‘วิทัย’ เดินภารกิจ ไม่เน้นกำไรสูง แต่มุ่งสร้างโซเชียลอิมแพค ช่วยสังคม

‘วิทัย’ เดินภารกิจ ไม่เน้นกำไรสูง แต่มุ่งสร้างโซเชียลอิมแพค ช่วยสังคม

‘ วิทัย’ ตั้งเป้าขับเคลื่อนแบงก์ สู่การสร้างกำไรที่เหมาะสม เพื่อเอาส่วนที่เหลือไปช่วยสังคม เพื่อทำภารกิจ Social Impact มากขึ้น งัด “เงินดีดี” ลดพึ่งหนี้นอกระบบ-แข่งเวอร์ชวลแบงก์ ช่วยลูกหนี้เข้าสู่ระบบการเงิน

ที่ผ่านมา “ธนาคารออมสิน” ถือเป็นแบงก์อันดับต้นๆ ที่ประกาศจุดยืนการเป็นธนาคารเพื่อสังคมภายใต้การขับเคลื่อนภารกิจสำคัญๆ ให้เกิดกระบวนการทำธุรกิจสร้างสรรค์ และแบ่งปันคุณค่าร่วมสังคม ที่เรียกว่า CSV บนการขับเคลื่อนแบงก์ให้สร้างประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก ตามแนวคิด “เป็นลูกค้าเรา เท่ากับช่วยสังคม” 

วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน ฉายภาพให้เห็นถึง “พันธกิจ” และ “ภารกิจสำคัญ” ที่ธนาคารต้องการขับเคลื่อนไปข้างหน้า โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการขับเคลื่อนธนาคารออมสินในการ Social Impact หรือ ผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมให้กว้างขวางขึ้น และต้องวัดผลได้จริง ทำได้จริง โดยการปรับเปลี่ยนเป้าหมายดำเนินธุรกิจที่ “ไม่เน้นกำไร” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ต้องช่วยสังคมให้มากขึ้น ! 

“วิทัย” เล่าให้เห็นภาพ ว่า แม้ปัจจุบันที่ธนาคารอยู่ในฐานะที่สร้างกำไรสูง สะท้อนจากปี 2566 กำไร 3.3 หมื่นล้านบาท ครึ่งปีแรกปี 2567 กำไรสุทธิหลังหักสำรองอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท แต่เป็นสิ่งที่มองว่า“ไม่ใช่” เพราะที่ผ่านมาธนาคารถูกผูกไว้กับเรื่องกำไร เพื่อใช้วัดผล ดังนั้น เป้าหมายหลังจากนี้ธนาคารจะเดินพันธกิจ โดยสร้าง “กำไร” ที่พอเหมาะพอสม และเอาส่วนที่เหลือไปช่วยสังคมแทน

การเดินภารกิจแบบนี้ได้ มาจากกระทรวงการคลัง จากรัฐบาลที่สนับสนุน และให้ออมสิน ที่ไม่ต้องเอากำไรมาเป็น KPI ในการชี้วัด เพราะไม่เช่นกัน ธนาคารก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก ไม่สามารถช่วยคนได้เต็มที่

 

การเคลื่อนภารกิจของธนาคารหลังจากนี้ปลายทางคือ สร้าง Social Impact โดยการดึงคนเข้ามาอยู่ในระบบการเงิน ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินให้มากที่สุด 

เช่นเดียวกันที่ธนาคารออมสินทำมาในอดีต เช่น ช่วงโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อลูกหนี้เป็นวงกว้าง ธนาคารได้มีการออกสินเชื่อเร่งด่วนในวงเงิน 1-3 หมื่นล้านบาท กับคนที่มีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์ หรือไม่มีเครดิต หรือคนที่ไม่สามารถกู้เงินได้ ไม่เคยมีบัตรเครดิต ไม่เคยมีบ้านมีรถ ที่เป็นการดึงคนเข้าสู่ระบบอย่างแท้จริง

หรือจะเป็นภารกิจในการแก้หนี้สินประชาชน แก้หนี้ข้าราชการ หนี้ครู ที่ล่าสุดธนาคารมีการยกหนี้ไปแล้ว 8 แสนคน จากลูกหนี้ที่กู้ช่วงโควิดคนละ 1 หมื่นบาท เพื่อให้กลุ่มนี้มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการเงิน และสร้างชีวิตทางการเงินใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นการช่วยคนมหาศาลไม่ให้ตกไปอยู่ในกระบวนการยึดทรัพย์ ฟ้องร้องตามมาในอนาคต

แต่การ “ยกหนี้” เป็นเพียงการทำครั้งเดียว เฉพาะลูกหนี้ที่กู้เงินช่วงวิกฤติโควิด 1 หมื่นบาทเท่านั้น ไม่ได้ยกหนี้ให้กลุ่มอื่นๆ หรือทำตลอดไป เพราะสิ่งที่จะตามมาคือ moral hazard หรือพฤติกรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ ที่ธนาคารไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

เหล่านี้คือ ตัวอย่างที่ธนาคารทำในการขยายพันธกิจการสร้าง Social Impact โดยปลายทาง “ธนาคารออมสิน” หวังจะสามารถช่วยเหลือคน ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือลูกหนี้ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 15,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามหาศาล 

ทั้งผ่านการช่วยเหลือผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แก้หนี้ ยกหนี้ กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือลูกหนี้จากภัยพิบัติต่างๆ โดยคาดปีนี้ธนาคารจะสามารถสร้าง Social Impact ได้ราว 20,000 ล้านบาท แต่ทุกปีหลังจากนี้ ธนาคารตั้งเป้าไว้ต้องไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท ทั้งหมดจะถูกส่งไปช่วยเหลือสังคม ช่วยคนฐานราก ชุมชน เอสเอ็มอี ลูกหนี้ทั้งสิ้น

สอดคล้องจากหลายโครงการที่ธนาคารทำและเกิดผลขึ้นแล้ว เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำทั้งหลาย ที่ธนาคารผ่อนเกณฑ์การผ่อนสินเชื่อ ให้คนที่ไม่สามารถกู้เงินได้ ทั้งที่รู้ว่าหากผิดนัดชำระหนี้ “เอ็นพีแอลสูง” ให้กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เพราะธนาคารตระหนักดีกว่า หากใช้เกณฑ์ หรือเครดิตสกอริ่งปกติของสถาบันการเงิน ลูกหนี้เหล่านี้คงไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

ดังนั้น สิ่งที่ “ออมสิน” ทำคือ แม้เอ็นพีแอลสูง แต่หากสร้าง Social Impact ได้ ลดกำไรมาช่วยกลุ่มนี้ได้ เชื่อมั่นว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่รอด และสามารถกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้

“เป้าหมายคือ สร้างกำไรที่เหมาะสมตั้งเป้ากำไรปีนี้ 27,000 ล้านบาท ก็ยังถือว่ามากหากเทียบกับอดีต เพื่อเอาส่วนที่เหลือไปช่วยสังคม เพื่อทำภารกิจ Social Impact ได้มากขึ้น”

ภารกิจหลังจากนี้ มองว่า ธนาคารยังคงอยู่กับการช่วยเหลือสังคม ช่วยลูกหนี้ และการเร่งขยายขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาว ผ่านการบริหารงานแบบกลุ่มบริษัทผ่าน 4 บริษัท ที่จะเห็นการเดินภารกิจมากขึ้นหลังจากนี้

1.บริษัทมีที่มีเงิน ที่เป็นธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มเอสเอ็มอี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด โดยดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาธนาคารคิดดอกเบี้ยต่ำสุดเพียง 7-9% ต่ำกว่าดอกเบี้ยตลาดถึง 13-15% ที่ปัจจุบันคิดดอกเบี้ยขายฝากอยู่ที่ 30-40% โดยบริษัทนี้ถือเป็นโฮลดิ้งของธนาคาร ที่ปัจจุบันธนาคารถืออยู่ 51%

2.บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC เพื่อแก้ไขหนี้ครัวเรือน ที่ปัจจุบันมีการโอนหนี้เสียล็อตแรกไปแล้วกว่า 1.4 แสนบัญชี วงเงินสินเชื่อกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ที่สามารถช่วยเหลือลูกหนี้กว่า 3.5 หมื่นราย และมีแผนโอนพอร์ตหนี้เสียออกไปต่อเนื่องในช่วงต้นปีหน้า เป้าทั้งหมดคือ 4.4 แสนบัญชี มูลค่ารวมกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท

3.บริษัท เงินดีดี จำกัด เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนกลุ่มฐานราก ด้วยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน “Good Money by GSB โดยธนาคารเตรียมเปิดตัว “เงินดีดี” ในเดือนพ.ย.นี้ หลังได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว เมื่อช่วง 3 เดือนก่อน เพื่อปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้เพดานดอกเบี้ยสูงสุด 25% และสินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย หรือ นาโนไฟแนนซ์ เพดานดอกเบี้ยสูงสุด 33% เพื่อเข้าไปปล่อยสินเชื่อกับกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน หรือกลุ่มที่หันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบให้สามารถเข้าสู่ระบบได้

เป้าหมายธนาคารคือ การปล่อยสินเชื่อทั่วประเทศผ่านดิจิทัลเลนดิ้ง ที่จะช่วยให้ธนาคารสามารถดูแลสังคม ดูแลลูกค้า และช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ช่วงแรกตั้งเป้าว่า “เงินดีดี” จะมีส่วนช่วยลูกหนี้ได้ถึง 1 แสนคนช่วงปีแรก 

และอนาคต “เงินดีดี” จะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ที่จะทำให้ธนาคารสามารถแข่งขันกับ “Virtual Bank” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ดังนั้นเป้าหมายของธนาคารแม้จะไม่มีใบอนุญาตหรือไลเซนส์ Virtual Bank แต่จะเป็นแบงก์รัฐที่เร่งตัวเอง ในการปรับตัวด้านดิจิทัลอย่างมากหลังจากนี้ เพื่อให้ธนาคารแข็งแกร่งและอยู่ได้ท่ามกลางคู่แข่งขันที่เข้ามามากขึ้น 

สุดท้าย 4.บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อช่วยพัฒนายกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัล และ AI ของธนาคารในอนาคต ที่จะทำให้ธนาคารมีขีดความสามารถในการให้บริการ การเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นในระยะข้างหน้า...