PCL ชูจุดเด่น ‘หุ้นเฮลท์เทค’ ลุยระดมทุนสร้างการเติบโต ‘ก้าวกระโดด’
"พีซีแอล" เล็งขายหุ้น "ไอพีโอ" 410 ล้านหุ้น ชูจุดเด่น "หุ้นเฮลท์เทค" พร้อมลุยระดมทุนภายในปีนี้ ! หนุนสร้างการเติบโต "ก้าวกระโดด"
อุตสาหกรรมทางการแพทย์ถือเป็น “หลุมหลบภัย” แม้ในยามเศรษฐกิจโลกและไทยชะลอตัว และหนึ่งในบริษัทที่ได้อานิสงส์ดังกล่าว คงต้องยกให้ บริษัท พี ซี แอล โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PCL ผู้ดำเนินธุรกิจ ผลิต นำเข้าและจำหน่ายเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์และน้ำยาตรวจวิเคราะห์โรคในประเทศไทย “หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ” กำลังติดเครื่องเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในเดือนส.ค. 2567 โดยเสนอขายหุ้นจำนวน 410 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.05% มูลค่าที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 0.50 บาท
จุดเริ่มต้นจาก “ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์” ที่ล้มลุกคลุกคลานมาในช่วงปี 2540 หรือ “วิกฤติต้มย้ำกุ้ง” ผ่านประสบการณ์มากว่า 30 ปี !! ปัจจุบันกำลังจะติดป้าย “มหาชน” พร้อมการชู “จุดแข็ง” ด้วย “ศูนย์แล็บวินิจฉัยโรค-นวัตกรรมซอฟต์แวร์การแพทย์” ดังนั้น หุ้น PCL คงไม่เป็นแค่หุ้นขายเครื่องมือทางการแพทย์เท่านั้น แต่หุ้น PCL เป็นหนึ่งใน “หุ้นเฮลท์เทค” (Health Tech) ของตลาดหุ้นไทยคงไม่ผิดนัก !!
“พิสิษฐ์ วรรณวิทยาภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท พี ซี แอล โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PCL เล่าแผนสร้างการเติบโตให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า การนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ !! จะไม่ได้ประโยชน์เพียงแค่มีช่องทางการ “หาเงินทุน” มากขึ้น แต่จะได้เรื่องหน้าตา และความน่าเชื่อถือเต็มๆ มาตรฐานของบริษัทจะถูกยกระดับขึ้นทันที ที่สำคัญยังสามารถดึงดูด “พันธมิตรใหม่ๆ” เข้ามาเพื่อให้บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายเพิ่มขึ้น และยังสามารถ “ต่อยอด” ทางนวัตกรรมใหม่ๆ อีกด้วย
สอดคล้องกับเงินที่ได้มาจะใช้ในการผลักดัน “การเติบโต” อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่ง PCL วางเป้าหมายเติบโตตามการเติบโตของอุตสาหกรรมการให้บริการทางการแพทย์ สะท้อนผ่านนำเงินใช้เป็นเงินลงทุนคือ 1.เพื่อใช้ลงทุนซื้อเครื่องมือวิเคราะห์โรคเพื่อขยายส่วนแบ่งทางการตลาด สำหรับธุรกิจผลิต นำเข้า และจำหน่ายเครื่องมือ อุปกรณ์ และน้ำยาตรวจวิเคราะห์โรค และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ โดยลงทุนในเครื่องมือวิเคราะห์โรค ได้แก่ เครื่องมือวิเคราะห์โรค เบาหวาน/ไขมันในเลือด/กรดยูริค ฮอร์โมนไทรอยด์ สารบ่งชี้มะเร็ง เป็นต้น
2.ใช้ชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน 3.เพื่อลงทุนขยายกิจการ ประกอบด้วย ลงทุนในศูนย์ตรวจสุขภาพ PCL Wellness & Longevity และลงทุนซื้อเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้ในตรวจสุขภาพเพิ่มเติม รวมทั้งลงทุนซื้อเครื่องมือและเทคโนโลยีชั้นสูง และ 4.เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนกิจการ
โดย ณ ปัจจุบันแบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ “กลุ่มธุรกิจผลิต นำเข้า และจำหน่ายเครื่องมือ อุปกรณ์ และน้ำยาตรวจวิเคราะห์โรค และเครื่องมือวิทยาศาสตร์” คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 83% โดยประเทศที่ PCL นำสินค้าเข้ามาจำหน่าย ได้แก่ สหรัฐ, สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เป็นต้น ประกอบด้วย 1. บริษัท พี ซี เอ็น เฮลธ์แคร์ จำกัด (PCN) ประกอบธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ด้าน Molecular Diagnostics, Blood Bank และ Women Health
2.บริษัท ดรูไบโอ (ไทยแลนด์) จำกัด (DREW) ประกอบธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายเครื่องมือวิเคราะห์โรค โดยมุ่งเน้นกลุ่มโรคเบาหวาน โรคธาลัสซีเมีย กลุ่มโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และ3.บริษัท อาร์ไอที แอดวานซ์ จำกัด (RIT) ประกอบธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายสินค้าทางเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อการฟื้นฟูสุขภาพและความงาม
“กลุ่มธุรกิจบริการรับตรวจวิเคราะห์โรค สำหรับห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และบริการรับตรวจสุขภาพสำหรับบุคคลทั่วไป” คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 14% ประกอบด้วย 1.บริษัท พี ซี ที ลาบอราตอรี่ เซอร์วิส จำกัด (PCT) ธุรกิจคลินิกเทคนิคการแพทย์ โดยเปิดให้บริการในการตรวจวิเคราะห์ ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ให้ลูกค้าองค์กร (B2B) 2.บริษัท พี ซี แอล เวลล์เนส แอนด์ ลองจีวิตี้ จำกัด (PWL) ธุรกิจให้บริการตรวจสุขภาพสำหรับบุคคลทั่วไป (B2C)
และ “กลุ่มธุรกิจผลิต พัฒนา และจำหน่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้กับเครื่องมือแพทย์และให้บริการติดตั้งระบบซอฟต์แวร์พร้อมบริการซ่อมแซมบำรุงรักษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์” คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 3% ประกอบด้วย บริษัท แร็กซ์ อินเตอร์ไดนอสติค จำกัด (RAX) ประกอบธุรกิจ บริการ ผลิต พัฒนา และจำหน่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งเพื่อใช้กับเครื่องมือตามห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ในโรงพยาบาล
โดยระบบดังกล่าว PCL คือ ผู้พัฒนาขึ้นมาด้วยตนเองตั้งแต่ช่วงปี 1997 ซึ่งจะใช้งานในการเชื่อมต่อข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการตรวจวินิจฉัยโรคและจัดส่งข้อมูลของผู้ป่วยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ของรัฐบาลและเอกชน
ขณะที่ ระบบซอฟต์แวร์ยังถูกใช้อยู่ใน “หลังบ้าน” คือ หากโรงพยาบาลนำส่งหลอดเลือดของผู้ป่วยที่ต้องการตรวจวินิจฉัยโรคเข้ามาที่ศูนย์แพทย์ของ PCL จะสามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว และหากผลตรวจออกระบบจะยิงข้อมูลกับไปยังมือถือของแพทย์หรือระบบของโรงพยาบาลทันที
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ใช้ในโรงพยาบาลภายในประเทศเท่านั้น ที่ผ่านมา PCL ได้ให้บริการระบบซอฟต์แวร์นี้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย ซึ่ง PCL ได้มีการฝึกอบรมบุคลากรที่จะดูแลระบบดังกล่าวไว้เป็นที่เรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการแพทย์ของ PCL ยังคงเน้นให้บริการแก่โรงพยาบาลรัฐในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 73% และอีกสัดส่วนประมาณ 27% ที่เหลือจะเป็นโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลศูนย์แพทย์ของมหาวิทยาลัย รวมถึงศูนย์วิจัย
ท้ายสุด “ผมเชื่อว่าระบบซอฟต์แวร์ของบริษัทถือเป็นจุดแข็ง เพราะว่าอนาคตเรื่อง IT และ AI นับเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ปัจจุบันบริษัทมุ่งสู่เทคโนโลยีวิเคราะห์ (Big Data) ซึ่งสามารถทำได้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว และนับเจ้าเดียวที่ทำระบบ Big data นี้ มันส่งผลให้บริษัทก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ทำให้คู่แข็งยังตามหลังเราอยู่”