ธปท. ชี้ ตั้งเป้าเงินเฟ้อที่ 2% ตามคลังอาจ 'ไม่เหมาะสม' ยันเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหา ปัดลดดอกเบี้ย

ธปท. ชี้ ตั้งเป้าเงินเฟ้อที่ 2% ตามคลังอาจ 'ไม่เหมาะสม' ยันเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหา ปัดลดดอกเบี้ย

"สักกะภพ พันธ์ยานุกุล" ผู้ช่วยฝ่ายนโยบายทางการเงิน ของธปท. ชี้ ตั้งเป้าเงินเฟ้อที่ 2% ตามกระทรวงการคลัง อาจ 'ไม่เหมาะสม' และเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหา พร้อมปัดลดดอกเบี้ย เพราะที่ระดับ 2.25% ไม่ได้สูงมาก

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานถ้อยแถลงต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศของ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้ช่วยฝ่ายนโยบายทางการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วันนี้ (9 ม.ค.) ว่า รู้สึกสบายใจ (Comfortable) กับแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ โดยธปท.พยายามใช้นโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินและการเติบโตทางเศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น 

"เงินเฟ้อแทบไม่ใช่ปัญหาเลย" นายสักกะภพ กล่าวเมื่อวันพุธที่กรุงเทพฯ ในการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ พร้อมอธิบายเสริมว่า การเติบโตของเงินเฟ้อในระดับต่ำไม่ได้ "เป็นอุปสรรค" ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ 

การรับข้อเสนอของรัฐบาลให้ตั้งเป้าเงินเฟ้อที่ 2% แทนที่จะรักษากรอบเป้าหมาย 1%-3% อาจจะ "ไม่เหมาะสม” (Inappropriate) เขากล่าว โดยให้เหตุผลว่า เงินเฟ้อในประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก 

ธปท. ชี้ ตั้งเป้าเงินเฟ้อที่ 2% ตามคลังอาจ \'ไม่เหมาะสม\' ยันเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหา ปัดลดดอกเบี้ย

ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ให้ข้อมูลว่า นายสักกะภพ อายุ 47 ปี ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้นำทีมนโยบายการเงินของ ธปท. ในเดือนต.ค. และยังดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ด้วย
 

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เปิดเผยต่อว่า ธปท. และรัฐบาลเห็นต่างกันเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากการเติบโตที่ซบเซามาเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ โดยธปทแสดงมุมมองในเชิงเห็นต่างจากรัฐมนตรีคลังและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ ที่ต้องการให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมและมาตรการกระตุ้นเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ในเดือนที่แล้ว หลังจากการปรับลดแบบเซอร์ไพรส์ตลาดที่ 0.25% ในเดือนต.ค
 

นายสักกะภพ  กล่าวต่อว่า การรักษากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะสร้างความ “ยืดหยุ่นที่จำเป็น” แก่ ธปท. และรับประกันความน่าเชื่อถือรวมถึงประสิทธิผลของนโยบาย นอกจากนี้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1% ตลอดปี 2568 โดยมีความเป็นไปได้ที่อาจปรับตัวต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในไตรมาสที่สาม 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งอยู่ต่ำกว่า 1% เป็นส่วนใหญ่ในปีที่แล้ว กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1%-3% ของธปท. ในเดือนธ.ค.เป็นครั้งแรกในรอบเจ็ดเดือน

ธปท. คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.1% ในปี 2568 เทียบกับ 0.4% ในปี 2567 และคาดว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะมีแรงส่งแตะระดับ 2.9% จากที่ประมาณการว่าจะขยายตัว 2.7% ในปีที่แล้ว ขณะที่ผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของปีที่แล้วจะรายงานออกมาในช่วงกลางเดือนก.พ. และการประชุมกนง. ครั้งแรกของปีนี้จะมีขึ้นในวันที่ 26 ก.พ. 2568

นายสักกะภพ  อธิบายต่อว่า นโยบายการเงินจำเป็นต้อง "ยืดหยุ่นและทนทานต่อความผันผวนต่างๆ ได้" (Robust) เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น รวมถึงผลกระทบจากการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐ คนใหม่อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ และธปท.จะพยายามหลีกเลี่ยงการ "ตอบสนองเกินควร" ต่อข้อมูลและจะมุ่งเน้นการวิเคราะห์แนวโน้มมากกว่า  

นโยบายของทรัมป์

เขากล่าวต่อว่า ธปท. จะวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ตามฉากทัศน์ที่แตกต่างมากขึ้น (Scenarios-based Analysis) และจะสื่อสารถึงผลกระทบของนโยบายทรัมป์เมื่อมีความชัดเจนกว่าปัจจุบัน 

มากไปกว่านั้น ธปท. จะใช้เครื่องมือหลากหลาย รวมถึงการแทรกแซงค่าเงินต่างประเทศและมาตรการกำกับดูแลเชิงมหภาคตามความจำเป็น และหลีกเลี่ยงการ "ใช้งานอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากเกินไป”

"อัตราดอกเบี้ยของเราที่ 2.25% ไม่ได้สูงมาก" นายสักกะภพอธิบาย พร้อมกล่าวเสริมว่าต้นทุนการกู้ยืมของไทยอยู่ในระดับต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

"การรักษาพื้นที่นโยบายของเราเป็นสิ่งสำคัญเพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์จะรุนแรงแค่ไหนในอนาคต" นายสักกะภพสรุปทิ้งท้าย

อ้างอิง: Bloomberg