนเงินเข้าบัญชีที่น่าสงสัยว่าอาจเป็น “มิจฉาชีพ” ที่หลอกลวงทางการเงินทุกรูปแบบ

โดยปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างทำระบบ “Realtime Fraud Prevention” หรือ ระบบแจ้งเตือน บนหน้าแอปพลิเคชันโมบายแบงกิ้ง หากพบว่าบัญชีปลายทางที่ลูกค้าจะทำธุรกรรมทางการเงิน หรือโอนเงินเข้าข่ายเป็นบัญชีต้องสงสัย หรือบัญชีม้าดำหรือม้าเทาที่ติดอยู่ในฐานข้อมูล CFR เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายได้มากขึ้น 

“ปัจจุบันธนาคารแอคทีฟมากขึ้นในการสกัดบัญชีม้า และบัญชีต้องสงสัย ที่เข้าข่ายเป็นบัญชีม้า จะเห็นว่าปัจจุบันธนาคารลดบัญชีม้าไดัถึง 28 เท่า ที่มีส่วนช่วยลูกค้าธนาคารจากความเสียหายได้มหาศาล”

นอกจากนี้ สิ่งที่ธนาคารทำต่อเนื่องในการป้องกันภัยทางการเงินคือ การดูวงเงินการโอนเงินของลูกค้าแบบรายบุคคล โดยหากเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบาง

เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ ธนาคารจะจำกัดวงเงินในการโอนลดลงมา เช่น ลดเหลือ 1 หมื่นบาท และก่อนโอนเงินจะต้องสแกนใบหน้าก่อนโอนเงิน และกลุ่มไม่เสี่ยง หรือลูกค้าทั่วไป ธนาคารจะใช้วิธีการแจ้งเตือนก่อนโอนเงิน เป็นต้น แม้ว่ามาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกำหนดเพดานการโอนเงินและสแกนใบหน้าอยู่ที่ 5 หมื่นบาท และไม่เกิน 2 แสนบาท แต่ธนาคารสามารถปรับเปลี่ยนตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มลูกค้าได้

อย่างไรก็ดี แม้จะสามารถจับบัญชีม้าได้ระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่า ตัวที่จะช่วยลดปัญหาการทุจริตทางการเงิน ลดบัญชีม้าคือ การเชื่อมข้อมูลกันทั้งระบบ ภายใต้ฐานข้อมูล Central Fraud Registry (CFR)ที่จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันของภาคธนาคาร ที่จะเป็นตัวสำคัญที่จะลดปัญหาภัยทางการเงินที่เข้ามาให้ลดลงเร็วขึ้น 

ด้านจากข้อมูล ศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า มีการแจ้งความคดีผ่านออนไลน์สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-31 กรกฎาคม 2567 มีคดีรวมทั้งสิ้น 612,603 เรื่อง เฉลี่ย 694 เรื่องต่อวัน มูลค่าความเสียหาย 6.91 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยความเสียหาย 78 ล้านบาทต่อวัน โดยผลการอายัดบัญชี พบว่า มีการขออายัด 463,399 บัญชี ยอดวงเงิน 3.97 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถอายัดได้ทัน 7,428 ล้านบาท