หุ้นน้องใหม่ TERA เปิดฟอร์มสวย เทรดวันแรกเหนือจอง 94.29%
หุ้นน้องใหม่ TERA เปิดเทรดวันแรกเหนือจองพุ่ง 94.29% หรือเพิ่มขึ้น 1.65 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 3.40 บาท จาก IPO ที่ 1.75 บาท
ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยภาคเช้า ณ วันที่ 24 เมษายน 2567 หุ้นน้องใหม่ TERA หรือ บมจ.เทอร์ราไบท์ พลัส ประกอบจำหน่ายอุปกรณ์ด้านไอที และให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร เปิดเทรดวันแรกเหนือจองพุ่ง 94.29% หรือเพิ่มขึ้น 1.65 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 3.40 บาท จาก IPO ที่ 1.75 บาท
สมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน TERA ระบุว่า บมจ.เทอร์ราไบท์ พลัส มีความพร้อมในการยกระดับความเป็นหนึ่งใน IT Solution Provider ที่นำเสนอโซลูชั่นไอทีที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากได้นำเงินจากการระดมทุนไปใช้เป็นเงินลงทุนในพัฒนาระบบ Cloud ต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณการให้บริการต่อลูกค้า และด้วยผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างมั่นคง
โดย บมจ.เทอร์ราไบท์ พลัส ประกอบกิจการเป็นผู้ให้บริการด้านระบบคลาวด์ จัดจำหน่ายและให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) ขนาดใหญ่แบบครบวงจร ให้บริการแอปพลิเคชั่น ด้าน Logistics รวมถึงการลงทุนในกิจการอื่นๆ ที่ให้บริการด้านซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นทางธุรกิจต่างๆ โดยแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ
1. กลุ่มธุรกิจบริการระบบเก็บข้อมูลและประมวลผลระบบสารสนเทศบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และบริการในรูปแบบสมาชิกแบบต่อเนื่อง (Cloud & Recurring Services) 2. กลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นและให้บริการที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (On-Premise Hardware & Cyber Security)
3. กลุ่มธุรกิจระบบซอฟต์แวร์บริหารจัดการ การขนส่งกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ (Transportation Management System:TMS) ภายใต้ตราสินค้า “Skyfrog” และ 4. กลุ่มธุรกิจการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)
โดย บมจ.เทอร์ราไบท์ พลัส ประกอบกิจการเป็นผู้ให้บริการด้านระบบคลาวด์ จัดจำหน่ายและให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) ขนาดใหญ่แบบครบวงจร ให้บริการแอปพลิเคชั่น ด้าน Logistics รวมถึงการลงทุนในกิจการอื่นๆ ที่ให้บริการด้านซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นทางธุรกิจต่างๆ โดยแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ
1. กลุ่มธุรกิจบริการระบบเก็บข้อมูลและประมวลผลระบบสารสนเทศบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และบริการในรูปแบบสมาชิกแบบต่อเนื่อง (Cloud & Recurring Services)
2. กลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นและให้บริการที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (On-Premise Hardware & Cyber Security)
3. กลุ่มธุรกิจระบบซอฟต์แวร์บริหารจัดการ การขนส่งกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ (Transportation Management System:TMS) ภายใต้ตราสินค้า “Skyfrog” และ 4. กลุ่มธุรกิจการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)
สุรสิทธิ์ คิวประสพศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เทอร์ราไบท์ พลัส (TERA) เปิดเผยว่า พื้นฐานธุรกิจบริษัทฯ มีรายได้จาก 2 ธุรกิจในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เครือข่ายไอที ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ และการให้บริการเช่าใช้ซอฟต์แวร์ โดยเป็นพันธมิตรกับเจ้าของเทคโนโลยีระดับโลก (Certified Partner) หลายราย อาทิ HPE, DELL Technologies, IBM, Microsoft, AWS, VMware, Veeam และธุรกิจให้บริการ ตั้งแต่การติดตั้งระบบ บำรุงรักษา การให้บริการซอฟท์แวร์ โดยเฉพาะการให้บริการระบบ Cloud แบรนด์ตัวเอง T.Cloud และซอฟต์แวร์ระบบขนส่งกระจายสินค้า Skyfrog ที่พัฒนาขึ้นมาเอง และมีอัตรากำไรขั้นต้นสูง เป็นหัวใจในการสร้างรายได้ประจำในสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการมีระบบและแอปพลิเคชั่นเป็นของตนเอง ทำให้มีความได้เปรียบในเรื่องของราคา และคุณภาพด้านการให้บริการ
โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุน บริษัทฯ มีแผนนำเงินที่ได้ไปใช้ลงทุนระบบ Cloud เพื่อเพิ่มปริมาณการให้บริการ T.Cloud แก่ลูกค้าที่ต้องการใช้ Local Cloud ในการจัดเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพ ที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจตามแผนงานที่วางไว้ เพื่อผลักดันการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยประสบการณ์กว่า 19 ปี เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับคู่ค้าเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มาอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน มีทีมงานมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ มีการให้บริการที่ดี ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปใช้ลงทุนในระบบ Cloud ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการ
TERA มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO คือ NEX ถือหุ้น 31.88% นายสุรสิทธิ์ คิวประสพศักดิ์ ถือหุ้น 8.61% และ นายจิราวัฒน์ จารุฐิติพันธุ์ ถือหุ้น 7.86% โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ หลังหักเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายกำหนดและตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับบริษัท
ประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า TERA ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.เน็กซ์ พอยท์ (NEX) มีบริษัทที่เข้าลงทุน 100% 2 แห่งได้แก่ บริษัท คลัสเตอร์ ซิสเท็มส์ จำกัด และ บริษัท สกายฟร็อก จำกัด โดยกลุ่มบริษัทดำเนินธุรกิจเป็นผู้ออกแบบ ติดตั้ง จัดจำหน่ายอุปกรณ์ด้านไอที และให้บริการเกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) ขนาดใหญ่แบบครบวงจร จัดจำหน่ายและให้บริการด้านระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) บริการระบบเก็บข้อมูลและประมวลผลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในรูปแบบสมาชิกต่อเนื่อง (Cloud & Recurring Services) จัดจำหน่ายและให้บริการซอฟต์แวร์ระบบบริหารจัดการการขนส่งกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ (Transportation Management System: TMS) และจำหน่ายผลิตภัณฑ์
และให้บริการ รวมถึงฝึกอบรมด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) กลุ่มบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไอทีแบรนด์ชั้นนำ อาทิ Hewlett-Packard Enterprise (HPE), DELL Technologies, IBM, Microsoft, AWS, VMware, Veeam เป็นต้น ในปี 2566 บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการขายต่อการให้บริการเท่ากัน 50 : 50% โดยมีกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ และ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีมูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบจำนวน 344 ล้านบาท
ทั้งนี้ TERA มีทุนชำระแล้วหลัง IPO 120 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 150 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 90 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้ถือหุ้นของ NEX ที่มีสิทธิจองซื้อหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pre-emptive Rights) ไม่เกิน 36 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 41 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของบริษัทหรือบริษัทย่อย ไม่เกิน 4.5 ล้านหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทหรือบริษัทย่อย รวมถึงผู้มีความสัมพันธ์ ไม่เกิน 8.5 ล้านหุ้น
โดยเสนอขายผู้ลงทุนทุกประเภทระหว่างวันที่ 3 - 11 เมษายน 2567 ในราคาหุ้นละ 1.75 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 157.50 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 420 ล้านบาท ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ประมาณ 14.50 เท่า คำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในงวดปี 2566 ซึ่งเท่ากับ 28.96 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.12 บาท โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน มีบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ