ค่าเงินบาทวันนี้ 4 ธ.ค.67 ‘แข็งค่า‘ ตามโฟลว์ธุรกรรมขายราคาทองคำ
ค่าเงินบาทวันนี้ 4 ธ.ค. 67 เปิดตลาด “แข็งค่า” ที่ 34.36 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตามโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้ส่งออกในช่วงนี้ และการรีบาวด์ขึ้นบ้างของบรรดาสกุลเงินหลักอย่าง เงินยูโร หลังการเมืองคลี่คลาย มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.20-34.55 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้"ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.36 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.43 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.55 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท(USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 34.32-34.48 บาทต่อดอลลาร์) ทั้งนี้ เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง โดยเฉพาะในช่วงเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลงของราคาทองคำ หลังรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTS Job Openings) ของสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 7.744 ล้านตำแหน่ง ดีกว่าที่ตลาดประเมินไว้ราว 7.5 ล้านตำแหน่ง
ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงด้วยแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ของบรรดาผู้เล่นในตลาด และการรีบาวด์ขึ้นบ้างของบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) ที่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นทะลุระดับ 1.05 ดอลลาร์ต่อยูโร ได้ หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ความวุ่นวายของการเมืองฝรั่งเศสอาจใกล้คลี่คลายลงได้ โดยนายกฯ Michel Barnier อาจพ่ายแพ้ในการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ (No-Confidence Vote) ที่ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างตามโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้ส่งออกในช่วงนี้
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่า เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราประเมินไว้ แต่เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากเงินดอลลาร์ก็ยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง ตราบใดที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด หรือ สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สดใส (ทำให้ธีม US Exceptionalism ยังคงอยู่) นอกจากนี้ ราคาทองคำก็ยังขาดปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน ทำให้ราคาทองคำก็ดูจะยังคงอยู่ในภาวะปรับฐาน (Correction) ไปก่อน อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้ส่งออก (ซึ่งเราประเมินว่า น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราประเมินไว้) รวมถึงการทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติ ตามที่เราประเมินไว้ โดยรวมเงินบาทก็อาจแกว่งตัว Sideways ไปก่อน เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ และมีโซนแนวรับแถว 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้านอาจอยู่ในช่วง 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินบาท ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ รวมถึงยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาทสามารถแกว่งตัวเกือบ +/-0.2% ได้ในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่รีบเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นชัดเจน เพื่อรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงาน รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Meta +3.5%, Amazon +1.3% ขณะที่ Tesla -1.6% จากรายงานยอดขายในจีนที่ยังคงลดลง ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.40% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.05%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.37% โดยตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML +2.1%, Hermes +1.3% ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงมั่นใจว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้พอสมควร อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอติดตามสถานการณ์การเมืองของฝรั่งเศส
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร โดยมีทั้งจังหวะปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 4.20% ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวแถวระดับ 4.23% หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ล่าสุด (Job Openings) นั้นออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงนี้ ต่างก็ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงให้โอกาสราว 74% ที่เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ทั้งนี้ เรามองว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ก็อาจเป็นจังหวะในการทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip) บอนด์ระยะยาว เนื่องจาก Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ความวุ่นวายของการเมืองฝรั่งเศสอาจใกล้คลี่คลายลงบ้าง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงถูกกดดันจากการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวแถวโซน 106.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.0-106.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงภาพรวมของตลาดการเงินที่เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ และยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,660 ดอลลาร์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) และยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดได้ อนึ่ง ถ้อยแถลงของประธานเฟดและรายงาน Fed Beige Book จะทยอยรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ นี้
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลดัชนี Caixin PMI ภาคการบริการของจีน ในเดือนพฤศจิกายน เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่รายงานก่อนหน้านั้น ออกมาดีกว่าคาด
และในฝั่งไทย เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ของไทยในเดือนพฤศจิกายน อาจปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 1.08% (แทบไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า) ตามอานิสงส์ของฐานราคาสินค้าและบริการในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในส่วนของราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจทรงตัวแถวระดับ 0.7%-0.8%
นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส โดยหากความวุ่นวายเริ่มคลี่คลายลงบ้าง ก็อาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินยูโร (EUR) ในระยะสั้นนี้