ค่าเงินบาทวันนี้ 6 ม.ค.68 ‘อ่อนค่า‘ ตัวเลขศก.สหรัฐยังดี หนุนดอลลาร์แข็งค่า
ค่าเงินบาทวันนี้ 6 ม.ค. 68 เปิดตลาด “อ่อนค่า“ ที่ 34.49 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้เงินดอลลาร์แข็งค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังดี และเฟดอาจไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ถึง 2 ครั้งในปีนี้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.40-34.60บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้"เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.49 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.46 บาทต่อดอลลาร์
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.00 - 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.60 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 34.41-34.56 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.3 จุด (ดัชนี ต่ำกว่า ระดับ 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัวในภาคการผลิต) ออกมาดีกว่าคาดไว้พอสมควร
ทว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาด หลังบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On)
ทั้งนี้ แม้ว่า เงินดอลลาร์จะยังตัวลงบ้าง แต่เงินบาทก็ถูกกดดันจากการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของ ราคาทองคำ (XAUUSD) สู่โซน 2,640 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.60% ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดอาจไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ถึง 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ ตามที่เฟดได้ประเมินไว้ใน Dot Plot เดือนธันวาคม
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าลงต่อได้ ตามโมเมนตัมการอ่อนค่าที่มีกำลังมากขึ้น ทว่าทิศทางเงินบาทจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน (Two-Way Volatility) นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามทิศทางราคาทองคำ รวมถึงเงินหยวนจีน (CNY) ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของจีน ทว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจยังมีทิศทางที่ไม่แน่นอนและอาจสร้างความผันผวนให้กับเงินบาทได้ในช่วงนี้
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์เสี่ยงเผชิญความผันผวน Two-Way Volatility โดยทิศทางเงินดอลลาร์จะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่าจะทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอย่างไร ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางสกุลเงินหลัก ทั้ง เงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ด้วยเช่นกัน
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากธีม US Exceptionalism จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ล้วนออกมาดีกว่าคาด ส่วนเงินบาท แม้จะถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และแรงขายสินทรัพย์ไทย แต่เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ
สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวัง ความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ข้อมูลตลาดแรงงาน พร้อมจับตา ถ้อยแถลงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดและรายงานการประชุม FOMC เดือนธันวาคม (FOMC Meeting Minutes)
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยมีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มจากยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) จนถึงยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการเติบโตของค่าจ้าง และอัตราการว่างงาน ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงคืนวันศุกร์ราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนธันวาคม รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนมกราคม โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาว และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ทั้งรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟดด้วยเช่นกัน โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดมีโอกาสราว 57% ที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ ตามที่เฟดได้ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนธันวาคม
▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานข้อมูลที่สำคัญ ทั้ง อัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนธันวาคม รวมถึงอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 4 ครั้ง หรือ 100bps ในปีนี้
▪ ฝั่งเอเชีย – ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของจีนในเดือนธันวาคม อาทิ ดัชนี Caixin PMI ภาคการบริการ อัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI โดยผู้เล่นในตลาดจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตของค่าจ้างในเดือนพฤศจิกายน เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า BOJ มีโอกาสราว 79% ที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้
▪ ฝั่งไทย – เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ในเดือนธันวาคม อาจสูงขึ้นเล็กน้อยเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1%-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระดับ 1.41% อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า อัตราเงินเฟ้อจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการตัดสินใจปรับนโยบายการเงินของ ธปท. ตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย แม้จะอยู่ใกล้ขอบล่าง 1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังคงอยู่แถวระดับ 2% ซึ่งจะเป็นการย้ำว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้เผชิญความเสี่ยงภาวะเงินฝืด ทั้งนี้ เราแนะนำว่า ควรรอติดตามมุมมองของ ธปท. ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและทิศทางนโยบายการเงิน ในงานสัมนา Monetary Policy Forum ในวันจันทร์ที่ 6 มกราคม เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. โดยล่าสุด บรรดาผู้เล่นในตลาด รวมถึงนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ต่างมองว่า ธปท. มีโอกาสลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สำหรับ แนวโน้มเงินบาท นั้น หากประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following เรายอมรับว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทที่มีกำลังมากขึ้นนั้น อาจเพิ่มโอกาสให้ เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.80 บาทต่อดอลลาร์ ไปจนถึงโซนแนวต้านสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ เงินบาทอ่อนค่าลงทะลุโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน