ศาลสั่งกทม.จ่ายหนี้‘บีทีเอส’หมื่นล้าน โบรกมั่นใจได้เงินคืน-ลุ้นต่อสัมปทาน
นับเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์ที่ยืดเยื้อมายาวนาน หลังกทม. ค้างจ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้เอกชนคู่สัญญา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC จนหนี้พุ่งแตะหลายหมื่นล้านบาท
โดยที่ผ่านกลุ่มบีทีเอสพยายามทวงหนี้มาแล้วสารพัดวิธี ทั้งส่งจดหมายทวงอย่างเป็นทางการ พร้อมกับเสนอทางเลือกยกหนี้ให้ทั้งหมด แลกกับการต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี แต่ก็ไร้สัญญาณตอบรับ จนผู้บริหารของบีทีเอสถึงขั้นต้องอัดคลิปวีดีโอทวงหนี้กันบนรถไฟฟ้า พร้อมขอวิงวอนให้นายกฯ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่สุดท้ายยังไม่มีอะไรคืบหน้า
จนในที่สุดต้องพึ่งศาล โดย BTSC ได้ยื่นฟ้อง กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กรณีผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งค้างชำระหนี้มาตั้งแต่เดือน พ.ค.2562-พ.ค. 2564 รวม 2,348.65 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เงินต้น 2,199.09 ล้านบาท และดอกเบี้ยอีก 149.56 ล้านบาท
และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ค้างชำระหนี้มาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2560-พ.ค. 2564 รวม 9,406.41ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เงินต้น 8,786.76 ล้านบาท และดอกเบี้ย 619.65 ล้านบาท
ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ กทม. และกรุงเทพธนาคม ร่วมกันจ่ายหนี้ให้ BTSC ตามคำร้องรวมทั้งมด 11,755.06 ล้านบาท โดยให้ชำระภายใน 180 วัน นับตั้งแต่คดีเป็นที่สิ้นสุด
ขณะที่ต่อมาบอร์ดกรุงเทพธนาคมมีมติให้ยื่นอุทธรณ์ตามสิทธิภายใน 30 วัน นอกจากนี้ให้ฝ่ายกฎหมายเร่งสรุปตัวเลขมูลหนี้ให้ชัดเจนว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่กันแน่ เพราะตัวเลขบางส่วนยังไม่นิ่ง ซึ่งคาดจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน จากนั้นจะมีการเจรจาคืนหนี้ให้เอกชน โดยจะเชิญผู้บริหารบีทีเอสเข้าร่วมหารืออีกครั้ง
ผลการตัดสินของศาลที่ออกมาถือเป็นสัญญาณบวกโดยตรงต่อบีทีเอส แม้ยังต้องไปสู้กันต่อในชั้นอุทธรณ์ ขณะเดียวกันบีทีเอสมีโอกาสยื่นฟ้องเพิ่ม เนื่องจากวงเงิน 11,755.06 ล้านบาท เป็นมูลหนี้ ณ วันที่ยื่นฟ้องเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วหนี้เพิ่มขึ้นทุกวัน นอกจากนี้ ยังมีหนี้ค่าติดตั้งระบบ (M&E) อีกราว 2 หมื่นล้านบาท
ด้านบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า ผลการตัดสินของศาลเป็นบวกกับ BTS แม้ว่าเรื่องนี้อาจยืดเยื้อมีการอุทธรณ์ แต่ถือว่าเริ่มมีสัญญาณที่ดี ทั้งนี้เงินที่ได้รับจะไม่ได้บันทึกเป็นกำไรในงบกำไร (ขาดทุน) เพราะได้บันทึกไปล่วงหน้าแล้ว แต่จะดีในแง่กระแสเงินสดมากกว่า สามารถนำไปลงทุนต่อหรือชำระคืนหนี้
โดยต้องรอติดตามว่าทางกทม. และกรุงเทพธนาคมจะชำระเป็นเงินสดหรือต่อรองกับการต่ออายุสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุลงในปี 2572 ออกไปอีก 30 ปี ซึ่งในวันที่ 27 ก.ย. นี้ ศาลอาญาจะนัดตัดสินคดีล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มของ รฟม. เมื่อปี 2564 ซึ่งอาจมีผลกับการประมูลในปัจจุบันที่ BTS ไม่ได้เข้าร่วม เพราะอ้างว่า รฟม. มีเงื่อนไขประมูลที่เอื้อกับเอกชนบางกลุ่มมากไป และมีการฟ้องร้องกันอยู่ในชั้นศาล ซึ่งถ้าคดีนี้ BTS ชนะอีกครั้งไม่ว่าศาลใดก็ตามจะถือเป็นข่าวดีต่อไป
ด้านบล.กรุงศรี ประเมินว่า หากกรุงเทพธนาคมยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาน่าจะสร้างภาวะตลาดในเชิงลบให้กับหุ้น BTS โดยเฉพาะในระยะสั้น แต่หากมองในภาพใหญ่คิดว่าเมื่อมีการส่งเรื่องไปที่ศาลฎีกาแล้ว ศาลไม่น่าจะพลิกคำตัดสิน เพราะเหตุผลที่ศาลปกครองกลางตัดสินให้ BTS ชนะคดีคือ กรุงเทพธนาคมได้ทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ไว้กับ BTS และเป็นสัญญาที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ดังนั้นกรุงเทพธนาคมต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญา
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่มีท่าทีว่าจะชำระเงินที่ยังค้างส่วนนี้ให้ BTS แต่อุปสรรคคือ ผู้ว่าฯ ต้องหาทางออกเรื่องการเก็บค่าบริการสายสีเขียวส่วนต่อขยายอย่างเหมาะสม ไม่กระทบความรู้สึกของผู้บริโภคมากเกินไป ซึ่งฝ่ายวิจัยเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว BTS จะได้รับเงินที่ยังค้างอยู่ทั้งหมดจากการให้บริการ O&M และ M&E คืนจากกรุงเทพธนาคม
ทั้งนี้ แม้ว่าคำตัดสินของศาลให้ BTS ชนะคดีจะไม่กระทบกับราคาเป้าหมายของฝ่ายวิจัย เพราะได้รวมการชำระเงินที่ยังค้างจากการให้บริการ O&M และ M&E สายสีเขียวส่วนต่อขยายเอาไว้ในแบบจำลองของฝ่ายวิจัยอยู่แล้ว แต่คำตัดสินของศาลจะช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับด้านกฎเกณฑ์ของทางการลง