‘ดอลลาร์’ แข็งค่ามากสุดในรอบ 1 ปี โมเมนตัม ‘ทรัมป์ 2.0’ บังทิศทางดอกเบี้ยเฟด
โมเมนตัม ‘ทรัมป์ 2.0’ ดัน ‘ค่าเงินดอลลาร์’ แข็งค่ามากสุดในรอบ 1 ปี พุ่งแข็งค่าขึ้นเป็นครั้งที่ 4 หลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง
บังทิศทาง ‘ดอกเบี้ย’ ของเฟด ส่วน ‘เงินบาท’ อ่อนสุดรอบ 3 เดือน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานความเคลื่อนไหวของ “ค่าเงินดอลลาร์” ฟื้นตัวขึ้น แข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี เนื่องจากโมเมนตัมชัยชนะการเลือกตั้งของ “โดนัลด์ทรัมป์” ซึ่งพุ่งแข็งค่าขึ้นเป็น ครั้งที่ 4 นอกจากนี้การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลต่อการคาดการณ์เรื่องนโยบายการเงินของเฟด
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นมาตรวัดความแข็งแกร่งของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลทั่วโลก รวมถึงยูโร และเยน ได้ปรับตัวสูงขึ้นอีก 0.1% แตะระดับ 106.55 ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดครั้งใหม่นับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว
คริส เวสตัน จาก Pepperstone มองว่า ดอลลาร์ยังคงรักษาความเป็นสกุลเงินที่ทรงพลัง โดยได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัยสำคัญ ทั้งโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ ความแตกต่างของอัตราการเติบโต รวมถึงแนวโน้มการใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังและนโยบายภาษีศุลกากรในอนาคต แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงแข็งแกร่ง และไม่มีสัญญาณการถดถอยที่ชัดเจน การที่เงินดอลลาร์มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจกลายเป็นแรงกดดันสำคัญที่นำไปสู่การเทขายในตลาดการเงิน
เงินบาท อ่อนสุดรอบ 3 เดือน
ขณะที่ “ค่าเงินบาท” วันนี้ (14 พ.ย.67) เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.93-34.95 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ (8.30 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.68 บาทต่อดอลลาร์ และตลอดช่วงเช้ายังอ่อนค่าต่อเนื่อง ที่ 35.04 บาทต่อดอลลาร์ แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือนครั้งใหม่ นับตั้งแต่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา
“กาญจนา โชคไพศาลศิลป์” ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันนี้ ขณะที่ เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นท่ามกลางการประเมินของตลาดว่า นโยบาย และมาตรการต่างๆ ของสหรัฐ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐ อาจส่งผลทำให้มีแรงกดดันต่อเนื่องไปที่เงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้เฟดชะลอจังหวะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า สัญญาณเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนต.ค.
อนึ่ง ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และข้อมูล CPI ของสหรัฐ เมื่อคืนที่ออกมา (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป +2.6% YoY ในเดือนต.ค. สอดคล้องกับที่ตลาดคาด และปรับเพิ่มขึ้นจาก +2.4% YoY ในเดือนก.ย. และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน +3.3% YoY ในเดือนต.ค. สอดคล้องกับที่ตลาดคาด และยืนเท่ากับระดับของเดือนก.ย.) สะท้อนว่า แนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 34.80-35.05 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์