โลกป่วนซ้ำเติม ‘เศรษฐกิจไทย’ ‘ศุภวุฒิ’ นิยามปี 68 ฟื้นตัว ‘กระท่อนกระแท่น’
เศรษฐกิจอยู่ท่ามกลาง "มรสุม" จากปัจจัยโลก "ศุภวุฒิ" มองฟื้นตัวแบบกระท่อนกระแท่น "การคลัง" หมดแรง ชี้ภาคการเงินต้องเป็นพระเอก "เคเคพี" คาดเศรษฐกิจไทย "ไหลลง" เผชิญปัญหาระยะสั้น-ยาว "กสิกรไทย" นิยามเศรษฐกิจไทย "คนป่วยพายเรือในมรสุม" ภายในอ่อนแอ ข้างนอกวุ่นวาย
“เศรษฐกิจไทย” ปี 2568 แม้ภาครัฐ หรือฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งประเมินว่า จะดีกว่าปี 2567 ที่ผ่านมา แต่ก็มีไม่น้อยที่มองว่า เศรษฐกิจปี 2568 จะเผชิญความท้าทายมากขึ้น และยังคงเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยจะเจอกับ “มรสุม” หลายลูกใหญ่พร้อมๆ กัน จนบางแห่งประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจโตต่ำไปเหลือเพียง 2.4% เท่านั้น จากปีนี้ที่ คาดการณ์ว่า การขยายตัวเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 2.7-3.0%
ซ้ำร้ายเศรษฐกิจไทยอาจโตเลวร้ายไปถึง 2% ได้ หากสถานการณ์ และผลกระทบจากโลก “รุนแรง” กว่าที่คิด ดังนั้น เศรษฐกิจไทยปี 2568 ยังคงเป็นปีแห่งการระมัดระวังตัวอย่างต่อเนื่อง
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และที่ปรึกษาของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 แม้จะฟื้นตัวได้ แต่การฟื้นตัวจะอยู่ในภาวะ “กระท่อนกระแท่น”
แม้จะมองว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก 2568 จะฟื้นตัวได้ดี ต่อเนื่องจากปลายปี 2567 จากแรงกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ผลจากภาคการท่องเที่ยว การส่งออกที่ยังมีโมเมนตัมของการฟื้นตัวต่อเนื่อง
แต่ครึ่งปีหลัง “เศรษฐกิจไทย” อาจหมดแรง จากภาคการเงินที่ตึงตัวมาก ภาคการคลังหมดแรงกระตุ้น จากเครื่องมือเศรษฐกิจที่เริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านงบประมาณในการใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังอาจผ่อนแรงลง ต้องให้กองหลังอย่างภาคการเงิน “แบงก์ชาติ” ขึ้นมาเป็นกองหน้าหนุนเศรษฐกิจแทน
“ครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ต่อเนื่อง ดังนั้น แม้ กนง. จะไม่เห็นด้วยในการลดดอกเบี้ย แต่เมื่อกลางปี จะจำนนด้วยหลักฐานทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ กนง. อาจต้องลดดอกเบี้ยไปอีก และวันนี้นักวิเคราะห์บางท่านก็มองไปแล้วว่าอาจเห็นดอกเบี้ยไปถึงระดับ 1.50% ได้”
เศรษฐกิจไทยไหลลง
เช่นเดียวกัน นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ที่นิยาม หรือมองเศรษฐกิจไทยว่า เรากำลังอยู่ในภาวะ “สโลป ไหลลง” ของเศรษฐกิจไทย ไม่เฉพาะปัญหาระยะสั้นเท่านั้น แต่วันนี้ปัญหาระยะยาว เริ่มออกอาการเยอะขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ต้องแก้อย่างต่อเนื่อง ภาคการเงินตึงตัว ทำให้การเข้าถึงสินเชื่อไหลลงต่อเนื่อง โตช้าลงเรื่อยๆ
โดยมองว่าประเด็นระยะสั้น มีปัจจัยที่น่าห่วงมากขึ้น โดยเฉพาะจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ส่งผลต่อความไม่แน่นอนยิ่งเพิ่มขึ้น จากนโยบายของทรัมป์ ที่เป็นผลกระทบใหญ่ที่ต้องจับตาใกล้ชิด
รวมถึงไป ภาคการเงินที่ตึงตัวอย่างมาก การขยายตัวสินเชื่อที่ชะลอลงต่อเนื่อง เป็นภาวะที่น่ากลัว เพราะเครดิตที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจะมีน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งบ้าน รถ ต้องมอนิเตอร์ใกล้ชิด เหล่านี้จะเป็นแรงกดดันสำหรับเศรษฐกิจไทยปีหน้า ให้น่าห่วง ดังนั้น คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเติบโตที่ 2.7% จากปี 2567 ที่คาดโต 2.6% บนเศรษฐกิจที่จะไถลลงต่อหากไม่เร่งแก้ปัญหา ทั้งระยะสั้น ระยะยาว เศรษฐกิจจะโตถดถอยลงต่อเนื่อง
ดังนั้น ในระยะสั้น การลดดอกเบี้ย หรือนโยบายการเงินควรผ่อนปรนลงมาได้ เพื่อไม่ให้กดดันต่อเศรษฐกิจเกินไป ภายใต้นโยบายการคลังที่มีรูมในการกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง
“ปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังน่าห่วง ระยะสั้นแม้ลดดอกเบี้ย ช่วยคลายความกังวลเศรษฐกิจลงได้ แต่กลับไปประเด็นพื้นฐาน รายได้เราโตช้า หลายภาคส่วนชะงัก ดังนั้นแม้นโยบายการเงินช่วยระยะสั้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยเต็มที่ หากประเทศไม่เร่งเพิ่มศักยภาพใหม่ และหา Engine of Growth”
เศรษฐกิจไทยเหมือนคนป่วยพายเรือในมรสุม
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 เหมือน “คนป่วยพายเรือในมรสุม” เศรษฐกิจไทยจะเหมือนคนป่วย ที่มีปัญหาทั้งภายใน และปัญหาโครงสร้างมานานเกินกว่าที่จะแก้ไข บนความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เข้ามาเพิ่มขึ้น
ดังนั้นปี 2568 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหารุมเร้าทำให้เศรษฐกิจไทยทรุดโทรม แม้ยังไปได้ต่อ แต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปได้ช้าลง บนความไม่แข็งแรงมากนัก
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ประเทศไทย พึ่งพาต่างประเทศ ทำให้ปีนี้ เศรษฐกิจไทยอยู่ท่ามกลางมรสุม ศึกสงครามจากต่างประเทศ จากการค้าโลก และความไม่ชัดเจนของนโยบายทรัมป์ 2.0
ดังนั้น ศึกข้างนอกประเทศหนักมาก และอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นเศรษฐกิจไทยอยู่ท่ามกลางความวุ่นวาย ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ไม่แข็งแรงอยู่แล้ว ดังนั้น ควรสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งมากขึ้น ต้องปรับปรุงโครงสร้าง และหาโอกาสของธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น
“ปีนี้จะเป็นปีที่เราเผชิญความวุ่นวายต่อเนื่อง ทั้งจากศึกในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะการที่เราเป็นประเทศพึ่งพาต่างประเทศ ทำให้เราจะเผชิญกับมรสุมวุ่นวาย ดังนั้น เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันของตัวเองให้แข็งแรง หาคนพายเรือใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิม ซึ่งนโยบายจากภาครัฐมีส่วนสำคัญ ทำให้ประเทศ Resilience ยืดหยุ่นเพื่อรับกับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า”
ปีงูเลื่อยคดโค้ง บนเศรษฐกิจที่มีแต่ความไม่แน่นอน
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หากนิยามเศรษฐกิจไทยปี 2568 เหมือน “ปีงู เลื้อยคดโค้งไปบนถนนเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน” เปรียบได้กับงูที่ใส่เกียร์เดินหน้าเลื้อยคดบนถนนเศรษฐกิจ จากภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนแปลง และซับซ้อนภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์
ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัว และรับมือกับความท้าทาย โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว การแจกเงินจากภาครัฐ และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน เป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ที่เต็มไปด้วยแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 2.7%
โดยเขามองว่า แม้ปีนี้การลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) และแบตเตอรี่ โดยได้รับแรงหนุนจากการย้ายฐานการผลิต และโอกาสใหม่ในอาเซียน แต่ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ของไทยอาจยังเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวให้เข้ากับห่วงโซ่อุปทานของจีน รวมถึงต้องรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากผู้ประกอบการจีน
และแม้ว่าจะมีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต แต่ก็ยังมีปัจจัยเหนี่ยวรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย อาทิ กำลังซื้อของครัวเรือนรายได้น้อยอ่อนแอ การส่งออกที่ฟื้นตัวช้า และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซา
“ปีงู 2025 อาจสะท้อนถึงความไม่แน่นอน และความไม่สามารถคาดเดาได้ ทำให้การคาดการณ์เป็นเรื่องยาก นักลงทุนควรเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ เพื่อให้สามารถก้าวผ่านปีงูไปได้อย่างราบรื่น”
ข้างนอกท้าทายข้างในยากขึ้น
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า หากให้นิยาม หรือเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ “ข้างนอกท้าทาย ข้างในยากขึ้น” ข้างนอกท้าทายเพราะเราเผชิญกับภาวะตึงเครียด กีดกัน ผันผวน จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการกีดกันทางการค้ามากขึ้น
“ข้างใน” ยากขึ้น หมายถึง ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กำลังจะถูกรุมเร้าด้วยวัฏจักรขาลงของเศรษฐกิจ รวมถึงการมีข้อจำกัดในการทำนโยบายที่มากขึ้น
โดยจากการคาดการณ์ของ EIC มองว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 2.4% จากปี 2567 ที่คาดขยายตัว 2.7% โดยเฉพาะหากเทียบกับระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่คาดอยู่ที่ 2.7% ดังนั้นในเชิงเศรษฐศาสตร์ถือว่าเศรษฐกิจ “ติดลบ” ไปแล้ว
ฉะนั้นมองว่าต้องรีบกระตุ้นเศรษฐกิจ มิฉะนั้นเศรษฐกิจไทยจะหมุนลง วนลงไปมากกว่านี้ต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นหากสถานการณ์ผลกระทบจากโลก จากทรัมป์ 2.0 มีมากกว่าคาด อาจเห็นเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 2% ได้
นายสมประวิณ ยังมองอีกว่า ในระยะข้างหน้า ประเทศไทยจะแยกเป็น “โลกสองใบ” ยิ่งชัดเจนมากขึ้น โลกใบแรก ประกอบไปด้วยคนที่ "เข้มแข็ง บนโลกใหม่ ตัวใหญ่ขึ้น"
โลกใบที่สอง คือ “คนอ่อนแอ โลกใหม่ ตัวเล็กลง” ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ตอกย้ำการเติบโตของเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาเป็นเวลานาน จนกลายเป็นปัญหา ทำให้โลกถูกแบ่งเป็นสองโลก สุดท้าย ปัญหาเหล่านี้จะไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะเศรษฐกิจ แต่จะกลายเป็นปัญหาทางสังคม นั่นคือ สิ่งที่น่ากลัว
“หากปล่อยไปแบบนี้ ผลจากปัญหาทางเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น โลกจะต่างกันมากขึ้น โลกสองใบจะห่างกันมากขึ้น การเคลื่อนย้ายของคนจะน้อยลง และการเลื่อนชั้นทางสังคม หรือเสถียรภาพของการอยู่ร่วมกันในสังคมจะยิ่งหายไป”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์