ชู 3 โมเดลการพัฒนาอย่างยั่งยืน ESG - SDGS - BCG เตรียมรับมือฝ่าวิกฤติด้านสังคม
ชู 3 โมเดลการพัฒนาอย่างยั่งยืน ESG - SDGS - BCG เตรียมรับมือฝ่าวิกฤติด้านสังคม อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า หวังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทย สู่ Business Titans เปิด 3 แนวทาง ลงทุนธุรกิจสมัยใหม่ - สร้างมูลค่าเพิ่มคุณภาพ - ขยายท้องถิ่นสากล เดินหน้าดันเศรษฐกิจไทยเติบโตและรายได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง
ธนาคารกรุงศรี เป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง โดยผ่านการสนับสนุนและการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องโดยในงาน Krungsri Business Forum 2024 ถูกจัดขึ้นภายใต้ธีม "Business Titans: Breaking the Ground to Win" เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยได้พบกับแนวทางและโอกาสใหม่ๆ ท่ามกลางกระแสความท้าทายทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป งานนี้เป็นเวทีที่ให้ทั้งเจ้าของกิจการและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและกลยุทธ์ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจในการปรับตัวเพื่อความยั่งยืนและความสำเร็จในระยะยาว
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของของนุษย์ (พม.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "ภาคสังคมกับการสร้างชาติ" ว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดวิกฤติการทางธรรมชาติ และความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้คน กลุ่มเปราะบาง ได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงวิกฤติประชาการสูงวัย ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีสัดส่วนประชาการสูงวัยถึง 30% ของประชากร ประชากรทั้งประเทศ อัตราการการเกิดน้อยลง แรงงานหดตัว ภาคธุรกิจโตช้า ดังนั้น เศรษฐกิจไทยโตต่ำ นอกจากนี้ แน่นอนว่าใน 10 ปีข้างหน้า คนไทยจะหนีไม่พ้นแก่ก่อนรวย อัตราการพึ่งพิงสูงและยังขาดการออม เพื่อเกษียณอายุ ในทุกช่วงวัยทำให้ GEN Y และ Z จะเป็นเดอะแบกดูแลคนแก่เพิ่มขึ้น ที่กล่าวมาเป็นความท้ายทายของภาคเอกชนไทยว่ามีความพร้อมรับมือแค่ไหน และประเทศไทยจะเป็น Business Titans ได้อย่างไร ตนเองมองว่าขณะนี้มั่นใจว่าประเทศไทยเป็น Titans ไม่ได้แพ้ชาติอื่นๆ ทั้งสหรัฐ จีน และอินเดีย แต่อยู่ที่ว่าจะเป็น Business Titans ในเรื่องไหนมากกว่า
ปัจจุบัน Business Titans ที่เป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศไทย มี 3 ด้าน คือ
- เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (Goals) และหลักการเศรษฐกิจพอเพียง มีความสอดคล้องกัน เพื่อที่จะบรรลุสมดุลของมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเน้นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงระดับโลก โดย SDG INDEX ในปัจจุบันพบว่าไทยเป็น 1 ในอาเซียน, อันดับ 3 ในเอเซีย และอันดับ 45 ในโลก
- ต้นทุน (Capital) ของประเทศไทย เป็นประเทศอันดับ 1 ใน 20 ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในโลก แต่น่าเสียดายพื้นที่ป่าถูกทำลายมากกว่า 67 ล้านไร่ ป่าชายเลนลดลงเหลือ 1.7 ล้านไร่ และระบบนิเวศถูกทำลาย
- นโยบายรัฐ ที่มีการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งมีสัดส่วนใน GDP ถึง 21% และเกี่ยวข้องกับอาชีพและการจ้างงานมากกว่า 17 ล้านคน
พร้อมกันนี้ นโยบายรัฐยังมีเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศ ภายใต้โมเดลพัฒนาใหม่ BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน คือ
- Bio Economy ต่อยอดจากฐานความเข้มแข็ง ด้านทรัพยากรชีวภาพ / ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น พัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีธาตุอาหารสูง หรือน้ำสารสกัด จากพืชมาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
- Circular Economy นำทรัพยากรมาใช้ให้คุ้มค่าที่สุด มุ่งลดปริมาณของเสียให้น้อยที่สุด ด้านการปรับกระบวนการผลิต เช่น ออกแบบเพื่อลดการใช้ทรัพยากร เปลี่ยนของเสียจากการผลิต หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์แล้วมาแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ในการผลิต หรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
- GREEN Economy ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้เอนไซม์จากจุลินทรีย์ฟอกกระดาษ การใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดแมลง ศัตรูพืช ทดแทนสารเคมี
"พบว่า ศักยภาพของเศรษฐกิจชีวภาพระดับโลก มีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านยูโร และประเทศไทยมีความได้เปรียบของแหล่งวัตถุดิบ สามารถใช้เทคโนโลยีมาต่อยอดการผลิตและการดูแลรักษาแหล่งวัตถุดิบ อีกทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมสาขานี้อย่างยั่งยืน คาดการณ์ว่ามูลค่าการลงทุนตลอดแวลูเชนราว 4 แสนล้านบาท"
ดังนั้น ภารกิจของ "กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์" ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงได้วางนโยบาย "แก้ปัญหาวิกฤติประชากร เพื่อความยั่งยืนของประเทศ" ด้วยนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร มี 5 เสาหลัก และมี 5 มาตรการย่อย ได้แก่ 1.) เสริมพลังวัยทำงาน 2.) เพิ่มคุณภาพ และผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3.) สร้างพลังผู้สูงอายุ 4.) เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าผู้พิการด้วยเทคโนโลยี และ 5.) สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว
ด้วยวิกฤติประชากร อีกไม่เกิน 10 ปี ผู้คนจะเจอปัญหานี้เป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ คือประชากรไทยลดลง สัดส่วนของวัยทำงานลดลง ต้องอาศัยประชากรที่มีคุณภาพสูงกว่าในปัจจุบัน ทำให้คนที่จะได้รับผลกระทบคือ คนกลุ่มเปราะบาง สูงอายุ และผู้พิการ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องมีการพัฒนาทุนมนุษย์
"ถ้าหากสามารถแก้ไขปัญหา 5 เสาหลักดังกล่าวได้ จะสามารถพัฒนาศักยภาพของประชากรเดิมและเพิ่มประชากรที่จะเป็น New DNA ใหม่ของโลกเข้ามาตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ"
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคธุรกิจเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เนื่องจากภายในปี 2573 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของ SDGvvS ทำให้บริษัทที่ไม่มีแนวคิด ESG จะกลายเป็นบริษัทที่ไม่ได้การยอมรับ และเสียโอกาสในการลงทุน
แต่ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นทางด้าน E และ G แต่ในเรื่องของ S หรือการพัฒนาธุรกิจควบคู่กับสังคมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเปราะบางในสังคมไทย ได้แก่ คนสูงอายุ ผู้พิการ เด็กเล็ก ยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องใช้กำลังทรัพย์ในการทำด้วย
ท้ายสุด "นายวราวุธ" เชื่อมั่นว่า การทำธุรกิจภายใต้กรอบ ESG ที่มีความสอดคล้องกับหลัก SDGS ของสหประชาติ และตามกรอบการพัฒนาธุรกิจใหม่ BCG Mod ที่รัฐบาลได้กำหนดไว้จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยทำให้ประเทศไทยนั้นเป็น Titans แต่ไม่ใช่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องสร้างผลกำไรเท่านั้น แต่เป็น Titans ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความสุขของคนไทยทุกคน ทั้งคนรุ่นใหม่ และรุ่นใหญ่จับมือเดินไปด้วยกัน
นี่คือ "Business Titans ของประเทศไทย" ที่จะรวมพลังกัน สร้างสังคมและสร้างชาติที่มีความเข้มแข็ง และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บรรยายพิเศษในหัวข้อ "ทิศทางเศรษฐกิจการเงินไทย" ว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญหลากหลายปัญหาจับตรงไหน แตะตรงไหน ดูเหมือนจะเป็นปัญหาไปหมดในระยะต่อไป แต่หลังจากนี้มองว่าประเทศไทยต้องเดินหน้าอย่างไรให้เติบโต และทั่วถึง เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณากัน
ปัจจุบันพบว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยเผชิญ 4 เรื่องใหญ่ ดังนี้
- เศรษฐกิจไทยโตช้าลง แนวโน้มเศรษฐกิจไทยโตช้าลง โดยเฉพาะหลัง Shock ใหญ่ ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง (ปี 2523-2539) จีดีพีไทย เติบโตถึง 7.8% และหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง (ปี 2542-2553) จีดีพีไทย เติบโตลดลงมาอยู่ที่ 4.6% ต่อมาเผชิญกับวิกฤติการเมืองไทย (ปี 2556-2562) จีดีพีไทย เติบโตลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 3% ขณะที่ปัจจุบันปี 2567 จีดีพีไทย ยังฟื้นตัวกลับมาเติบโตไม่ถึงช่วงก่อนปีวิกฤติโควิด-19 แต่ยังสอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตช้าลงเช่นกัน แต่เมื่อเทียบกับรายได้ของประเทศที่เติบโตลดลง ยิ่งทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตต่ำกว่าเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน
-
ศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยลดลง ทั้งจากการส่งออกที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญแข่งขันได้ยากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเติบโตจากการส่งออกที่เป็นกลไกหรือเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต แต่เมื่อการส่งออกมีการแข่งขันยากขึ้น และเริ่มชะลอตัวลงทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้าลงด้วย และเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยลดลง แม้ว่าสัดส่วนเงินลงทุน FDI ของไทยไม่ได้ลดลง แต่สัดส่วนเงินลงทุน FDI เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ที่มีสัดส่วนสูงขึ้น เนื่องจากประเทศเหล่านั้นได้รับเงินลงทุน FDI เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศไทยกลับได้รับลดลง และการผลิตลดลง เพราะหลัง วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการลงทุนต่ำลงต่อเนื่องเมื่อเทียบในอดีต
-
กำลังแรงงานลดลง ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ทศวรรษ หรือ 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กำลังเผชิญ สังคมสูงวัย กำลังแรงงานน้อยลง ทักษะไม่ตรงกับธุรกิจโลกยุคใหม่ และแรงงานส่วนใหญ่ราว 80% อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพต่ำคือ ภาคเกษตรและบริการ แม้การแก้ไขปัญหาด้วยต้องโยกแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพต่ำไปสูง เช่น จากภาคเกษตรไปสู่ภาคการผลิต แต่แนวทางดังกล่าวมองว่ายังทำยาก จึงต้องหันมาเพิ่มประสิทธิภาพภาคบริการสูงขึ้น
-
กระจายรายได้ไม่ทั่วถึง จากปัญหาดังกล่าวที่กล่าวมาแล้ว ส่งผลทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจมีการกระจายรายได้ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะครัวเรือนในส่วนภูมิภาคพบว่า รายได้กระจุกตัวอยู่กับธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่ ธุรกิจ SME มีส่วนแบ่งรายได้น้อย ทำให้ธุรกิจรายใหม่มีอัตราการเลิกกิจการเร็วขึ้น เป็นอีกโจทย์ที่ต้องแก้ไขปัญหา
เนื่องจากเมื่อผ่านมา 10 ปี จะพบว่า ธุรกิจรายใหม่มีอัตราการเลิกกิจการเร็วขึ้น ในปี 2559 มีอัตราการเลิกกิจการ 10.5% แต่ในปี 2558 มีอัตราการเลิกกิจการสูงขึ้นเป็น 12.2% ซึ่งที่สำคัญของธุรกิจรายใหม่อยู่รอดเกิน 5 ปี ยากขึ้น จากการแข่งขันกับธุรกิจยากขึ้น
แล้วต่อจากนี้จะเดินหน้าอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและรายได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง แน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตแบบเดิมไม่ได้ ต้องสร้างการเติบโตใหม่ 3 ด้าน ดังนี้
- ต้องลงทุนในภาคธุรกิจที่มีศักยภาพในโลกยุคใหม่มากขึ้น เช่น บริการสมัยใหม่ (modern service) ได้แก่ 1.) ข่าวสาร และการสื่อสาร 2.) กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 3.) การศึกษา และ 4.) กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ รวมถึงการยกระดับธุรกิจแบบดั้งเดิมด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ พัฒนาศักยภาพภาคการเกษตรและการผลิตแบบสมัยใหม่
- ต้องเน้นการสร้างมูลค่าจากการเพิ่มคุณภาพ เช่น การยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เน้นคุณภาพ ตัวอย่างเช่น wellness tourism, medical tourism, responsible tourism โดย Global Wellness Institute (GWI) คาดว่ามูลค่า wellness tourism จะโตเร็วกว่าการท่องเที่ยวภาพรวมถึง 43% ค่าใช้จ่ายต่อทริปเฉลี่ยสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปราว 35% และรายได้ลูกจ้างโดยเฉลี่ย เช่น ผู้ช่วยพยาบาล และพยาบาล อยู่ที่ 15,000-22,000 บาท ต่อเดือน เมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ สถานการณ์ปัจจุบัน ก่อนโควิด-19 มีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน แต่หลังโควิด-19 ปี 66 ยังไม่ถึง 30 ล้านคน ค่าใช้จ่ายต่อทริปมีแนวโน้มลดลง ก่อนโควิด-19 เคยอยู่ราว 48,000 บาท หลังโควิด-19 ปี 2567 (มกราคม ถึงสิงหาคม) อยู่ที่ราว 39,000 บาท ส่วนหนึ่งเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเปลี่ยนพฤติกรรมเที่ยว และรายได้ลูกจ้างโดยเฉลี่ย พนักงานโรงแรม อยู่ที่ 13,295 บาทต่อเดือน (ไตรมาส 2/2567)
- ต้องเติบโตจากท้องถิ่นให้มากขึ้น การเติบโตจากท้องถิ่นช่วยเพื่อขยายฐานกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กว้างขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในการพัฒนาท้องถิ่น ที่ไม่ใช่แค่การให้ความช่วยเหลือ แต่ต้องปลดล็อกเพิ่มศักภาพในท้องถิ่น เพราะว่าปี 2553-2563 ยังพบว่า อัตราการขยายตัวของรายได้ต่อหัวใน "ท้องถิ่น" เพิ่มขึ้นสูงกว่าใน "กรุงเทพฯ" ในขณะที่ในท้องถิ่นทั้งจำนวนประชากรและสถานประกอบการยังมีจำนวนน้อยและต่ำกว่าในกรุงเทพฯ แต่มองว่าหากมีขยายการลงทุนในท้องถิ่นเพิ่มเติมก็ยังมีการเติบโตสูงกว่าในกรุงเทพฯ
นายกฤษฎ์เลิศ กล่าวเพิ่มเติมถึงการลงทุนในท้องถิ่นของภาคธุรกิจว่า การลงทุนนั้นอยากให้เป็นท้องถิ่นที่ต้องแข่งขันได้ ด้วยการเป็นท้องถิ่นที่สากล (Globally Competitive Localism) นั่นคือท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง ด้วยการใช้เอกลักษณ์และจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ที่มีความต่างกันเป็นจุดเด่น ทั้งด้านทรัพยากร ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และมีความเป็นสากลคือมีความสามารถแข่งขันได้ ต้นทุนต่ำลง มูลค่าเพิ่มขึ้น แล้วจะทำให้เกิดท้องถิ่นที่สากล ได้อย่างไรนั้น มองว่า ต้องเป็นนโยบายแบบเฉพาะเจาะของแต่ละพื้นที่ เพื่อเข้ามาช่วยลดต้นทุนให้ธุรกิจท้องถิ่นอยู่รอด แข่งขันกับธุรกิจใหญ่ได้ ภายใต้ 6 นโยบายสนับสนุน ดังนี้
- เชื่อมตลาด เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนลดลง
- สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น สร้างเอกลักษณ์ในตัวผลิตภัณฑ์ สินค้าท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงแหล่งที่มา (Geographical Indication หรือ GI)
- ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ ในลักษณะที่ใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายให้เกิดประโยชน์ Win-Win
- ทำให้เมืองรองโต (Urbanization)
- ให้ท้องถิ่น สามารถจัดการตัวเองได้มากขึ้น (Empowerment) เพื่อให้เกิดนโยบายตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ (Tailor-made policies)
- สร้างระบบ ติดตาม พัฒนา หรือความเจริญท้องถิ่น
"แต่ละท้องถิ่นควรมองหาความแตกต่างของตัวเอง เพื่อพัฒนาธุรกิจที่ต้องบริหารจัดหารตัวเองให้ดีขึ้น อย่างเวียดนามแต่ละท้องถิ่นมีการแข่งขันขันสูง เพื่อที่จะดึงเม็ดเงิน FDI เข้ามาลงทุนในท้องถิ่นของตัวเอง ซึ่งการแข่งขันทำให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นในแต่ละจังหวะ แต่ควรที่จะมีระดับติดตามพัฒนาการ มีตัววัดความเจริญ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแม้ว่าการเมืองในประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลงไป และที่สำคัญการใช้นโยบายรัฐเข้ามาสนับสนุนอย่างเดียวนั้นคงทำไม่ได้ ยังต้องมีนโยบายการเมืองและการปกป้องท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนร่วมด้วย"
นายกฤษฎ์เลิศ เน้นย้ำว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ เติบโตแบบเต็มไม่ได้เพราะการเติบโตจากจำนวนแรงงานที่มีมาก แต่ไม่ได้มีแรงงานมากแล้ว ในขณะที่ลงทุนน้อย และเดิมการเติบโตกระจุกที่กรุงเทพฯ และธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งเป็นการโตบนฐานที่แคบโอกาสโตอีกจะน้อย ดังนั้นท้ายที่สุดฝากว่า การลงทุนในภาคธุรกิจที่มีศักยภาพในโลกยุคใหม่ การสร้างมูลค่าจากการเพิ่มคุณภาพ และการเติบโตจากท้องถิ่นให้มากขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตดีกว่าที่ผ่านมา และช่วยให้ผลจากการเติบโตกระจายไปสู่คนหมู่มาก เพราะเป็นการเติบโตด้วยคุณภาพ เติบโตบนฐานที่กว้างขึ้น และแข่งขันได้
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงศรี เป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญให้กับผู้ประกอบการไทย ทั้งในด้านการจัดหาเครื่องมือและการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของ SME ตลอดจนการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการให้คำแนะนำด้าน ESG และการเงินที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้กรุงศรีฯ ยังมีบทบาทสำคัญในการนำเทคโนโลยี เช่น AI มาใช้ในเชิงธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง
การจัดงานสัมมนา Krungsri Business Forum ทุกปีจึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความตั้งใจของกรุงศรีฯ ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจไทย โดยการแบ่งปันความรู้และแนวทางใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เพื่อช่วยให้ทุกคนพร้อมรับมือกับความท้าทายและขยายโอกาสในการเติบโตในระยะยาว