‘สินทรัพย์ลงทุน‘ ปี68เปราะบาง ‘ทอง-คริปโท’เด่น‘หุ้น-บาท’ป่วน

‘สินทรัพย์ลงทุน‘ ปี68เปราะบาง ‘ทอง-คริปโท’เด่น‘หุ้น-บาท’ป่วน

“ตลาดสินทรัพย์” การลงทุนปี 68 “สินทรัพย์ทางเลือก” ทั้งโดดเด่น-ปั่นป่วน ท่ามกลางสารพัดปัจจัยไม่แน่นอนกระทบ ยก “ทองคำ-คริปโท” รับตลาดกระทิง ชี้รับแรงกระแทก “นโยบายทรัมป์” ยกให้ “เงินบาท-หุ้น” ถูกกดดัน “บาทอ่อน” ระดับ 36 บาท ฟาก “หุ้นไทย-ตราสารหนี้ไทย” เผชิญความท้าทายสูง

บรรยากาศการลงทุนใน “ตลาดสินทรัพย์” ต่างๆ ในปี 2568 แม้ภาพรวมตลาดยังคง “เปราะบาง” ต่อเนื่องจากปี 2567 แต่ว่า “สินทรัพย์ทางเลือก” อย่าง “ทองคำ” และ “คริปโทเคอร์เรนซี่” ยังโดดเด่นเป็น “ตลาดกระทิง” 

สอดคล้องกับ World Gold Council (WGC) เผยรายงาน แนวโน้ม “ราคาทองคำ”ประจำปี 2568 ระบุว่า ทองคำมีผลงานยอดเยี่ยมในปี 2567 โดยราคาปรับตัวขึ้น 28% จนถึงเดือนพ.ย. 2567 สร้างสถิติสูงสุดใหม่ถึง 40 ครั้ง และมูลค่าซื้อขายทองคำในไตรมาส 3 ทะลุ 100,000 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก การวิเคราะห์ของ WGC โดยใช้เครื่องมือ Qaurum ชี้ว่าหากเศรษฐกิจเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาดในปี 2568 ราคาทองคำอาจเคลื่อนไหวในกรอบใกล้เคียงกับช่วงท้ายปี 2567 พร้อมโอกาสปรับตัวขึ้น

“ทองคำไทย” ปี 68 พุ่งแตะ 50,000 บาท 

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า นักวิเคราะห์จากธนาคารชั้นน่าหลายแห่งยังคงให้น้ำหนักปี 2568 คาดราคาทองมีโอกาสขึ้นไปที่ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากยังมีปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และเรื่องซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกสนับสนุนให้ทองคำยังคงได้รับความสนใจในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย แม้ว่าระยะสั้นจะสลับมาแกว่งตัวสร้างฐานบ้าง

ส่วนราคาทองคำในประเทศไทย YLG มองว่า ปี 2568 จะมีโอกาสไปถึง 50,000 บาท เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐ จึงตกเป็นประเทศเป้าหมายที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” จะดำเนินนโยบายภาษีนำเข้า จึงอาจจะส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยปีหนำเคลื่อนไหวไปในทิศทางอ่อนค่า และส่งผลดีต่อทองคำในประเทศ

นโยบาย “ทรัมป์” หนุนบิตคอยน์แตะ 150,000 ดออลาร์ 

ขณะที่ ภาพรวมคริปโทฯ ต้อนรับ “ตลาดกระทิง” ปี 2568 นายวรเมธ จันทร์เสน ที่ปรึกษาการลงทุน บริษัท เมอร์เคิล แคปปิตอล จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยพื้นฐานของ BTC ยังคงแข็งแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากทั้ง Bitcoin spot ETFs, การเข้าซื้อของ บริษัท MicroStrategy การยอมรับที่เปิดกว้างและการเริ่มซื้อ บิทคอยน์ของกลุ่มนักลงทุนสถาบันเป็นแรงสนับสนุนหลักที่ทำให้ภาพรวมตลาดคริปโทฯ มีโอกาสเป็นขาขึ้นในปี 2568 ปัจจุบัน BTC ปรับตัวขึ้นกว่า 80% แม้ยังไม่ครบรอบ 1 ปีตามสถิติ

รวมถึงปัจจัยภายในของ Ethereum ecosystem ที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ Ethereum เป็นอีกหนึ่งสกุลเงินคริปโทฯ ที่มีโอกาสเติบโตสูงในปี2568

นายปกเขตร รัชกิจประการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แมกซ์บิท ดิจิทัล แอสเซท จำกัด (Maxbit) เปิดเผยว่า นโยบายของ “ทรัมป์” สนับสนุนเรื่องบิตคอยน์ และหลังการชนะเลือกตั้ง ทำให้ราคาปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งวอลุ่มที่เข้ามาในเดือนธ.ค. เติบโตก้าวกระโดด ซึ่งหากหลัง “ทรัมป์” เข้าทำงานเต็มที่เชื่อว่าตลาดคริปโทฯ ในไทยน่าจะซื้อขายคึกคักมากขึ้น จากราคาบิตคอยน์ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

ปี2568คาดว่าน่าจะเป็น All Time High ในตลาดการซื้อขายของสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ส่วนราคาบิตคอยน์ในปี 2568 คาดว่าจะแตะที่ระดับ 150,000 ดอลลาร์หรือประมาณ 5 ล้านบาท

“เงินบาท” ผันผวนอ่อนค่าแตะ 36 บาท ครึ่งปีแรก

สำหรับ แนวโน้ม “ค่าเงินบาท” ปี 2568 ขึ้นกับทิศทางของเศรษฐกิจ โดยตลาดเงินภาพใหญ่จะขึ้นกับการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล “ทรัมป์ 2.0”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 นั้นถูกต้อง จะเห็นได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 นั้น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็มีแนวโน้มทยอยเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ได้ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนธ.ค. ได้ (เฟดอาจลดดอกเบี้ย ครั้งละ 0.25% ในการประชุมเดือนมี.ค. และ เดือนมิ.ย.) แต่อาจต้องติดตามภาพเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงครึ่งหลังใกล้ชิด เพราะหากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้ากว่าคาด หรือ กลับมาเร่งตัวขึ้นอาจทำให้เฟดหยุดลดดอกเบี้ยได้ เพื่อรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ทำให้เงินดอลลาร์อาจแข็งค่ามากกว่าที่ประเมินไว้ได้ช่วงครึ่งหลัง

ทั้งนี้ มองเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นช่วงครึ่งแรกปี 2568 โดยเฉพาะช่วงไตรมาสสอง จากความกังวลผลกระทบนโยบายกีดกันทางการค้า ก่อนที่จะทยอยอ่อนค่าลงบ้างช่วงครึ่งหลังปี 2568 หากเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ยลงได้อีก 1 ครั้ง รวมเป็นการลดดอกเบี้ยทั้งหมด 3 ครั้งในปี 2568 ส่วน BOJ อาจทยอยขึ้นดอกเบี้ย หนุนค่าเงินเยนญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ประเมินเงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีโอกาสที่จะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ทว่าส่งออกไทยอาจเผชิญแรงกดดันจากผลกระทบมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันไม่ให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปได้มาก

ขณะเดียวกันเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดินหน้าลดดอกเบี้ยลงเพียง 1 ครั้ง สู่ระดับ 2.00% ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 หรือในการประชุมเดือนเม.ย. แต่อาจลดดอกเบี้ยมากกว่าคาดได้ ขึ้นกับแนวโน้มเศรษฐกิจ ภาวะสินเชื่อ ซึ่งต้องติดตามผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ

ดังนั้น ปัจจัยข้างต้นประเมินว่าเงินบาทอาจมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงได้พอสมควร ซึ่งอาจเห็นการอ่อนค่าทดสอบโซน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ช่วงครึ่งแรก ก่อนที่เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง จบสิ้นปี 2568 ที่ระดับ 34.50-35.00 บาทต่อดอลลาร์

หวัง “กำไรบจ.” เติบโต ดันดัชนี 1,600 จุด

อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ที่ยังมีความเปราะบาง ได้แก่ “หุ้นไทย และ ตราสารหนี้ไทย” ตลาดคาดหวังสารพัดปัจจัยหนุนที่ชัดเจน แต่ปี 2568 เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันภายนอกที่รุนแรงขึ้น ความไม่แน่นอนระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก ดังนั้น ยังต้องรอลุ้นเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะฟื้นตัวได้จริงแค่ไหน ที่จะหนุนให้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปรับตัวดีขึ้น และการแก้ไขปัญหาด้านธรรมภิบาล (CG) จะสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาได้หรือไม่

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จํากัด กล่าวว่า สำหรับทิศทาง “ตลาดหุ้นไทย” จะไปต่อได้ ปัจจัยบวกหลักๆ ขึ้นอยู่ที่โมเมนตันของ “เศรษฐกิจไทย” ที่จะหนุนผลกำไร บจ. เติบโตต่อได้ เพราะกำไรบจ. (EPS) ปี 2567 คาดว่า “นิ่ง” หรือ “เท่ากับปีก่อนหน้า” และสามารถเติบโตน้อยกว่าที่ประเมินว่า กำไรบจ. น่าจะเติบโต 10% ขึ้นไป

ประกอบกับเศรษฐกิจไทยปี 2568 ยังมีความเสี่ยงสูง ไม่ว่าจะเป็น “นโยบายภาษีของทรัมป์” รวมทั้ง “ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง” ต้องเร่งแก้ไข และด้วย “ดัชนีหุ้นไทย” ส่วนใหญ่อิงกับหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งจะขึ้นกับโมเมนตัมเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก แต่ด้วยปัจจุบันราคาหุ้นไทยไม่แพง ดาวน์ไซด์ไม่มากแล้ว แต่อัปไซด์ยังไม่สามารถประเมินชัดเจน ยังคงมองดัชนีหุ้นไทยปีหน้าไว้ที่ 1,550 จุด

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 ยังไม่มีแรงขับเคลื่อนที่ชัดเจน กำไรบจ.ปีนี้ดีกว่าปีก่อนเพราะฐานปีก่อนที่ถูกปรับลงมา ขณะที่กระแสฟันด์โฟลว์จะไหลเข้ามาต่อเนื่องยังไม่ชัดเจน จากแรงซื้อขายตลาดหุ้นไทยปัจจุบันที่ระดับ 50,000 ล้านบาทต่อวันยังไม่เพียงพอ และตลาดตอบรับนโยบายรัฐบาลปี 2568 ไปก่อนหน้านี้บ้างแล้ว

ดังนั้น ต้องรอดูว่าภาครัฐจะมีมาตรการเพิ่มเติมเข้ามาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศมากกว่านี้ เพราะยังมี “ปัจจัยเสี่ยง” รออยู่ข้างหน้า ทั้งการเมืองในประเทศ , เงินบาทอ่อนค่า , นโยบายกำแพงภาษีของทรัมป์ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนระยะข้างหน้า มองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 2568 ที่ 1,600 จุด และสิ้นปีก่อนที่ 1,450 จุด ปรับขึ้นลงประมาณ 10 จุด 

คาดยอดออก “หุ้นกู้” ใกล้เคียงปีก่อน เน้นคุณภาพ

สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2567 ที่ผ่านมานี้ เรียกว่า “ซบเซา” ฝ่ามรสุมหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้และเลื่อนนัดชำระหนี้ ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพิ่มความระมัดระวังการลงทุนโดยเฉพาะหุ้นกู้กลุ่ม High yield ประกอบกับบรรยากาศการลงทุนไม่สดใส และแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงในปีหน้า ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้กลุ่ม Investment grade ชะลอการออกตามไปด้วย

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) รายงานข้อมูลมูลค่าการออก “หุ้นกู้” ลดลงราว 10% จากปี 2566 จาก 1 ล้านล้าน เป็น 9.04 แสนล้าน (ข้อมูลถึง ณ 16 ธ.ค.2567) โดย “หุ้นกู้กลุ่ม Investment grade” ลดลงเพียงเล็กน้อย 5% แต่ “หุ้นกู้กลุ่ม High yield” มีการออกลดลง 50% เนื่องจากนักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน ขณะที่ “พันธบัตรรัฐบาล” มีมูลค่าคงค้างเพิ่มขึ้นราว 10% จาก 8.4 ล้านล้านบาทในปี 2566 เป็น 9.3 ล้านล้านบาทในปี 2567 จากความต้องการระดมทุนของรัฐบาล

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA ประเมินว่า แนวโน้มตลาดสารหนี้ไทยปี 2568 “ตลาดหุ้นกู้” น่าจะยังมีการออกใกล้เคียงกับปี 2567 ปัจจัยบวกคือ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลง เอื้อต่อต้นทุนการออกหุ้นกู้ของภาคธุรกิจ ปัจจัยลบ คือ ความไม่แน่นอนที่ส่งผลกระทบต่อตลาด เช่น เกณฑ์การลงทุนใหม่ของกลุ่มสหกรณ์ที่อาจทำให้ลงทุนในหุ้นกู้เพิ่มไม่ได้

ส่วน “หุ้นกู้มีปัญหา” มีสัดส่วนราว 1% ของมูลค่าคงค้างหุ้นกู้ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดกลางถึงเล็ก ที่ต้องขอยืดชำระคืนเงินต้นออกไปเนื่องจากขาดสภาพคล่องจากการดำเนินธุรกิจ และบางรายที่ผิดนัดชำระหนี้ก็สะท้อนให้เห็นปัญหาด้านบรรษัทภิบาล (CG)

ดังนั้น ในปี 2568 มุ่งเน้น “คุณภาพหุ้นกู้มากกว่าปริมาณ” ต่อเนื่องจากปี 2567 ทางสมาคมฯ และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไข เช่น ยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน ยกระดับการเปิดเผยข้อมูลของผู้ออกหุ้นกู้ เพิ่มอำนาจและประสิทธิภาพการทำหน้าที่ให้กับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้