ตลท.ชี้บจ.เพิ่มทุนขยายธุรกิจ หลังศก.ฟื้น 8 เดือนทะลุ2แสนล้าน
“ตลท. ” เผย บจ.แห่เพิ่มทุน 8 เดือนแรกปีนี้พุ่งแตะ 2.2 แสนล้าน กลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิด เหตุเศรษฐกิจฟื้นตัว เตรียมทุนขยายธุรกิจ คาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่คงไม่สูงเท่าปีก64 ที่ 5.7 แสนล้าน ทำนิวไฮรอบ 5 ปี ย้ำ "ตลาดรอง"เป็นแหล่งระดมทุน เสริมความแข็งแกร่ง
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการระดมทุนในตลาดรอง (Secondary Market) ในการเพิ่มทุน ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 2565) มีมูลค่า 220,000 ล้านบาท ถือว่า การเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดรองกลับมาได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิด ปี2561 ซึ่งกระจายในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
สำหรับ มูลค่าการระดมทุนดังกล่าว ก็ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ และมีแนวโน้มที่บจ.จะมีการระดมทุนเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ทั้งปี 2565 คาดว่าคงจะไม่ปรับตัวสูง เท่ากับปี2564 ที่มีมูลค่าการระดมทุน 570,000ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามยังขึ้นอยู่กับวัฏจักรของตลาด และหลายปัจจัยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งปกติวัฏจักรของการระดมทุนในตลาดรอง แต่ละปีจะสลับกันขึ้นลง ถ้าเพิ่มทุนสูงในปีก่อนหน้า ปีถัดไปก็จะลดลง
อย่างเช่นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปี 2561 มีมูลค่า 180,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 ล้านบาท ในปี 2562 หลังจากนั้นก็ปรับลดลง ในปี 2563 มาอยู่ที่มูลค่า 170,000 ล้านบาท และปรับเพิ่มขึ้น ในปี 2564 มีมูลค่า 570,000 ล้านบาท
นายแมนพงศ์ กล่าวว่า ยังต้องดูความสัมพันธ์กับการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)หรือการระดมทุนในตลาดแรก Primary Market) หากภาคธุรกิจมาระดมทุนเสนอขายหุ้น IPO มากแล้ว การระดมทุนในตลาดรองก็จะน้อยลง อย่างในปี 2563 การระดมทุนในไอพีโอมีจำนวนมาก แต่การระดมทุนในตลาดรองมีจำนวนน้อย
โดยหากภาคธุรกิจมองว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว จึงต้องการขยายกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น หรือเป็นจังหวะที่ตลาดทุนเปิด มีสภาพคล่องสูง ภาคธุรกิจต้องการเตรียมความพร้อมฐานทุนให้แข็งแกร่ง โดยขึ้นกับความต้องการในการใช้ทุน ปกติเมื่อเพิ่มทุน จะอยู่ได้ 1-3 ปี
“ในช่วงที่เหลือในปีนี้ มูลค่าการระดมทุนในตลาดรองคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก แตทั้งปี2565คงไม่เท่าปีก่อน ที่มีมูลค่าการระดมทุนสูงมาก เพราะภาคธุรกิจมีการระดมทุนไปมากแล้วในปีก่อน และช่วงที่เหลือปีนี้ ทั่วโลกมีความเสี่ยงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย และเงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง ทำให้ภาคธุรกิจยังชะลอดูความชัดเจน”
นายแมนพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ของทั้งตลาด เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-1.6 เท่า ถือว่า ยังอยู่ระดับต่ำ ซึ่งเป็นภาวะที่ภาคธุรกิจยังมีความสามารถใช้ตลาดรอง เป็นแหล่งระดมทุน เพื่อมาช่วยเสริมสร้างฐานทุนให้แข็งแกร่ง แม้ว่าต้นทุนทางด้านการระดมทุนในตลาดทุน จะไม่ได้ถูกกว่าต้นทุนการระดมทุนที่เป็นทางด้านหนี้ก็ตาม และมองว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อได้ จากเม็ดเงินทุนของต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์)ยังเป็นทิศทางไหลเข้าอยู่ในปีนี้
"ตอนนี้เรายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรที่มีนัยของการระดมทุน กิจกรรมต่างๆ ก็ยังดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าคนอาจกังวลขึ้นบ้าง ท้้งอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการระดมทุน และขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ความต้องการในการใช้ทุนของภาคธุรกิจ เมื่อเศรษฐกิจเริ่มเงยหัวขึ้น การเพิ่มทุนจะมาก่อน นำมาก่อนการขึ้นของเศรษฐกิจจริง เป็นตัวชี้วัดการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน"