‘ศุภวุฒิ’ เตือนระวังจีนส่งต่อ ‘เงินฝืด’ เข้าไทย
‘ศุภวุฒิ’ ชี้ ‘ทรัมป์’ มาสะเทือนไทย เตือนระวังจีนส่งต่อ ‘เงินฝืด’ เข้าไทย หากทรัมป์ดูประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ ไทยอาจติดอยู่ใน 20 อันดับ ที่อาจถูกปรับเพิ่มกำแพงภาษี จากการเกินดุลการค้ากับสหรัฐจำนวนมาก
ชัยชนะของ “โดนัลด์ ทรัมป์” นำเขาขึ้นสู่เป็นประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 บวกกับ “พรรครีพับลิกัน” ที่ยังครองเสียงข้างมากทั้งในสภาบน และสภาล่าง ทำให้ “ทรัมป์” ถือเป็นผู้ที่มีบารมีสูงสุดของโลกในเวลานี้... ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายที่เขาพูดเสมอมา คือ Make America Great Again “สหรัฐอยู่ได้ ด้วยตัวเองค่อนข้างมาก” นั่นแปลว่าหลังจากนี้ “ทรัมป์” จะนำสหรัฐ หันมาค้าขายทำธุรกิจกันในประเทศมากขึ้น พึ่งพาประเทศต่างๆ น้อยลง
ล่าสุด รายการ “กรุงเทพธุรกิจ DEEP Talk” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทรกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
“ศุภวุฒิ” มองว่า การมาของ “ทรัมป์” ครั้งนี้ !! ไม่ใช่ส่งผลเฉพาะเศรษฐกิจด้านเดียว แต่จะเป็นการเปลี่ยน “ระเบียบโลก” เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผลใหญ่โต “มหาศาลมาก” จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐ ครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งในเชิงของภูมิรัฐศาสตร์ ในเชิงของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในเชิงของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวแล้ว เพราะเขาไม่ต้องการให้สหรัฐ ไปพึ่งโลก และไม่ต้องการให้โลกพึ่งสหรัฐ สะท้อนภาพที่ทรัมป์พูดบ่อยๆ ว่า Make America Great Again สหรัฐ อยู่ได้ ด้วยตัวเองค่อนข้างมาก และควรอยู่ด้วยตัวเองด้วย
เหล่านี้อาจหมายถึงว่า หลังจากนี้การตั้งกำลังการผลิตสินค้าใดในสหรัฐ จะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป คนต่างชาติที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย อาจทำมาหากินยากมากขึ้น เพราะว่าสหรัฐ อยู่ได้ด้วยตัวเอง ทำให้กระทบทั้งระบบ กระทบต่อการค้าเสรีที่มีอยู่ในประเทศในโลกปัจจุบัน ที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อ globalization หรือ โลกาภิวัตน์ ที่มีความเชื่อมโยงกันกับของเศรษฐกิจทั่วโลก
ดังนั้น ครั้งนี้ยังอาจนำไปสู่การเกิด “สุญญากาศ” ในระเบียบโลก ที่จะนำมาสู่ความไม่แน่นอน เกิดความเสี่ยงของระเบียบโลกที่จะเพิ่มขึ้น
หรือนัยทางเศรษฐกิจ การประกาศของทรัมป์คือ ไม่ต้องการเห็นสหรัฐ ขาดดุลการค้ามาก หากขาดดุลจะมีการขึ้นภาษีศุลกากรจนกว่าจะหายขาดดุล เช่น การขาดดุลจากประเทศจีนปีละหลายแสนล้านดอลลาร์ ที่อาจนำไปสู่การเก็บภาษีจีนเพิ่มขึ้นเป็น 60% ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่ขาดดุลน้อย หรือประเทศที่เป็นมิตรอาจเก็บภาษีที่ราว 10-20% การเก็บภาษีจึงสะท้อนว่า “สหรัฐ” อาจไม่ได้ต้องการทำการค้าระหว่างประเทศมากนัก ซึ่งหากดูการนำเข้าของสหรัฐ ทั้งหมดปัจจุบันอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นมูลค่ามหาศาล
ดังนั้น “เทรดวอร์” รอบนี้ หนักกว่ารอบที่ผ่านๆ มาอย่างแน่นอน เพราะครั้งนี้จะมากกว่าสงครามการค้า ทรัมป์จะไม่สนใจระเบียบโลกที่มีอยู่ปัจจุบัน จะถอนสหรัฐ ออกไปมากกว่าสมัย “โจ ไบเดน” ชัดเจนมากขึ้น หรือการถอนตัวจาก ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) นาโต หรือในภูมิภาค เพื่อลดทอนบทบาทของสหรัฐ ในเวทีโลก การทำเช่นนี้อาจทำให้เกิดการออกมาตอบโต้ของประเทศต่างๆ จนอาจทำให้เกิดผลกระทบค่อนข้างรุนแรงมากกับเศรษฐกิจโลกในด้านการค้าระยะข้างหน้า
การมาของทรัมป์ครั้งนี้ ส่งผลต่อ “ตลาดเงิน-ตลาดทุน” ค่อนข้างมาก ดูจากการตอบรับของตลาดที่กังวลในประเด็นเรื่อง “เงินเฟ้อ” สะท้อนผ่านการปรับขึ้นของผลตอบแทนของพันธบัตร 10 ปี หรือดอกเบี้ยระยะยาวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้ตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า ภายใต้การทำนโยบายของทรัมป์ จะทำให้สหรัฐ มีปัญหาเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อกว่าเดิม จากอัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้น
“ศุภวุฒิ” มองต่อว่า หากกลับมามองที่ “ภาคเศรษฐกิจไทย” ไทยอาจไม่ได้ประโยชน์จากการ “ย้ายฐานการผลิต” เพื่อหนีการขึ้นกำแพงภาษีมากนัก เพราะการย้ายฐานการผลิตต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้น อย่าหวังตรงนั้นมากนัก
แต่ในทางกลับกันไทยเองคงถูกผลกระทบทางการค้าสหรัฐ ครั้งนี้เช่นกัน จากการปรับเพิ่มกำแพงภาษี เพราะไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ มหาศาล โดยปีก่อนไทยส่งออกไปสหรัฐกว่า 48,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่นำเข้าเพียง 19,000 ล้านดอลลาร์
ดังนั้น หากทรัมป์ดูประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ ประเทศไทยอาจติดอยู่ใน 20 อันดับ ที่อาจถูกปรับเพิ่มกำแพงภาษี จากการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ จำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าในที่สุดแล้วไทยเองก็คงต้องเจรจาทางการค้าร่วมกับสหรัฐในระยะข้างหน้า เช่นเดียวกันประเทศอื่นๆ
“เศรษฐกิจไทย” ภายใต้การกลับมาของทรัมป์ จะเผชิญสถานการณ์ที่ “ยากขึ้น” ในการพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย เพราะต้องยอมรับความจริงว่า การที่ทรัมป์เข้ามาไม่ได้เป็นผลบวก เพราะในทางตรงอาจมีการเก็บภาษีสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐเพิ่มขึ้น และสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย ราว 48,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นจีดีพีราว 5-6 แสนล้านดอลลาร์ (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน) ดังนั้น การส่งออกไปสหรัฐประเทศเดียวคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 10% ของ “จีดีพีประเทศไทย”
ดังนั้น ผลกระทบนี้ถือว่าใหญ่มาก ที่เป็นผลกระทบโดยตรง ขณะที่ผลกระทบโดยอ้อมก็มีค่อนข้างมาก เพราะการค้าจะหดหายลงไป จากนโยบายของทรัมป์ เพราะอเมริกาเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ไทยหรือประเทศอื่นๆ ส่งออกไปสหรัฐ ได้ยากขึ้น ทำให้ประเทศต่างๆ มีกำลังซื้อสินค้าเราน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรืออียูที่จะถูกกระทบเช่นกัน
ดังนั้น การขับเคลื่อน “ภาคส่งออก” ของไทยในปี 2568 ที่หวังว่าจะเติบโตได้ระดับ 3-4% อาจไปไม่ถึงหรือไม่... จากปีนี้ที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโตได้ราว 2.5-2.8%
เปิดทางรอด ‘ไทย’ เร่งตั้งรับ - ปรับตัวมุ่งสู่เศรษฐกิจบริการ ‘มูลค่าสูงขึ้น’
“ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” มองต่อว่า สำหรับทางรอดของ “ประเทศไทย” ครั้งนี้ !! คือ ต้องหาทางตั้งรับ และกลับไปคิดออปชันเพิ่มเติมว่าจะทำอย่างไร เพราะปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพา “การส่งออกสินค้า” เป็นหลัก
ต้องกลับมา ทบทวนว่า ไทยจะหันมาส่งออกบริการดีกว่าหรือไม่ ที่ไม่น่าจะถูกเก็บภาษี เช่น การท่องเที่ยว หรือการทำ Wellness เพราะคนอเมริกาชอบอาหารไทย ชอบมาไทยที่อาจไม่โดนเก็บภาษี หรือกลับมาพิจารณาว่าสินค้าที่จะโดนเก็บภาษีน้อยที่สุด เช่น กลุ่มอาหารเพื่อไปอยู่ในแวลูเชนที่สูงขึ้น ดังนั้น แนวคิดระยะยาวของไทย อาจต้องปรับตัวไปสู่ “เศรษฐกิจภาคบริการ” ที่มีมูลค่าสูงมากขึ้น
“โอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยไปสู่ระดับ 3% ในปีหน้า มองว่าความง่ายลดลง แต่ความยากเพิ่มขึ้น เดิมหากไม่ใช่ทรัมป์ก็มองว่า การเติบโตเศรษฐกิจไปสู่ระดับ 3% ก็อาจเป็นไปได้ แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่า ต้องลงแรง ลงความสามารถเพิ่มขึ้นเศรษฐกิจถึงทำได้ 3%”
สำหรับ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทย ภายใต้ดอกเบี้ยขาลงของสหรัฐ สิ่งที่เห็นมาโดยตลอด คือ “เงินเฟ้อ” ของไทยต่ำกว่าเป้าค่อนข้างมาก และเป้าอยากให้เห็นที่ระดับ 2% (ภายใต้เป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3%) ไม่ใช่เข้าเป้าที่ 1% ก็คิดว่าเพียงพอแล้ว ซึ่งตอนนี้เราห่างจากระดับ 2% มากปีนี้ โดยทั้งปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่เพียง 0.5% เท่านั้น
ฉะนั้น เงินเฟ้อที่ต่ำแต่ดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่า 2% กว่าๆ ถือเป็น “ดอกเบี้ยนโยบายจริงสูงเกินไป” ที่ความเห็นส่วนตัวมองว่า “มันเป็นอุปสรรค”ต่อการฟื้นเศรษฐกิจ
ไม่เพียงเท่านั้น ยิ่ง “ทรัมป์” ทำนโยบายต่างๆ ที่บอกไว้ตั้งแต่ต้น ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ว่าเศรษฐกิจจีนที่ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่มากใกล้ชิดกับไทยค่อนข้างมาก และไทยพึ่งพาการนำเข้าจากจีนถึง 70,000 ล้านดอลลาร์ ดังนั้นการที่เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะต่ำมาก และอยู่ในภาวะที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่า เข้าใกล้จาก “เงินฝืด” แล้ว
ดังนั้นจีนอาจส่งออก “เงินฝืด” มาให้ประเทศไทย ผ่านการส่งออกของจีน ผ่านการนำเข้าของไทยได้ ดังนั้นความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากแรงกดดันให้เกิดภาวะเงินฝืดจากจีนส่งมาที่ไทย
“มองว่าการ “ลดดอกเบี้ย” ไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพราะเงินเฟ้อปัจจุบันต่ำกว่าเป้ามาก โดยเฉพาะห่างกับเป้าจริงที่ 2% ไม่ใช่ 1% สองภายใต้ที่ถูกจีนถูกสหรัฐ บี้มากขึ้น ก็จะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์