ค่าเงินบาทวันนี้ 28 พ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ ตามดอลลาร์อ่อนค่า -ราคาทองรีบาวด์

ค่าเงินบาทวันนี้ 28 พ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ ตามดอลลาร์อ่อนค่า -ราคาทองรีบาวด์

ค่าเงินบาทวันนี้ 28 พ.ย. 67 เปิดตลาด “แข็งค่า” ที่ 34.52 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตามการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.40-34.65 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.52 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.54 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.65 บาทต่อดอลลาร์  

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท(USDTHB) เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมยังคงเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 34.42-34.58 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นหลุดโซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ 

ค่าเงินบาทวันนี้ 28 พ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ ตามดอลลาร์อ่อนค่า -ราคาทองรีบาวด์

อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงใกล้โซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่เงินบาทจะทยอยอ่อนค่าลงกลับสู่โซน 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) นอกจากนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนตุลาคม จะอยู่ที่ระดับ 2.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE อยู่ที่ระดับ 2.8% ตามคาด ทว่า ผู้เล่นในตลาดก็มองว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2 % ของเฟดและเริ่มชะลอตัวลงช้า ทำให้เฟดอาจลดดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะรีบาวด์สูงขึ้นบ้าง ขณะเดียวกันก็กดดันให้ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ราคาทองคำยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลสถานการณ์ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มลดลง หลังอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah 

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อนหน้าที่ได้แรงหนุนจากทั้งการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำในช่วงนั้น รวมถึงการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ก็อาจทำให้ กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นจากโซนการเคลื่อนไหวในช่วงก่อนหน้า โดยเงินบาทอาจแกว่งตัวใกล้โซนแนวรับ 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ทว่า เรายังมองว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอย่างชัดเจนของเงินบาท อาจไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก หากราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน เรายังคงเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้า (Importers) รวมถึงอาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง น้ำมันดิบ เพิ่มเติมได้ หลังราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงมาพอสมควรในช่วงก่อนหน้า อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดอาจยังคงกังวลต่อการขู่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่จำกัดการแข็งค่าของบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะเงินหยวนจีน (CNY) ที่ในระยะหลังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทพอสมควร (Highly Correlated) อนึ่ง หากเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นทะลุโซนดังกล่าวได้ ก็อาจเปิดโอกาสแข็งค่าต่อทดสอบโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ (โอกาสยังน้อยอยู่) ส่วนโซนแนวต้านของเงินบาทจะขยับลงมาแถวโซน 34.60-34.70 บาทต่อดอลลาร์ 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใสอยู่ ทว่า ผู้เล่นในตลาดก็ทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นเทคฯ ที่ปรับตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อาทิ Tesla -1.6%, Nvidia -1.2% ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจเป็นการลดสถานะถือครองในช่วงก่อนวันหยุด Thanksgiving ซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปิดทำการในวันพฤหัสฯ นี้ ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.38% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.19% กดดันโดยแรงขายบรรดาหุ้นฝรั่งเศส จากความกังวลปัญหาการเมืองในประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ไม่ต่างกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาทิ ASML -1.9%, SAP -1.4% 

ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวแถวโซน 4.20%-4.30% แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่เข้าสู่โหมดระมัดระวังตัวมากขึ้น จะกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่จำกัดการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ระยะยาวยังมีความน่าสนใจอยู่ ทำให้นักลงทุนสามารถรอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อได้ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Down แม้ว่าเงินดอลลาร์จะเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่มีจังหวะแข็งค่าต่อเนื่อง จนหลุดโซน 151 เยนต่อดอลลาร์ แต่เงินดอลลาร์ก็ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่โดยรวมสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สดใส ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยต่อเนื่องไม่มากนัก ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่โซน 106 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.8-106.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คลายความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยต่ออีกไม่มาก ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่โซน 2,660 ดอลลาร์ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของเยอรมนี ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า BOK อาจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.25% เพื่อช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าและรักษาเสถียรภาพของค่าเงินวอนเกาหลี (KRW) ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้และเศรษฐกิจโดยรวมก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้ BOK สามารถทยอยลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้ในอนาคต

นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจดูสงบลงได้บ้างในช่วงนี้ หลังอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah