ชำแหละ 11 หุ้น IPO ปี 66 - 67 ระส่ำ นักลงทุนติดดอยหนักมาก ราคายังต่ำจองเกิน 50%
ชำแหละ 11 หุ้น IPO ปี 2566 - 2567 ระส่ำ นักลงทุนติดดอยหนักมาก ราคายังต่ำจองเกิน 50% หุ้น SAF ติดลบมากสุด -64.77% จากราคา IPO 1.93 บาท
สถานการณ์ "ตลาดหุ้นไทย" ในห้วงปี 2566-2567 ยังถือว่าไม่สดใสเท่าไรนัก ยิ่งในปี 2567 ด้วยแล้ว หลากหลายปัจจัยลบรุมเร้า กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยจำนวนมาก เลือดไหลไม่หยุด จนกระทั่ง 3 หน่วยงาน ทั้งกระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ผนึกกำลังแถลง "มาตรการขับเคลื่อนตลาดทุนไทย" หวังเรียกความเชื่อมั่นฟื้นตัวตลาดหุ้นกลับคืน ด้วยมาตรการดึงเม็ดเงินลงทุนกว่า 5.3 แสนล้านบาท
และเมื่อเข้าไปสืบค้นข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อดูว่าหุ้น IPO ที่เข้ามาซื้อขายในตลาด SET และตลาด mai ตั้งแต่ปี 2566 ถึงครึ่งปีแรกของปี 2567 พบว่า มีหลายหลักทรัพย์ที่ราคายังต่ำจอง มีอัตราเปลี่ยนแปลงราคาที่ยังคิดลบเมื่อเทียบกับราคา IPO เกิน 50% มีด้วยกัน 11 หลักทรัพย์
บริษัท เอส.เอ.เอฟ. สเปเชียล สตีล จำกัด (มหาชน) SAF
- วันแรกที่ซื้อขาย 19 ม.ค.2566
- ราคา IPO 1.93 บาท
- ราคา 25 มิ.ย.67 ที่ 0.68 บาท
- ลดลง 1.25 บาท หรือ -64.77%
บริษัท สิริซอฟต์ จำกัด (มหาชน) SRS
- วันแรกที่ซื้อขาย 10 ต.ค.2566
- ราคา IPO 16.00 บาท
- ราคา 25 มิ.ย.67 ที่ 5.90 บาท
- ลดลง 10.1 บาท หรือ -63.13%
บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) TPL
- วันแรกที่ซื้อขาย 30 มิ.ย.2566
- ราคา IPO 3.30 บาท
- ราคา 25 มิ.ย.67 ที่ 1.24 บาท
- ลดลง 2.06 บาท หรือ -62.42%
บริษัท เด็กซ์ซอน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) DEXON
- วันแรกที่ซื้อขาย 31 มี.ค.2566
- ราคา IPO 4.50 บาท
- ราคา 25 มิ.ย.67 ที่ 1.91 บาท
- ลดลง 2.59 บาท หรือ -57.56%
บริษัท เพเนเล่ส์มาติก โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) PANEL
- วันแรกที่ซื้อขาย 22 ก.พ.2567
- ราคา IPO 3.68 บาท
- ราคา 25 มิ.ย.67 ที่ 1.59 บาท
- ลดลง 2.09 บาท หรือ -56.79%
บริษัท นิวทรีชั่น เอสซี จำกัด (มหาชน) NTSC
- วันแรกที่ซื้อขาย 9 ก.พ.2566
- ราคา IPO 26.25 บาท
- ราคา 25 มิ.ย.67 ที่ 11.90 บาท
- ลดลง 14.35 บาท หรือ -54.67%
บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) BLC
วันแรกซื้อขาย 21 มิ.ย.2566
ราคา IPO 10.50 บาท
ราคา 25 มิ.ย.67 ที่ 4.82 บาท
ลดลง 5.68 บาท หรือ -54.10%
บริษัท คิวทีซีจี จำกัด (มหาชน) QTCG
- วันแรกที่ซื้อขาย 4 เม.ย.2567
- ราคา IPO 1.20 บาท
- ราคา 25 มิ.ย.67 ที่ 0.56 บาท
- ลดลง 0.64 บาท หรือ -53.33%
บริษัท พีลาทัส มารีน จำกัด (มหาชน) PLT
- วันแรกที่ซื้อขาย 27 เม.ย.2566
- ราคา IPO 1.55 บาท
- ราคา 25 มิ.ย.67 ที่ 0.73 บาท
- ลดลง 0.82 บาท หรือ -52.90%
บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) MGC
- วันแรกที่ซื้อขาย 26 เม.ย.2566
- ราคา IPO 7.95 บาท
- ราคา 25 มิ.ย.67 ที่ 3.88 บาท
- ลดลง 4.07 บาท หรือ -51.19%
บริษัท สโตนวัน จำกัด (มหาชน) STX
- วันแรกที่ซื้อขาย 26 เม.ย. 2567
- ราคา IPO 3.00 บาท
- ราคา 25 มิ.ย.67 ที่ 1.48 บาท
- ลดลง 1.52 บาท หรือ -50.67%
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หุ้น IPO ตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึง ณ ปัจจุบัน เข้ามาทั้งสิ้น 17 หลักทรัพย์ รวมทั้ง SET และ MAI เมื่อดูรายละเอียดตั้งแต่วันแรก โดยอ้างอิง ณ ราคาปิดวันแรกมี 11 หลักทรัพย์ที่ปิดแล้วมีกำไร เมื่อเทียบกับราคา IPO ซึ่ง Everledge Return อยู่ที่ 39% Medium Return อยู่ที่ 19%
ทั้งนี้หากเมื่อเทียบหุ้น IPO ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนค่อนข้างเป็นบวก ขณะเดียวกันช่วงปีที่ผ่านมา สภาพคล่องค่อนข้างเหือดแห้งมาก โดยหุ้น IPO ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นขนาดเล็ก และขนาดกลาง
“แม้ผลตอบแทนอาจจะดูไม่เยอะประมาณ 30 -40% แต่ถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่บางช่วงปรับตัวลงไปกว่า 20% ส่งผลให้หุ้นกลาง หุ้นเล็ก ในช่วงแรกๆ ของการซื้อขาย IPO ก็ทำให้เกิดความคึกคักอยู่ได้บ้าง”
ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังมองว่า ทิศทางหุ้น IPO จะยังคงอยู่ในเกณฑ์โมเมนตัมที่ดี เนื่องจาก FA ส่วนใหญ่พยายามที่จะอยากให้หุ้น IPO เข้ามาแล้วไม่ได้มีราคาที่แพงจนเกินไป ซึ่งหากหุ้น IPO มีส่วนลดลงมาก็จะประสบความสำเร็จได้น้อย เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า หุ้น IPO ในช่วงหลัง Valuation ที่เข้ามาในช่วงหลังไม่ได้ตึงเหมือนในอดีต มีการเก็งกำไรเข้ามาได้บ้าง เพราะฉะนั้นซัพพลายของหุ้นที่จะเข้ามาราคาไม่แพง รวมถึง ดีมานด์ในครึ่งปีหลังกฎระเบียบต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เข้ามาจะเป็นตัวช่วยให้การเทรดดิ้งของรายย่อยทำได้มากขึ้น
สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากนี้เป็นต้นไป วอลุ่มของตลาดเริ่มกลับฟื้นขึ้นมา หากเทียบกับช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา และหากกองทุน TESG ที่จะเริ่มขายในช่วงเดือนสิงหาคม เป็นต้นไป ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาอยู่ที่ระดับ 300,000 ล้านบาท ตรงนี้อาจจะทำให้วอลุ่มกลับเข้ามาเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 4,000-5,000 ล้านบาท ทั้งปีอาจจะเห็นวอลุ่มปรับเพิ่มขึ้นมาในฝั่งของสถาบันการเงินรวมกว่าเกือบ 20,000 ล้านบาท ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ตลาดมีวอลุ่มซื้อขายกลับมาคึกคักมากขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบันนี้
ในขณะเดียวกันภาวะอัตราดอกเบี้ยของฝั่งสหรัฐ รวมถึงอีกหลายๆ ประเทศชั้นนำที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วเริ่มส่งสัญญาณว่า ในไตรมาส 3/67 เริ่มจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ส่วนหนึ่งจะเอื้อให้สกุลเงินในภูมิภาคอาเซียนค่อยๆ ทยอยแข็งค่าขึ้น และจะส่งผลให้ตลาดหุ้นในในฝั่งอาเซียนไตรมาส 3-4/67 กลับมาครึกครื้นอีกครั้งหนึ่งได้
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่รอเข้าตลาดหุ้นไทยช่วงหลังของปีนี้ คาดว่า หุ้น IPO จะกลับมาคึกคักได้อีกครั้งในช่วง เดือนก.ค. - ส.ค. นี้เป็นต้นไป ซึ่งมีหลากหลายบริษัทที่คุณภาพบริษัทที่ดี และกำลังเดินหน้าเข้าจดทะเบียนที่ปัจจุบันมียอดจองเข้ามาค่อนข้างดี
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์