หุ้นกู้ไฮยิลด์สะเทือนตลาด ยอดออกดิ่ง 50 % นลท.ขาดความเชื่อมั่น- ระดมทุนยาก
“ไทยบีเอ็มเอ” คาดแนวโน้มปี 68 ยอดหุ้นกู้ใหม่ 8.5-9 แสนล้านบาทใกล้เคียงปีก่อน จับตา “หุ้นกู้ไฮยีลด์” เหตุปีก่อนยอดออกวูบ 50% เหตุนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น-เศรษฐกิจซบเซา ตลาดอยู่ในโหมดซึมลง พบบริษัทถูกดาวน์เกรดหุ้นกู้เพิ่มเป็น 46 บริษัทในปี 67
ภายใต้ตลาด “หุ้นกู้” หรือ ตราสารหนี้ ที่เป็นช่องทางในการเข้ามา “ระดมทุน” ของบริษัทต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกการสร้างสภาพคล่องสนับสนุนธุรกิจ ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้โดยรวมยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง แม้ยอดการออกหุ้นกู้ในปี 2567 จะลดลงมาอยู่ที่ 9.1 แสนล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่ยอดออกหุ้นกู้ทะลุ 1 ล้านล้านบาท
แต่การออกหุ้นกู้ก็ยังได้รับการยอมรับจากนักลงทุน และธุรกิจส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเครดิตเรตติ้งสูงๆ ยังคงโรลโอเวอร์ได้ต่อเนื่อง
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ในปี 2567 มีการออกหุ้นกู้ระยะยาวไป 913,141 ล้านบาท ในปี 2568 คาดออกหุ้นกู้เท่ากับ 850,000-900,000 ล้านบาท
ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ จะยังสามารถโรลโอเวอร์ หรือออกหุ้นกู้เพิ่มเติม เมื่อครบกำหนดหุ้นกู้เดิมได้ค่อนข้างมาก หรือมากกว่าเดิม สำหรับธุรกิจที่มีเรตติ้งเครดิตที่ดี หรือเรตติ้งค่อนข้างสูง
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีบริษัทจำนวนหนึ่ง ที่กลับถูกปรับลดเครดิตหุ้นกู้ลง (Downgrade)ลง เช่นจากระดับ BBB+ เป็นต่ำกว่าระดับดังกล่าวหลายบริษัท โดยรวม บริษัทที่ถูกปรับลดเครดิตเพิ่มขึ้น 11 บริษัทเป็น 46 บริษัท จากปีก่อนหน้าที่มีเพียง 35 บริษัทเท่านั้น เหล่านี้สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ ทำให้ธุรกิจหลายแห่งได้รับผลกระทบ แต่อย่างไรก็ตาม อีกด้านก็พบว่า มี13บริษัท ที่ได้รับการปรับเครดิตเรตติ้งเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม หากดูทิศทางการออกหุ้นกู้ในช่วงปีที่ผ่านมาที่ลดลง หลักๆ มาจาก กลุ่มไฮยีลด์ (ไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือ) หรือเรตติ้งต่ำ ที่มีมูลค่าการออกหุ้นกู้ลดลงถึง 50% มาอยู่เพียง 5.5 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่กลุ่มไฮยิลด์ออกหุ้นกู้สูงถึง 1 แสนล้านบาท ต่างกับอินเวสเม้นท์เกรส ที่มูลค่าการออกหุ้นกู้ลดลงเพียง 10% เท่านั้น
ส่วนหนึ่งที่ การออกหุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์ปรับลดลงมาจากความระมัดระวังของนักลงทุน ในการเข้ามาซื้อหุ้นกู้ลดลง จากกระแสข่าวหุ้นกู้ต่างๆ รวมถึงหลายบริษัทมีการชะลอการออกหุ้นกู้ลดลง จากเซ็นติเมนต์ตลาดที่ไม่เอื้อ และหลายบริษัท มีศักยภาพในการออกหุ้นกู้น้อยลง ทำให้ต้องกลับไปพึ่งพาสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือหาแหล่งเงินทุนอื่นๆแทน
โดยจากพบกระทบดังกล่าว พบว่า ทำให้ทั้งจำนวนการออกหุ้นกู้ต่อรายของบริษัทลดลงเช่นกัน รวมถึงระยะเวลาการออกหุ้นกู้ด้วย เช่น หากเป็นกลุ่มไฮยิลด์ จะเห็นว่ามูลค่าออกต่อรุ่นจะเหลือไม่ถึง 500 ล้านบาทต่อรุ่น และมีอายุเฉลี่ยลดลงเหลือ 2 ปีเท่านั้น จากปีที่ผ่านมา ที่การออกหุ้นกู้ต่อรุ่นอยู่ที่ 700 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 2.7 ปีต่อรุ่น
นอกจากนี้ ในปี 2567 ที่ผ่านมา มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดทั้งสิ้น 5 ราย คิดเป็นเงิน 3,172 ล้านบาท อาทิ บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะที่อีก 4 บริษัทอยู่นอกตลาด
ทั้งนี้ ยังมีบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ขอเลื่อนการกำหนดชำระในปี 2567 สูงขึ้นเป็น 17 ราย เป็นบริษัทเดียวในจำนวน 5 รายดังกล่าวจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่เหลือเป็นบริษัทนอกตลาด ขณะเดียวกันหุ้นกู้ที่เลื่อนกำหนดชำระในปี 2567 มีมูลค่ารวม 37,963 ล้านบาท จากผู้ออก 17 ราย ในจำนวนนี้มี 12 บริษัทรายใหม่ที่เข้ามาในปีที่ผ่านมา โดยบางรายเป็นบริษัทขนาดเล็ก ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยบริษัทที่เลื่อนกำหนดชำระหุ้นกู้ อาทิ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ,บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) โดย EA มองว่าจะมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ 4 รุ่น โดยมูลค่ารวม 6,200 ล้านบาท โดยปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณการผิดนัดชำระ และเชื่อว่า EA น่าจะมีรายได้ในการมาชำระคืนหุ้นกู้ให้กับผู้ถือหุ้นได้ จากรายได้หลักจากการขายไฟฟ้า หลังจากมีการเลื่อนการชำระมาโดยเฉพาะ 2 รุ่นที่จะครบกำหนดในช่วงส.ค.นี้ โดยรุ่นแรกคือเรตติ้งระดับ BBB+ มูลค่ารวม 700 ล้านบาท ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เป็นเจ้าหนี้ทั้งหมด และอีกรุ่นคือมูลค่ารวม 5.5 พันล้านบาท ที่มีทั้งเจ้าหนี้มีทั้งบลจ. และนักลงทุนทั่วไป
“เรายังไม่พบสัญญาณผิดนัด หรือสัญญาณผิดปกติ ที่นำมาสู่การชำระคืนไม่ได้ ดังนั้นคาดว่า EA จะยังมีรายได้มาชำระคืนผู้ถือหุ้นได้ ทั้งที่จะครบกำหนด 700 ล้านบาท และ 5.5 พันล้านบาท ในกลางๆ ปีนี้ เนื่องจากยังมีรายได้ที่ดีจากการขายไฟฟ้า แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์การชำระหนี้ต่อเนื่อง”