สมาคมธนาคาร จ่อออกมาตรการ อุ้มหนี้ค้างชำระไม่เกิน1 ปี ‘บ้าน - รถ - เอสเอ็มอี’
สมาคมแบงก์ " ร่วมแก้หนี้ครัวเรือน กลุ่ม " บ้าน - รถ - เอสเอ็มอี " ฟื้นตัวได้ คาดแก้หนี้ค้างชำระไม่เกิน 1 ปี โดยกำหนดการช่วยเหลือยาว 3 ปี
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb หนึ่งในตัวแทนของสมาคมธนาคารไทย ที่มีการเข้าหารือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา เพื่อหามาตรการร่วมกันในการแก้หนี้ครัวเรือน
โดยเบื้องต้น สมาคมธนาคารไทย เตรียมจะออกมาตรการทางการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในเร็วๆ นี้ หลังการหารือมีข้อสรุปแล้วในเบื้องต้น
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้ในครั้งนี้ มุ่งแก้ปัญหาหนี้เฉพาะสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถ และเอสเอ็มอีเป็นหลัก สำหรับคนตัวเล็ก และกลุ่มเปราะบาง
โดยการช่วยเหลือดังกล่าวลูกหนี้ กลุ่มที่เข้าเกณฑ์คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้มีสินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน ที่มีปัญหาในการชำระหนี้
โดยมียอดค้างชำระไม่เกิน 360 วัน หรือ 1 ปี และต้องเป็นผู้ที่มีปัญหาการชำระหนี้มาแล้วก่อนที่มาตรการทางการเงินนี้จะออกมา
เบื้องต้น รายละเอียดมาตรการจะออกมาในเร็วๆ นี้ ซึ่งหากผู้กู้ที่มีปัญหาชำระหนี้เข้าสู่กระบวนการแก้หนี้ต่างๆ จะได้รับการช่วยเหลือด้านดอกเบี้ย โดยจะพักชำระดอกเบี้ย ผ่อนชำระเงินต้นเท่านั้น และหากสามารถทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็จะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยในส่วนที่พักไว้ แต่หากไม่สามารถชำระได้ตลอดเงื่อนไข ดอกเบี้ยที่พักไว้ก็จะยังคงอยู่เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาตรการดังกล่าวก็จะมีผลกระทบส่วนหนึ่ง โดย จะต้องมีการหยุดก่อหนี้ระยะหนึ่ง หากไม่สามารถทำได้ก็จะยุติการพักดอกเบี้ย และต้องกลับเข้าสู่สถานะการผิดนัดชำระหนี้ตามเดิม
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวคงจะเป็นมาตรการระยะยาวใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี เพื่อให้ลูกหนี้กลับมาฟื้นตัวได้ ซึ่งการทำมาตรการเหล่านี้ สมาคมธนาคารไทยตระหนักดีกว่า มักมีผลข้างเคียง
ดังนั้นหากไม่จำกัดการก่อหนี้เพิ่มก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนได้อีกด้านก็อาจทำให้เกิดพฤติกรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ขึ้นได้
“หากให้เปรียบเทียบครั้งนี้ก็เหมือนไปรักษาคนที่เป็นมะเร็งแล้ว ต้องมีการให้คีโม เพื่อให้คุณมีโอกาสรอด และมีชีวิตกลับมาทำมาหากินได้ แต่ก็ต้องทำใจเช่นกันว่า มีส่วนหนึ่งที่จะกลับมาไม่ไหว เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ถือว่าไม่น้อย ซึ่งหากดูตัวเลขหนี้เสียของระบบปัจจุบันอยู่ที่ 3%”
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการแก้หนี้ต่างๆ จะออกมามีผลบังคับใช้ก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งมั่นใจว่าหากมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนเหล่านี้เริ่มออกมาบังคับใช้น่าจะดีกับลูกหนี้ และระบบธนาคาร เพราะแม้จะกระทบกับธนาคาร
แต่เชื่อว่าหากลูกหนี้ไปต่อได้ท้ายที่สุด ก็จะส่งผลดีกับธนาคาร และระบบเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ดังนั้น การร่วมมือกันครั้งนี้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเป็นการเสียสละร่วมกันทั้งระบบเศรษฐกิจ ที่ตระหนักดีกว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนปัจจุบันถือเป็นปัญหาที่ใหญ่ หากไม่เร่งแก้ไขก็สถานการณ์ต่างๆ อาจแย่ลงจนอาจกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมตามมาได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์