‘รมว.คลัง‘ หารือ ผู้ว่าฯ ธปท. จี้แก้หนี้ครัวเรือน - หวังลดดอกเบี้ยลดหนี้ประชาชน

‘รมว.คลัง‘ หารือ ผู้ว่าฯ ธปท. จี้แก้หนี้ครัวเรือน - หวังลดดอกเบี้ยลดหนี้ประชาชน

‘พิชัย - เศรษฐพุฒิ’ ถกเข้ม จับเข่าคุยหวังลดปัญหาหนี้ครัวเรือน แก้ปัญหาหนี้สินประชาชนกว่า 7 - 8 แสนบัญชีที่ค้างชำระหนี้ ชี้การลดดอกเบี้ยช่วยลดภาระทางการเงินปรับลดลง เป็นผลดีกับผู้กู้เข้าถึงสินเชื่อใหม่ได้ ย้ำ กนง.ต้องชี้แจงได้หากลด - ไม่ลดดอกเบี้ย

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลัง หารือร่วมกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ว่าการหารือร่วมกันวันนี้ ประเด็นหลักคือ การแก้หนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนในส่วนแบงก์รัฐได้ดำเนินการไปแล้ว 

โดยการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนดังกล่าว มีทั้งกลุ่มที่ค้างชำระหนี้ และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลแล้ว ที่มีกว่า 7-8 แสนบัญชี ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ในปัจจุบัน ดังนั้นการแก้หนี้ส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธปท. และแบงก์ที่ต้องหารือรายละเอียดร่วมกัน 
 

นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน ในเรื่อง “ดอกเบี้ยนโยบาย” และค่าเงินบาท โดยมองว่า ในด้านดอกเบี้ย หากดอกเบี้ยลดลง ก็จะเป็นผลดีกับผู้กู้ใหม่ที่มีความสามารถกู้ได้ และยังมีผลที่ตามมาคือ ช่วยให้บอนด์ยีลด์ในระบบการเงินปรับลดลงด้วย แม้จะน้อย แต่ช่วยลดภาระทางการเงินลงได้ 

ทั้งนี้ การตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ว่าตัดสินใจอย่างไร ซึ่งหาก กนง.ตัดสินใจไม่ลดดอกเบี้ย หรือลดดอกเบี้ย ก็ต้องสามารถอธิบายได้ ว่าสาเหตุที่ลด หรือไม่ลด มีเหตุผลอย่างไร

“ในส่วนของกระทรวงการคลัง และธปท.ที่ผ่านมา มีการเข้าใจกันอยู่แล้ว เพราะมองด้านเดียวกัน แต่การแก้ปัญหาต่างๆ ต้องดูผลกระทบต่างๆ ด้วย แม้กระทั่งเรื่องดอกเบี้ย ที่ลดลง กับการมีสภาพคล่องเพื่อให้คนมีโอกาสฟื้นตัว ได้มีโอกาสไปต่อไป แต่หากลดดอกเบี้ยลงเป็นหลักไม่กี่เบสิกพ้อย ผลไม่เยอะ แต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์