ชำแหละหนี้ค้างจ่าย ‘บีทีเอส’ ปมต่อเนื่อง หลังดีลสัมปทานล่ม
เปิดปมก่อหนี้เดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยาย 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว' เหตุ กทม. ชะลอเบิกจ่ายงบ หลัง คสช. ออกคำสั่งลุยเจรจาเงื่อนไขผู้รับสัมปทาน และเปิดให้บริการส่วนต่อขยายที่ 2 โดยไม่จัดเก็บค่าโดยสาร
จากคำตัดสินของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา มีคำสั่งให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ร่วมกันชำระค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมวงเงิน 11,754 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยให้ชำระภายใน 180 วัน นับตั้งแต่คดีเป็นที่สิ้นสุด
โดยภาระหนี้ที่เกิดขึ้นนั้น แบ่งเป็น
- ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้าและช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง
ค้างชำระหนี้มาตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 - พ.ค.2564
รวม 2,348 ล้านบาท แบ่งเป็น
- หนี้เงินต้น 2,199 ล้านบาท
- ดอกเบี้ย 149 ล้านบาท
- ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
ค้างชำระหนี้มาตั้งแต่ เม.ย.2560 - พ.ค.2564
รวม 9,406 ล้านบาท แบ่งเป็น
- หนี้เงินต้น 8,786 ล้านบาท
- ดอกเบี้ย 619 ล้านบาท
หนึ่งในข้อโต้แย้งของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณาศาลปกครองกลาง ถึงกรณีที่ กทม.ต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวร่วมกับเคทีหรือไม่ มีการระบุว่า การค้างชำระค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) จะเป็นผู้ชำระค่าบริการเดินรถให้แก่บีทีเอส โดยเริ่มชำระตั้งแต่ปี 2555 และจะนำรายรับจากค่าโดยสารไปใช้จ่ายค่าบริการดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามทีโออาร์โครงการบริหารจัดการระบบจนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครกำหนดไว้
อย่างไรก็ดี กทม.ได้สนับสนุนค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงในส่วนที่ขาดตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงเดือน เม.ย.2562 แต่เนื่องจากในเดือน เม.ย. 2562 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน อำนวยความสะดวกสบายในการเดินทางของประชาชนผู้โดยสาร และมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรมและไม่เป็นภาระแก่ประชาชน
ซึ่งตามคำสั่งดังกล่าวได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่พิจารณาหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งคณะกรรมการฯ มีการเจรจาโดยให้นำค่าบริการเดินรถและค่าซ่อมบำรุงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม หรือบีทีเอส ตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 ถึง ส.ค.2563
ส่งผลให้ กทม.จึงได้ชะลอการเบิกจ่ายเงินส่วนที่ขาดประจำปี 2561 ส่วนที่เหลือ และปี 2562 (เดือน ก.ย.2561 ถึงเดือน เม.ย.2562) ออกไปก่อน และตั้งแต่เดือน ก.ย.2563 จนถึงปัจจุบัน ทางเคทียังไม่ได้มีการแจ้งมายัง กทม.เพื่อขอเบิกรายรับจากค่าโดยสารเพื่อไปชำระค่าเดินรถและซ่อมบำรุงให้แก่บีทีเอส
ขณะเดียวกันโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 กทม.ได้มอบหมายให้เคทีเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ โดยเมื่อมีการเปิดให้บริการเดินรถตามโครงการดังกล่าวตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 แต่ยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร ทำให้เคทีจึงยังไม่มีการนำรายรับเพื่อนำไปชำระค่าเดินรถและซ่อมบำรุงให้แก่บีทีเอส
ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงนิติสัมพันธ์ ข้อผูกพันตามสัญญา บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ระหว่าง กทม.และเคที ศาลปกครองกลางจึงเห็นได้ว่า การที่ กทม.ได้ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพื่อบรรเทาปัญหาด้านการจราจรในกรุงเทพฯ ซึ่งแม้ว่า กทม.จะว่าจ้างเคทีซึ่งเป็นวิสาหกิจ
แต่พบว่า กทม.ถือหุ้นในเคที 99.98% และ กทม.ยังมีการสนับสนุนค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงเพื่อนำไปชำระให้แก่บีทีเอสตามสัญญา ดังนั้นเมื่อเคทีมีหนี้ค้างชำระตามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น กทม.จึงต้องร่วมรับผิดชอบชำระหนี้ดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ จากข้อโต้แย้งของ กทม.ต่อศาลปกครองกลางนั้น ชี้ให้เห็นถึงที่มาของการสะสมของยอดหนี้ค้างจ่ายค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุง โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ
1. การชะลอเบิกจ่ายเงินส่วนที่ขาดชดเชยค่าจ้าง จากกรณีการออกคำสั่ง คสช. เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่จะนำไปสู่การเจรจาเงื่อนไขกับบีทีเอส
2. การเปิดให้บริการส่วนต่อขยายที่ 2 โดยไม่จัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่งเริ่มให้บริการนับตั้งแต่ เม.ย.2560