ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ต.ค.67 ‘แข็งค่า‘ ตามราคาทองขึ้น -ระวังช่วงรับรู้ผลกนง.

ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ต.ค.67 ‘แข็งค่า‘ ตามราคาทองขึ้น -ระวังช่วงรับรู้ผลกนง.

ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ต.ค.67 เปิดตลาด “แข็งค่า“ ที่ 33.33 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้รับแรงหนุนตามราคาทองปรับขึ้น ภาวะปิดรับความเสี่ยง ของตลาดการเงิน สกุลเงินหลักอ่อนค่า ระวังความผันผวนช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง. มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.20-33.50 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.33 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่ เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.36 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.50 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง.) 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท(USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 33.25-33.38 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงิน และการอ่อนค่าลงของสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) ที่ถูกกดดันจากการปรับตัวลงของตลาดหุ้นยุโรป 

ทว่าเงินบาทก็ยังได้แรงหนุนจากการทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ซึ่งได้อานิสงส์จากการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเชื่อว่า เฟดมีโอกาสราว 98% ที่จะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน 

ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ต.ค.67 ‘แข็งค่า‘ ตามราคาทองขึ้น -ระวังช่วงรับรู้ผลกนง.

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นผลการประชุม กนง. 

โดยหาก กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ตามที่เราประเมินไว้ อีกทั้งไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงโอกาสในการลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งอาจต้องเห็นโทนการสื่อสารของ กนง. ที่มีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น หรือมีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจแย่ลงชัดเจน ภาพดังกล่าวก็อาจทำให้เงินบาทแกว่งตัวในกรอบ sideways ตามเดิม หรือแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยได้ 

ในกรณีที่ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% แต่มีการส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งหน้าที่ชัดเจนขึ้น (ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดต่างคาดการณ์ไว้) เงินบาทก็อาจอ่อนค่าลงเล็กน้อยได้ แต่หาก กนง. “เซอร์ไพรส์” ตลาดรวมถึงเรา ด้วยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง -25bps สู่ระดับ 2.25% พร้อมเปิดโอกาสเดินหน้าลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้พอสมควร โดยเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ทว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทก็อาจถูกชะลอลงบ้าง จากแรงขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้ส่งออก รวมถึงโอกาสที่บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยเข้าซื้อบอนด์ไทยได้บ้าง ในกรณีที่ แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของไทยมีความชัดเจน และที่สำคัญ หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน 

เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มผลประกอบการของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ ธีม AI/Semiconductor หลังล่าสุด ASML เปิดเผยคาดการณ์ยอดขายที่น่าผิดหวัง กดดันให้บรรดาหุ้นในธีม AI/Semiconductor ต่างปรับตัวลงแรง อาทิ AMD -5.2%, Nvidia -4.7% กดดันให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -1.01% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.76% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงกว่า -0.80% กดดันโดยการปรับตัวลดลงของหุ้นธีม AI/Semiconductor นำโดย ASML -15.6% หลังมีรายงานข่าวว่าผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของ ASML อาจออกมาแย่กว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Shell -3.4% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลความเสี่ยงที่อิสราเอลจะโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันของอิหร่าน

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.04% หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินก็มีส่วนกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลง ทั้งนี้ เรายังคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่คุ้มค่าและเหมาะสม

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามความต้องการถือเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) ที่อ่อนค่าทะลุโซนแนวรับ 1.09 ดอลลาร์ต่อยูโร ตามการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นยุโรป ทว่าการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ก็ถูกจำกัดลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดและจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ได้แรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยงและการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 103.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103-103.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับเพิ่มโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนพฤศจิกายน (รวมถึงแนวโน้มการลดดอกเบี้ยในปีหน้า) ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นสู่โซน 2,670-2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย โดยเราคาดว่า กนง. อาจมีมติ 6-1 หรือ 5-2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ทั้งนี้ เราจะจับตามุมมองของ กนง. ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ การปรับคาดการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงการส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของการลดดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งจะเร็วกว่าที่เราประเมินไว้ว่า กนง. อาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า

ส่วนทางฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนกันยายน เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกราว –36bps ครั้งในปีนี้ สะท้อนว่าผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่มั่นใจว่า BOE จะลดดอกเบี้ยได้ถึง 2 ครั้ง หรือ -50bps ในปีนี้

ในฝั่งเอเชีย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจลดดอกเบี้ยลง -25bps สู่ระดับ 6.00% เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของ BSP ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 6.00% เพื่อประเมินผลกระทบจากการลดดอกเบี้ย -25bps ในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้มีโอกาสที่ BI จะส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ ตามแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเช่นกัน ส่วนค่าเงินอินโดนีเซียรูเปียะห์ (IDR) ก็มีเสถียรภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่มีจังหวะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จน BI ต้องขึ้นดอกเบี้ยในช่วงต้นปีนี้

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงรอติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด