‘กิตติรัตน์’ ชี้ทุนสำรองสูงฉุด ศก. เปิดภารกิจประธานบอร์ด เชื่อม ‘ธปท.- คลัง’
“กิตติรัตน์” ชี้ทุนสำรองปัจจุบันสูงเกินพอดี อาจทำให้เกิดปัญหาได้ ย้ำจุดยืน ควรลดดอกเบี้ย นโยบายให้เร็ว - มาก เพื่อป้องกันหายนะ เปิดภารกิจประธานบอร์ด ธปท.หวังเป็นตัวเชื่อมภาคการคลัง ยืนยันแทรกแซงนโยบายการเงินไม่ได้
กระทรวงการคลัง อยู่ขั้นตอนการเสนอชื่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังจากก่อนหน้านี้ได้เสนอชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน เรียบร้อยแล้ว
การสรรหาประธานกรรมการ ธปท.เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านการเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ จากกลุ่มนักวิชาการ อดีตผู้ว่าการ ธปท.และกลุ่มลูกศิษย์หลวงตามหาบัว
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ว่าที่ประธานกรรมการ ธปท.กล่าวในช่วงสัมมนา 50 ปี “ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับความท้าทายในยุคสมัย” ว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศ ควรมีไม่น้อยกว่าปริมาณการนำเข้า 6 เดือน แต่ด้วยเหตุหลายประการ อาทิ การขาดดุลการค้าหรือการขาดดุลผลิตภัณฑ์ ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีน้อยในปี 2540 จึงเป็นปัญหาทำให้อัตราดอกเบี้ยสูง เพราะสภาพคล่องในประเทศขาดแคลน
หลังจากนั้นทุนสำรองสะสมเพิ่มขึ้น หลังจากปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว ซึ่งเงินบาทที่อ่อนช่วยรักษาชีวิตประเทศไว้ตั้งแต่ปี 2541-2543 จึงทำให้ไทยส่งออกได้สูง และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทยอยสูงขึ้นจนเกินพอดี
และปัจจุบันอยู่ระดับเกินพอดีไปมาก จึงมองเป็นปัญหา ดังนั้นอยากฝากว่าหากไม่ทบทวนหลักคิดให้แม่น อาจเจอภาวะสับสนได้ ฉะนั้นควรมองเห็นปัญหานั้นก่อนที่ปัญหาจะสร้างความเสียหายรุนแรง
แนะหั่นส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ควรแคบลง
สำหรับดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดที่ กนง.มีมติเอกฉันท์คงไว้ที่ 2.25% ซึ่งเคารพการตัดสินใจของ กนง.ทั้ง 7 คน แต่ควรอธิบายให้มากขึ้น โดยดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25% จะลดหรือไม่ลด เป็นเพียงส่วนเดียวของกลไกนโยบายการเงิน แต่ปัจจุบันหากดูอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบถือว่าสูงเกินไป โดยเฉพาะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ที่ควรทำให้แคบลงหรือไม่
ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปัจจุบันอยู่ระดับสูง โดยสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 24% ต่อปี บัตรเครดิตอยู่ที่ 16% แต่การผิดนัดชำระหนี้อยู่ระดับสูง ดังนั้น ธนาคารมีกำไรดีขึ้น หากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง อีกทั้งทำให้ความเสี่ยงหนี้เสีย และการตั้งสำรองหนี้สูญยังมีทิศทางปรับลดลงด้วย ที่เคยตั้งสำรองไว้สูงๆในอดีต ก็สามารถดึงกลับมาเป็นรายได้ ดังนั้นส่วนนี้ควรมีการหยิบยกส่วนนี้มาหารือกันหรือไม่ เพื่อให้หนี้ไม่กลายเป็นหนี้เสีย
ย้ำจุดยืนควรลดดอกเบี้ยให้เร็วให้มากหนทางป้องกันหายนะ
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยมองว่า ในอดีตเคยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 5 ธ.ค.2566 โดยมองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยให้เร็ว และมากคือ หนทางป้องกันหายนะ
ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อคัดเลือกเป็น “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” จนถึงวันนี้ ความเชื่อนั้นยังเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่วันนั้นยังไม่เห็นอัตราดอกเบี้ยลดลงเร็ว เงินกู้แทบไม่ได้ลดลง
“การตัดสินใจคงดอกเบี้ยล่าสุด ผมก็เชื่อว่าท่านมีเหตุผลของท่านในการตัดสิน แต่ควรอธิบายให้ชัดเจนด้วยเหตุผล โดยอธิบายใน 1หน้าที่ออกมาสั้นเกินไป ควรอธิบายให้ละเอียด หากคนเชื่อท่านก็เป็นเรื่องที่ดี หากท่านถูก ผมผิด ผมก็ดีใจด้วย ผมโพสต์ไปตั้งแต่ปีที่แล้วก็ยังไม่เห็นการลดดอกเบี้ย ที่โพสต์ไปก็ไร้น้ำยา อยากเห็นปีนี้ก็ยังไม่เห็นอีก ดังนั้นปีหน้าค่อยพูดกันอีกทีละกัน”
ยึดหลักโปร่งใสนั่งประธานบอร์ด ธปท.
สำหรับกรณีได้รับเสนอเป็นประธานกรรมการ ธปท.นั้น วันนี้ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยทราบว่าคณะกรรมการเสนอชื่อแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเพียงผู้ที่ยอมรับการเสนอชื่อ และยอมให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอชื่อเข้า ครม.เมื่อใดอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ถูกเสนอชื่อ
“คนอย่างกิตติรัตน์ หากได้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ มองว่าจะทำให้แบงก์ชาติมีความเชื่อมั่นเชื่อถือน้อยลงไปหรือไม่ หากท่านคิดว่าผมทำหน้าที่นี้ได้ดีก็ต้องทำสิ่งที่ดี”
ทั้งนี้สอดคล้องความคาดหวังอันเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งผู้บริหาร ธปท.ปัจจุบัน อดีตผู้ว่าฯ ธปท. ผู้เกี่ยวข้องทั้งทางลบ และทางบวก ดังนั้นหากไปอยู่จุดนั้นต้องทำให้ดี ต้องมีธรรมาภิบาล มุ่งมั่น ใส่ใจ ซื่อสัตย์ ซื่อตรง โปร่งใส
“คนกังวลหากผมรับตำแหน่งจะไปแทรกแซงการดำเนินนโยบายการเงิน ผมแซงแทรกได้มากกว่านั้น ผมแทรกแซงนโยบายการคลังได้ด้วย แต่แทรกแซงทางความคิด"
สำหรับทั้ง 2 ส่วนนี้ ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และประธานบอร์ดแบงก์ชาติไม่มีหน้าที่หรืออำนาจสั่งการใดๆ โดยเฉพาะไปสั่งคณะกรรมการทั้ง 3 คณะภายใต้ ธปท.แต่หากได้เป็นประธานกรรมการ ธปท.จะเป็นคนเชื่อมทั้ง 2 นโยบาย
"ผมไม่ได้อวดอ้างว่าเก่งกาจอะไร แต่ผมเองมองบรรยากาศทำงานร่วมไม้ร่วมมือกันดีกว่า ดังนั้นฟังกันสักนิดจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ดี"
ต้องยอมให้เงินบาทอ่อนค่าหนุนจีดีพี
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน มองว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ไม่เฉพาะ 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่หากเทียบประเทศคู่ค้าคู่แข่งรอบ 2 ทศวรรษ ไม่มีประเทศใดยอมให้เงินบาทแข็งค่ามากนัก แม้เงินบาทแข็งค่าจะมีข้อดีทำให้สินค้านำเข้าถูกลง แต่จะทำให้จีดีพีโตช้า ประชาชนไม่มีเงินซื้อ ดังนั้นหากทำให้ของแพงขึ้น แต่หากเจริญเติบโตเศรษฐกิจดีขึ้นจะดีกับประชาชนมากขึ้น
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนที่มองว่าหลายประเทศค่าเงินอ่อนค่า ไม่ได้ต้องการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน แต่มองว่ามีกลไกทำให้ค่าเงินไม่แข็งค่าเกินไป เพราะมองว่าการบริหารเศรษฐกิจเหมือนนักกอล์ฟ หากไม่เก่งมากต้องขอแต้มต่อ ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนอย่าแข็งค่านัก
รวมทั้งสิ่งที่ต้องระวังระยะข้างหน้าที่มองเป็นความเสี่ยงมากที่สุดคือ ความเป็นเดิมๆ ทำอะไรแบบเดิมๆ โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมามาก แต่หากเงินบาทแข็งค่า ขณะที่คู่แข่งการท่องเที่ยวเงินอ่อนค่า ดังนั้นส่วนนี้ต้องระวัง ทั้งในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า หรือระยะยาว
“วันนี้การออกจาก Lost Decade มีหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ อย่าทำแบบเดิม เพราะหากทำแบบเดิมเราก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ ดังนั้นต้องทำใหม่ โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จใหม่ๆ ก็มีโอกาส”
ขึ้น VAT ไปสู่ 15% เป็นไปไม่ได้
สำหรับการปฏิรูปทางภาษี มองว่า ส่วนหนึ่งคือ แหล่งรายได้ของภาครัฐ แต่อีกด้านก็เป็นภาระสำหรับผู้จ่ายภาษี ดังนั้นเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องทบทวนเสมอๆ และเมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบ ก็ค่อยประกาศ เพราะไม่เช่นกัน อาจนำมาสู่การเก็งกำไรล่วงหน้าได้ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องต้องคิดให้ดี ละเอียดลออ ว่าควรไม่ควร ดูให้รอบคอบ
ทั้งนี้แนวคิดที่จะปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไปที่ 15% มองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไทยมีภาษี VAT เพียง 10% แต่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้มยำกุ้งมาที่ 7% ดังนั้นการปรับภาษี อย่างมากก็จะไปได้เพียงถึงระดับ 10% ดังนั้นส่วนตัว หากเป็นตน การปรับภาษีควรปรับทีละน้อย เช่น จาก 0.25% หรือ 0.50% หรือ 1% พร้อมไปกับการสื่อสารกับประชาชนให้ได้ว่าเงินที่ได้มา จะนำไปใช้ทำอะไร
แนะ 5 ฝ่ายถกหนุนจีดีพีขยับ
เช่นเดียวกันภาพเศรษฐกิจไทย ในฐานะที่เคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลในอดีต ส่วนตัวค่อนข้างห่วงเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเต็มทศวรรษ
ดังนั้นข้อเสนอแนะคือ หากต้องการผลลัพธ์ใหม่ต้องคิดใหม่ ทําใหม่ ใช้คําว่า “คิดใหม่ ทําใหม่” ไม่ได้หมายความว่าคาดหวังกับนโยบายการคลัง นโยบายการเงินเท่านั้น แต่จําเป็นต้องทําเรื่องต่างๆให้ดีขึ้นกว่าเดิมแทบจะทุกแง่มุมในเรื่องของการเพิ่มผลิตภาพ
ทั้งนี้มองว่า การที่จะให้เศรษฐกิจ หรือจีดีพีปรับตัวดีขึ้น ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน ทำงานสอดประสานกันมากขึ้น เพื่อหาแนวทางให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น ทุกฝ่ายต้องระดมสมองช่วยกัน โดยเฉพาะสมาคมตลาดทุน หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมแบงก์รัฐ ต้องมีการหารือร่วมกัน เพื่อช่วยขจัดความด้อยประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสมีจีดีพีสูงขึ้น
มองค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นต่ำเกินไป
นอกจากนี้ตลาดทุนมองว่าปัจจุบันค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น ค่านายหน้า หรือทรานเซคชันฟรีต่ำเกินไป เช่นเดียวกันในอดีตตั้งแต่เป็นกรรมการ และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ที่มองว่าค่าธรรมเนียมส่วนนี้ต่ำเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันได้ในเชิงคุณภาพ
ทำให้ผลดำเนินงานโบรกเกอร์ไม่ดี ไม่สามารถแข่งขันคุณภาพการให้บริการ ซึ่งในทางกลับกันหากยอมจ่ายค่าฟีสูงขึ้น แต่ได้รับบริการดีขึ้น จนทำให้เกิดมั่นใจก็จะทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุนหลังหักค่าธรรมเนียมสูงขึ้นได้
ทั้งนี้ ประเด็นธุรกรรมการชอร์ตเซล ในยุคที่เป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์นั้น ไม่เปิดให้ทำธุรกรรมชอร์ตเซล และตลาดไม่ตาย ซึ่งการเปิดให้ทำชอร์ตเซลได้ อาจเป็นเรื่องดีถ้าชอร์ตเซลนำไปสู่ความสงสัย การที่จะระงับเป็นการชั่วคราวเพื่อให้เกิดความไม่สงสัยเป็นทางเลือกหนึ่ง และเมื่อรูปแบบเปลี่ยนไปการจะกลับมาทบทวนอีกครั้งไม่ใช่เรื่องแปลก
“คลัง” เงินทุนสำรองไทยสภาพคล่องสูง
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประเด็นทุนสำรองระหว่างที่มีข้อเสนอนำทุนสำรองมาใช้นั้น คงเป็นการเข้าใจผิด โดยทุนสำรองแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ทุนสำรองที่เข้ามาในประเทศ 2.ทุนสำรองที่เกิดจากสภาพคล่องของไทยที่มีอยู่จำนวนมาก โดยมีการนำไปเก็บไว้ในรูปเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีสภาพคล่องที่อยู่ค่อนข้างสูง
นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2567 ขยายตัว 4% ทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 2.7-2.8% ซึ่งเป็นระดับดีจากเดิมที่เคยขยายตัวเพียง1.9%
สำหรับ เศรษฐกิจไทยปี 2568 หลายฝ่ายมองว่าขยายตัวต่ำกว่า 3% แต่มองว่าจะขยายตัว3.0-3.5% โดยปัจจัยหนุนจากการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวขยายตัวได้จากการมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 39.9 ล้านคนสูงกว่าปี 2567 ที่มี 35-36 ล้านคน
ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะขยายตัวโดยการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ที่ลงทุนมาครบ 3 ปี ถึงเวลาลงทุนจริงโดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)จะเป็นแรงบวกให้เศรษฐกิจไทย รวมทั้งการลงทุนสาขาไบโอที่มีจำนวนมาก
ส่วนการบริโภคปี 2568 จะดีขึ้นเพราะรัฐบาลมีโครงการช่วยดูแลกลุ่มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่เป็น NPL ไม่เกิน 2 ปีซึ่งมีผู้ลงทะเบียนเป็นมูลหนี้ 800,000 ล้านบาท โดยภาครัฐจะช่วยให้จ่ายเงินต้นลดหนี้ได้ ซึ่งทำให้ NPL ลดลง และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจดีขึ้น
รวมทั้งกลุ่มที่มี NPL อีกกลุ่มที่มีตัวเลขสูงในกลุ่มที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-bank) ซึ่งรัฐบาลกำลังดูแนวทางอาจเสนอ ครม.ให้สถาบันออกซอฟต์โลนให้กลุ่ม non-bank เพื่อแก้ NPL ส่วนนี้
เตรียมเสนอ ครม.เคาะกรอบเงินเฟ้อ
นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงที่ 2.25%ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ว่าอยากเห็นอัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% จากนั้นอยากเห็นเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ซึ่งถือเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยกระทรวงการคลัง จะเสนอกรอบนโยบายการเงิน (กรอบเงินเฟ้อ) ปี 2568 ต่อที่ประชุม ครม.
รวมทั้งต้องการเห็นค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ และแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ โดยต้องดูอัตราแลกเปลี่ยนจะช่วยให้มีความสามารถในการแข่งขันในภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว
“การกำหนดกรอบเงินเฟ้อที่ 2% เลยแบงก์ชาติมองว่าบริหารยาก ก็กำหนดกรอบแบบนี้ได้ แต่บอกแล้วว่าอยากให้อยู่ระดับกึ่งกลางคือ 2% ซึ่งการมีเงินเฟ้อที่ดีจะเหมาะสมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ”
สำหรับการใช้นโยบายการเงินเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะพื้นที่การคลัง (Fiscal Space) มีข้อจำกัด และการเพิ่มพื้นที่การคลังอาจทำได้ด้วยการลดค่าใช้จ่ายประจำหรือลดงบประมาณที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจหรือปรับปรุงโครงสร้าง
“เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวถึง 3.5% ในปีหน้า และเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 2% จะทำให้ Nominal จีดีพี ของไทยอยู่ระดับที่ใช้ได้ ทำให้พื้นที่การคลังเราเพิ่มขึ้น ทั้งนี้นโยบายการเงินนั้นคงต้องมีการจับตามองสถานการณ์ใน และต่างประเทศด้วยว่ามีปัจจัยอะไรที่จะมากระทบหรือไม่ เพราะเรื่องนี้เป็นความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งเงินของภาคธุรกิจ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นความต้องการสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์