‘หุ้นค้าปลีก’เฮ! กำลังซื้อฟื้น-รัฐอัดเงินกระตุ้นใช้จ่าย

‘หุ้นค้าปลีก’เฮ! กำลังซื้อฟื้น-รัฐอัดเงินกระตุ้นใช้จ่าย

เศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ หลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง จนประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ กลับไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ ออกไปเดินห้าง ทานข้าว ดูหนัง เดินทางท่องเที่ยวเหมือนกับช่วงก่อนที่จะเกิดโรคระบาด

ส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศคึกคักขึ้น กำลังซื้อค่อยๆ ฟื้นตัว ประชาชนเริ่มกลับมาใช้จ่าย ท่ามกลางราคาสินค้าหลายชนิดที่พาเหรดปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่อง

สะท้อนจากตัวเลขผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกในปัจจุบันปรับตัวขึ้นมายืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 50 จุดได้อีกครั้ง เมื่อเทียบกับช่วงเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 48.9 จุด

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวดีขึ้นตามกิจกรรมและการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดยาว นโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายของร้านค้าต่างๆ

ขณะที่ในเดือนล่าสุด ส.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ยังทรงตัว และในระยะ 3 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว การทำโปรโมชั่นของร้านค้า และแนวโน้มมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่ออกมาเพิ่มขึ้น

 

จากผลสำรวจดังกล่าวน่าจะสะท้อนได้ว่าจุดต่ำสุดของอุตสาหกรรมค้าปลีกในช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยผลประกอบการของหลายๆ บริษัทในงวดล่าสุด ไตรมาส 2 ปี 2565 ฟื้นตัวต่อเนื่อง

 

- บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL 

ยอดขายร้านสะดวกซื้อ 7-ELEVEN โตแรง หนุนกำไรสุทธิเพิ่มเป็น 3,004 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 37.16% YoY จาก 2,190 ล้านบาท

 

- บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO 

ส่วนธุรกิจค้าส่ง บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ทำกำไรสุทธิไปทั้งหมด 1,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.22% YoY จาก 1,287 ล้านบาท 

 

- บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC

 พลิกกลับมามีกำไร 1,486 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 471 ล้านบาท หลังธุรกิจในไทยและต่างประเทศ เวียดนาม อิตาลี เติบโตต่อเนื่อง

 

- บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC

อีกหนึ่งผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของประเทศก็ไม่น้อยหน้า โกยกำไรไปทั้งหมด 1,203 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.35% YoY จากช่วงปีก่อนอยู่ที่ 822 ล้านบาท

‘หุ้นค้าปลีก’เฮ! กำลังซื้อฟื้น-รัฐอัดเงินกระตุ้นใช้จ่าย

ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังปี 2565 ดูแล้วน่าจะสดใสกว่าช่วงครึ่งปีแรก ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในอัตราเฉลี่ย 5% ซึ่งจะเริ่มต้นดีเดย์ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ แม้จะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็จะได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ส่วนภาครัฐเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อของพี่น้องประชาชน เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 5 วงเงินคนละ 800 บาท ซึ่งคิกออฟไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ย. พร้อมๆ กับการเติมเงินให้กับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษอีกคนละ 400 บาท

ซึ่งรวมทั้ง 3 โครงการคาดว่าจะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มอีกเกือบ 5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลเล็งออกมาตรการเพิ่มเติมในช่วงปลายปีเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน ยิ่งจะช่วยทำให้บรรยากาศการใช้จ่ายคึกคักขึ้นไปอีก

 

- บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) 

ระบุว่า ยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ของบริษัทในกลุ่มค้าปลีก (BJC, CPALL, CRC, MAKRO) เดือน ก.ค. โดยเฉลี่ย +20%YoY สูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ +12.8%YoY 

โดย CRC เป็นบริษัทที่เห็นการฟื้นตัวของ SSSG ชัดเจนมากที่สุด +50%YoY รองลงมา คือ CPALL และ MAKRO +10-15%YoY ส่วน BJC +5-6%YoY ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานที่ต่ำในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 เนื่องจากมีการแพร่ระบาดโควิด-19 สูง ทำให้มีการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ SSSG โดยเฉลี่ย -9.4%YoY

ทั้งนี้ คาดว่า SSSG ในไตรมาส 3 ปี 2565 มีโอกาสเป็นบวกมากกว่าช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 กำไรสุทธิจะเติบโตต่อเนื่อง จากฐานที่ต่ำในปีก่อนประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง

นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการรัฐ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน, คนละครึ่ง ช่วยหนุนบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ส่วนตลาดต่างชาติก็คึกคักหลังเปิดประเทศ