แบงก์ชาติทั่วโลกเริ่มนโยบาย ‘ดอกเบี้ยขาลง’ แต่ลดดอกเบี้ยน้อยกว่าปี 67
แบงก์ชาติทั่วโลกเริ่มนโยบาย ‘ดอกเบี้ยขาลง’ บลูมเบิร์กเผยคาดการณ์ดอกเบี้ยสิ้นปี 68 ลดดอกเบี้ยน้อยกว่าปี 67 กังวลนโยบาย ‘ทรัมป์’ กระทบทิศทางเศรษฐกิจโลก ฉุดการดำเนินเศรษฐกิจแบบผ่อนคลายชะลอตัว
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานสถานการณ์ที่ธนาคารกลางทั่วโลกจะยังคงเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อาจชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยลงในปี 2568 เนื่องจากรอดูนโยบายของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้ได้
บลูมเบิร์กอีโคโนมิกส์ (Bloomberg Economics) คาดการณ์แนวโน้มแบงก์ชาติทั่วโลก นำโดยอัตราดอกเบี้ยโดยรวมของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จะลดลงเพียง 0.72% เท่านั้น ปรับตัวลดลงจาก 3.6% ในช่วงสิ้นปี 2567 เหลือ 2.9% ในช่วงสิ้นปี 2568 ท่ามกลางความท้าทาย ซึ่งน้อยกว่าการลดลงในปี 2567
ดัชนีติดตามอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ
ในรายงานล่าสุด Bloomberg Economics ได้วิเคราะห์สถานการณ์ของธนาคารกลางทั่วโลกที่กำลังเผชิญความท้าทายในการปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ โดยเฉพาะการขึ้นภาษีศุลกากร
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- อัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน: 4.5%
- คาดการณ์ของ Bloomberg ณ สิ้นปี 2568 : 3.75%
นักลงทุนในตลาดการเงินส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ภายในเดือนมี.ค. และอาจมีการปรับลดลงอีก 0.25% เพิ่มเติมในเดือนมิ.ย. ซึ่งจะทำให้เกิดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 0.5% ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดการณ์ว่า มีโอกาสสูงถึง 70% ที่เฟดจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งภายในสิ้นปี ซึ่งหมายความว่าอัตราดอกเบี้ยอาจลดลงมากกว่า 0.5% ภายในสิ้นปี
คาดเฟด ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2568 และ 2569 เพียง 0.5%
ในช่วงที่ผ่านมา แม้ตลาดแรงงานสหรัฐ จะส่งสัญญาณน่ากังวลในระยะสั้น แต่เฟดยังคงให้ความสำคัญกับการควบคุมเงินเฟ้อเป็นหลัก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมาย 2% โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้ย้ำชัดว่าต้องเห็นพัฒนาการที่ดีในการควบคุมเงินเฟ้อก่อนที่จะพิจารณาดำเนินนโยบายการเงินครั้งต่อไป
ธนาคารกลางยุโรป (ECB)
- อัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน: 3%
- คาดการณ์ของ Bloomberg ณ สิ้นปี 2568: 2%
ตลาดคาดการณ์ว่า ECB จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในเดือน ม.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งจะทำให้มีการปรับลดรวม 1% ภายในปีนี้
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อโดยรวมของยุโรปจะค่อยๆ ลดลง แต่ปัญหาเงินเฟ้อยังไม่หมดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราเงินเฟ้อของราคาบริการที่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายเกือบสองเท่า ซึ่งอาจทำให้เงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นได้อีกหากค่าจ้างปรับตัวตามขึ้นไป ส่งผลให้ ECB ต้องระมัดระวังในการปรับนโยบายการเงิน และอาจชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปในระยะยาวได้
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
- อัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน: 0.25%
- คาดการณ์ของ Bloomberg ณ สิ้นปี 2568: 1%
สำหรับมุมมองของตลาดการเงินนั้น คาดว่า BOJ จะดำเนินนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25 จุดในเดือนพ.ค. และจะมีการปรับขึ้นอีกครั้งหนึ่งในช่วงปลายปี สะท้อนให้เห็นถึงความระมัดระวังในการปรับนโยบายการเงินของญี่ปุ่นที่ใช้มาตรการผ่อนคลายมาเป็นเวลานาน
คาซูโอะ อูเอดะ ผู้ว่าการ BOJ กำลังเผชิญกับความท้าทายในการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นสูงกว่าเป้าหมาย 2% มาเป็นเวลา 2 ปีครึ่งแล้ว ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นมาตรการที่อาจถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE)
- อัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน: 4.75%
- คาดการณ์ของ Bloomberg ณ สิ้นปี 2568 : 3.75%
ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า BOE จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในเดือนก.พ. นอกจากนี้ ตลาดยังคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนพ.ย. และมีโอกาส 30% ที่ BOE อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธ.ค.
ธนาคารกลางจีน (PBOC)
- อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (7-day Reverse Repo Rate) ณ ปัจจุบัน: 1.5%
- คาดการณ์ของ Bloomberg ณ สิ้นปี 2568: 1.2%
รัฐบาลจีนได้ประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินครั้งสำคัญ โดยจะหันมาใช้นโยบายที่ผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากที่เคยใช้นโยบายที่ระมัดระวังมานานกว่า 14 ปี การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนให้เติบโตมากขึ้น
ธนาคารกลางอินเดีย (RBI)
-
อัตราดอกเบี้ย repo rate ปัจจุบัน : 6.5%
-
คาดการณ์ของ Bloomberg ณ สิ้นปี 2568: 5%
ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งสุดท้ายของ ศักติกานตา ดาสในฐานะผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย (RBI) เมื่อเดือนธ.ค. ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เป็นการประชุมที่ 11 ติดต่อกัน แต่ได้ผ่อนคลายสภาพคล่องในระบบธนาคารด้วยการปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองลง 0.5 %
RBI ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 7.2% เหลือ 6.6% เนื่องจากการชะลอตัวที่ไม่คาดคิดในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 พร้อมเตือนถึงภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น โดยได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของปีจาก 4.5% เป็น 4.8%
ธนาคารกลางโดนีเซีย (BI)
- อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (7-day Reverse Repo Rate) ณ ปัจจุบัน: 6%
- คาดการณ์ของ Bloomberg ณ สิ้นปี 2568: 5.5%
ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยช้าลง เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของค่าเงินรูเปียห์ ผู้ว่าการธนาคารกลางให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียห์เป็นอันดับแรก แม้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จะเปิดช่องให้สามารถลดดอกเบี้ยได้มากขึ้นก็ตาม
อ้างอิง Bloomberg