แนวโน้มกระแสการระดมทุนการจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย ปี 2566

แนวโน้มกระแสการระดมทุนการจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย ปี 2566

ในปี 2565 มีบริษัทจำนวน 163 บริษัทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นครั้งแรกซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากปี 2564 ในขณะที่มูลค่าระดมทุนลดลงร้อยละ 43 ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากบริษัทรายย่อยเสนอขายหลักทรัพย์เพิ่มมากขึ้นกว่าบริษัทขนาดใหญ่ในปีที่ผ่านมา

ภาพรวมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยรั้งอันดับหนึ่ง สามารถระดมทุนได้มากที่สุดในภูมิภาค โดยมีมูลค่ากว่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ และมีบริษัทที่เสนอขายหุ้นจำนวน 42 บริษัท แนวโน้มการระดมทุนผ่านการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ค่อนข้างเป็นแนวโน้มที่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค โดยบริษัทที่ระดมทุนได้มากที่สุดเป็นอันดับสอง สามและสี่ของภูมิภาคล้วนเป็นบริษัทที่เสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยทั้งสิ้น โดยรวมแล้วคิดเป็นร้อยละ 29 และร้อยละ 61 ของการระดมทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศไทยตามลำดับ

แนวโน้มการระดมทุนในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะดีกว่าปี 2565 เพราะตลาดฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ หลังจากสถานการณ์โควิด อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก...) ได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดเกี่ยวกับงบการเงิน ที่กำหนดให้บริษัทที่มีความประสงค์ที่จะยื่นคำขอจดทะเบียนในปี 2567 จำเป็นต้องยื่นงบการเงินประจำปี 3 ปีล่าสุดและงบการเงินไตรมาสสุดท้าย

ทั้งนี้งบการเงินดังกล่าวต้องจัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินและผ่านการตรวจสอบ หรือสอบทาน (กรณีงบการเงินรายไตรมาส)โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ข้อกำหนดนี้อาจจะทำให้การเตรียมตัวสำหรับยื่นขอจดทะเบียนใช้เวลานานมากกว่าเดิม และอาจทำให้หลายบริษัทต้องการยื่นขอจดทะเบียนให้เสร็จภายในปี 2566

จากข้อมูลรายงานสรุปภาวะตลาดทุนรายเดือนของ ก.ล.ต. ณ วันที่ 28 ก.พ.2566 มีบริษัทที่อยู่ระหว่างการทำ pre-consult กับ ก.ล.ต. มากถึง 75 บริษัท (เฉพาะบริษัทที่ส่งคำร้องขอในปี 2564) อีกทั้งข้อมูลล่าสุดจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 มีบริษัทที่อยู่ระหว่างพิจารณาคำขอหรืออนุมัติคำขอแล้วทั้งหมด 20 บริษัท

 


และมีบริษัทที่ระดมทุนเสนอขายหุ้นไปแล้ว 12 บริษัท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนบริษัทที่ระดมทุนในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าหลายบริษัทต่างให้ความสนใจในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น เพื่อนำหุ้นออกเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปโดยอาจเกิดจากการที่เจ้าของกิจการได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระยะยาว การสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท การบริหารเงินแบบมืออาชีพและการดำรงอยู่ของบริษัทในระยะยาว รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจในอนาคต

ปี 2566 ถือเป็นอีกปีที่การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์นั้นน่าจับตามองท่ามกลางการแข่งขันที่ร้อนแรง ทั้งนี้ บริษัทที่กำลังเตรียมตัวจะระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์จะต้องกลับมาพิจารณาความพร้อมของบริษัทและให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์และกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้ทันตามเหตุการณ์

 หมายเหตุ บทความข้างต้น เขียนขึ้นโดย ลสิตา มากัต พาร์ทเนอร์ และสุวิมล ป้องเกียรติชัย ผู้จัดการ ที่ปรึกษาด้านการสอบบัญชี ดีลอยท์ ประเทศไทย

 ที่มาของข้อมูล
*ตามประกาศของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 53/2561 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2561

** รายงานสรุปภาวะตลาดทุนรายเดือน,www.sec.or.th และ หลักทรัพย์ IPO ล่าสุด, www.set.or.th