ขีปนาวุธพิสัยไกลจะส่งผลต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่างไร

ขีปนาวุธพิสัยไกลจะส่งผลต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่างไร

รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่กำลังจะพ้นอำนาจ เพิ่งอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีเป้าหมายภายในดินแดนรัสเซียได้เป็นครั้งแรก การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลต่อสงครามอย่างไร

สำนักข่าวบีซีซีอ้างรายงานของซีบีเอสสื่อพันธมิตรในสหรัฐว่า  รัฐบาลไบเดนที่กำลังจะพ้นจากอำนาจ แจ้งกับรัฐบาลเคียฟว่าสามารถใช้ขีปนาวุธ  ATACMS (เอแทค) ของสหรัฐเพื่อโจมตีเป้าหมายภายในรัสเซียได้ในวงจำกัด ก่อนหน้านี้วอชิงตันปฏิเสธที่จะอนุญาตให้โจมตีในลักษณะ ดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้สงครามรุนแรงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญนี้มีขึ้นสองเดือนก่อนที่ ประธานาธิบดีไบเดนจะส่งมอบอำนาจให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ ยูเครนของสหรัฐ

  • เหตุที่สหรัฐอนุญาตให้ยูเครนใช้ ATACMS โจมตีรัสเซีย

ยูเครนใช้ระบบขีปนาวุธยุทธวิธีของกองทัพสหรัฐ ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อเอแทค (ATACMS) กับเป้าหมายของรัสเซียในดินแดนยูเครนที่ถูกยึดครองมานานกว่าหนึ่งปีแล้ว

ยูเครนใช้ ATACMS โจมตีฐานทัพอากาศในคาบสมุทรไครเมียที่ถูกยึดครองและตำแหน่งทางทหารในภูมิภาคซาโปริซเซีย แต่สหรัฐไม่เคยอนุญาตให้เคียฟใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลภายในดินแดนรัสเซียเลยจนกระทั่งถึงวันนี้

ขีปนาวุธที่ผลิตโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน ถือเป็นขีปนาวุธทรงพลังที่สุดลูกหนึ่งที่สหรัฐส่งให้ยูเครนนับจนถึงปัจจุบัน  สามารถยิงได้ไกลถึง 300 กิโลเมตร  ยูเครนโต้แย้งว่าการไม่อนุญาตให้ใช้อาวุธดังกล่าวโจมตีภายในรัสเซียก็เหมือนกับการถูกสั่งให้ต่อสู้ด้วยมือข้างหนึ่งที่ถูกมัดไว้ข้างหลัง

มีรายงานว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อตอบโต้ต่อการส่งกองกำลังเกาหลีเหนือไปสนับสนุนรัสเซียในพื้นที่ชายแดนของภูมิภาคเคิร์สก์ ซึ่งยูเครนยึดครองดินแดนได้บางส่วนมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีแห่งยูเครนยังไม่ได้ยืนยัน การอนุญาตดังกล่าว แต่เขากล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า "การโจมตีไม่ได้ทำด้วยคำพูด  ขีปนาวุธจะพูดแทนด้วยมันตัวเอง"

  • ขีปนาวุธพิสัยไกลจะส่งผลอย่างไร

ตอนนี้ยูเครนสามารถโจมตีเป้าหมายภายในรัสเซียได้แล้ว ลูกแรกๆ น่าจะอยู่รอบๆภูมิภาคเคิร์สก์ ซึ่งกองกำลังยูเครนยึดครองดินแดนกว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร เจ้าหน้าที่สหรัฐกล่าวว่าเคียฟจะสามารถใช้ ATACMS เพื่อป้องกันการโต้กลับของกองกำลังรัสเซียและเกาหลีเหนือ ซึ่งอาจเริ่มขึ้นภายในไม่กี่วันนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อยึดดินแดนของรัสเซียคืน กองกำลังยูเครนจะสามารถโจมตีตำแหน่งของรัสเซียในเคิร์สก์ได้ ซึ่งรวมถึงกำลังทหาร โครงสร้างพื้นฐาน และคลังอาวุธ

การโจมตีด้วย ATACMS อาจไม่เพียงพอที่จะพลิกกระแสของสงคราม รัสเซียได้ย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น เครื่องบินเจ็ตหนีไปยังสนามบินที่อยู่ไกลออกไปในรัสเซีย เพราะคาดการณ์ว่าจะมีการตัดสินใจดังกล่าว

แต่อาวุธดังกล่าวอาจทำให้ยูเครนได้เปรียบบ้างในช่วงเวลาที่กองทหารรัสเซียรบได้พื้นที่เพิ่มมากขึ้นในภาคตะวันออกของประเทศ ขณะที่ขวัญกำลังใจของยูเครนกำลังลดต่ำลง

“ผมไม่คิดว่ามันจะเล่นงานได้เด็ดขาด” นักการทูตตะวันตกใน กรุงเคียฟกล่าวกับบีบีซี โดยขอไม่เปิดเผยชื่อ “อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการตัดสินใจเชิงสัญลักษณ์ที่ล่าช้า แต่จะเพิ่มการเดิมพันและแสดงการสนับสนุนทางทหารต่อยูเครน”

“มันสามารถเพิ่มต้นทุนสงครามให้กับรัสเซียได้”

ด้านนาย เอเวลิน ฟาร์คัส ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วย รัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลโอบามา กล่าวว่า ยังมีคำถามเกี่ยวกับปริมาณกระสุนที่จัดหาให้ด้วย“คำถาม คือแน่นอนว่าพวกเขามีขีปนาวุธกี่ลูก? เราได้ยินมาว่า กระทรวงกลาโหมได้เตือนว่าไม่มีขีปนาวุธเหล่านี้จำนวนมากพอที่จะให้ยูเครนใช้ได้” ฟาร์คัสกล่าวเสริมว่า ATACMS อาจส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงบวกต่อยูเครนได้ หากนำไปใช้โจมตีเป้าหมาย เช่น สะพานเคิร์ช ซึ่งเชื่อมไครเมียกับแผ่นดินใหญ่รัสเซีย 

การอนุญาตของสหรัฐยังจะส่งผลต่อเนื่อง โดยจะทำให้สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสอาจอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธสตอร์มชาโดว์ภายในรัสเซียได้ สตอร์มชาโดว์เป็นขีปนาวุธร่อนพิสัยไกลของฝรั่งเศส-อังกฤษที่มีขีดความสามารถใกล้เคียงกับ ATACMS ของสหรัฐ

  •  ขีปนาวุธดังกล่าวอาจทำให้สงครามทวีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่

หลายเดือนมาแล้วที่รัฐบาลไบเดนปฏิเสธไม่อนุญาตให้ยูเครนโจมตีรัสเซียด้วยขีปนาวุธพิสัยไกล เนื่องจากเกรงว่า ความขัดแย้งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเตือนว่าไม่ควรอนุญาตให้ใช้อาวุธของชาติตะวันตกโจมตีรัสเซีย โดยมอสโกจะถือว่าเป็นการ “มีส่วนร่วมโดยตรง” ของประเทศสมาชิกนาโตในสงครามยูเครน

 “การกระทำดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงแก่นแท้และธรรมชาติของความขัดแย้งไปอย่างมาก ซึ่งหมายความว่า ประเทศสมาชิกนาโต สหรัฐ และประเทศในยุโรปกำลังต่อสู้กับรัสเซีย” ปูตินกล่าว 

 ก่อนหน้านี้ รัสเซียได้ขีด “เส้นแดง” ไว้แล้วหลายเส้น รวมทั้งเตือนถึงการจัดหารถถังและเครื่องบินรบสมัยใหม่ให้กับยูเครน แต่เส้นแดงนี้ถูกข้ามไปโดยไม่ก่อให้เกิดสงครามโดยตรงระหว่างรัสเซียกับนาโต

เคิร์ต โวลเกอร์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำนาโต กล่าว ว่า “การที่สหรัฐจำกัดขอบเขตการใช้อาวุธของยูเครนนั้น เท่ากับว่าสหรัฐกำลังใช้มาตรการจำกัดการป้องกันตนเอง ของยูเครนเพียงฝ่ายเดียวอย่างไม่ยุติธรรม” โวลเกอร์กล่าวและว่า การตัดสินใจจำกัดการใช้ ATACMS นั้น “เป็นการตัดสินใจโดยพลการอย่างสิ้นเชิง และกระทำไปเพราะกลัวว่าจะ ‘ยั่วยุ’ รัสเซีย”

“อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความผิดพลาดที่จะเปิดเผยการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวต่อสาธารณะ เพราะจะทำให้ รัสเซียรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับการโจมตีของยูเครนที่อาจเกิดขึ้น”

  •  โดนัลด์ ทรัมป์จะมีท่าทีอย่างไร

ประเด็นสำคัญคือ ประธานาธิบดีไบเดนทำอะไรได้ไม่มาก เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนในการดำรงตำแหน่ง ก่อนที่เขาจะมอบอำนาจให้กับ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายดังกล่าวต่อไปหรือไม่ แต่พันธมิตรที่ใกล้ชิดของเขาบางคนได้วิจารณ์การตัดสินใจดังกล่าวไปแล้ว

 โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ ลูกชายของทรัมป์ โพสต์ลงบนโซเชีย ลมีเดียว่า "กลุ่มอุตสาหกรรมการทหารดูเหมือนจะต้องการให้แน่ใจว่าพวกเขาจะก่อสงครามโลกครั้งที่ 3 ก่อนที่พ่อของผมจะมีโอกาสสร้างสันติภาพและช่วยชีวิตคน”

ทรัมป์ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเขาจะใช้นโยบายใดในสงครามยูเครน นอกจากให้คำมั่นว่าจะยุติความขัดแย้งภายในวันเดียว แม้ว่าจะไม่เคยระบุว่าจะทำอย่างไร ฝ่ายตรงข้ามในพรรคเดโมแครตกล่าวหาว่าทรัมป์สนิทสนมกับปูติน โดยเขาแสดงความชื่นชมปูตินบ่อยครั้ง

เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของทรัมป์ เช่น เจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีคนใหม่ กล่าวว่าสหรัฐไม่ควรให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนอีกต่อไป แต่คนอื่นๆในว่าที่รัฐบาลทรัมป์ชุดต่อไปมีมุมมองที่แตกต่าง โดย ไมเคิล วอลท์ซ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ โต้แย้งว่า สหรัฐอาจจะเร่งส่งมอบอาวุธให้ยูเครนเพื่อบีบให้รัสเซียเจรจา

ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะเห็นด้วยกับฝ่ายไหน แต่หลายคนในยูเครนกลัวว่า ทรัมป์จะยุติการส่ง มอบอาวุธ รวมถึงระบบขีปนาวุธ ATACMS ให้กับยูเครน

“เรากังวล เราหวังว่า [ทรัมป์] จะไม่กลับคำตัดสินใจ” โอเล็กซี กอนชาเรนโก สส. ของยูเครนกล่าวกับบีบีซี