น้ำท่วม-น้ำหลากพัดหุ้นรับปัจจัย ค้าปลีก - ประกันภัยขึ้นแท่น
ฝนมาแล้ว !! ประโยคที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศหวาดระแวงและต้องเตรียมพร้อมรับกับปริมาณน้ำฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่สถานการณ์น้ำขัง – น้ำท่วมสูง จนไปถึงน้ำป่าไหลทะลักทำให้บ้านเรือนและพื้นที่ทำกินได้รับความเสียหายจำนวนมาก
ประเทศไทยเผชิญ พายุฝน ติดต่อกันเกือบ 2 สัปดาห์ ตั้งแต่เข้าเดือนก.ย. เป็นต้นมา จนทำเกิดสภาพคนกรุงเทพฯ เผชิญฝนตกอย่างหนักการระบายน้ำไม่ทัน จนทำให้บนท้องถนนน้ำท่วมสูง ตามมาด้วยการจราจรติดขัดใช้เวลาเดินทางหนักหนาสาหัส 4 ชั่วโมง
ขณะที่ในโซนต่างจังหวัดหนักไม่แพ้กันเพราะมีน้ำป่าเข้ามาเมื่อไม่สามารถระบายสู่ทะเลได้ทัน หรือการที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของไทยจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำเหนือเขื่อนออกมา ทำให้พื้นที่บ้านเรือน และพื้นที่การเกษตรใต้เขื่อนได้รับผลกระทบหนักไปตามๆ กัน
ระหว่างวันที่ 11-13 ก.ย. 2565 มีการประกาศแล้วว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ยังต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง คือ ทางโซนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก
ส่วนโซนที่ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา
- แม่น้ำสาย แม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำตราด
และสุดท้าย เฝ้าระวังแหล่งน้ำ และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) 10 แห่ง ได้แก่
- อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่
- อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา และแม่มอก จังหวัดลำปาง
- บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์
- อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี
- อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
- อ่างเก็บน้ำลำตะคองและมูลบน จังหวัดนครราชสีมา
- อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี
- อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง
รวมทั้งอ่างฯ ขนาดเล็ก และขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ทั่วประเทศ
สถานการณ์ดังกล่าวเปรียบเทียบน้ำท่วมหนักปี ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่ายังไม่หนักเท่าในปี 2552 แต่ผลกระทบมีไม่น้อยโดยเฉพาะบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งเปรียบเทียบได้กับปี 2554 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุ ฝนตกชุกยาวนานนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2564 ก่อให้เกิด สถานการณ์น้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ 48 จังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
โดยภาพรวมมีพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบประมาณ 5.37 ล้านไร่ โดยประเมินสถานการณ์ เป็น 2 กรณี (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ต.ค. 2564) กระทบ GDP ภาคเกษตร ปี 2564 ลดลงประมาณ 4,190 – 5,730 ล้านบาท หรือลดลง 0.2 - 0.5 % ซึ่งเป็นการประเมินในเบื้องต้นที่ไม่ได้รวมความเสียหายด้านทรัพย์สิน
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ประเมินสถานการณ์น้ำหลังกรมชลประทานเปิดเผยว่า ความเสี่ยงน้ำท่วมปีนี้จะรุนแรงเท่าระดับปี 2554 แต่มีความแตกต่างกันคือ ก.ย.2554 มีพายุเข้าประเทศ 5 ลูก ส่วนในปี 2565 ยังไม่มี และมีหย่อม ความกดอากาศต่ำ 3 ครั้ง
ส่วนปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ปี 2554 อยู่ที่ 2.0 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปี 2565 อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้ำท่วมช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นปริมาณฝนที่ตกหนัก หากระบายต่อเนื่องซึ่งกำลังเร่งดำเนินการในปัจจุบัน สถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้น
เบื้องต้นสามารถเก็งกำไรหุ้น กลุ่มสินค้าปรับปรุงบ้าน และวัสดุก่อสร้างที่มักให้ผลตอบแทนดีช่วงซ่อมแซมหลังน้ำท่วม HMPRO, GLOBAL, TASCO, DCC, DRTและ TOA
บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) สถานการณ์น้ำท่วมคาดส่งผลต่อหุ้นซ่อมแซมบ้าน และประกันภัยเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย และชานเมืองกรุงเทพฯ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อที่อยู่อาศัยและยานพาหนะ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลระยะสั้นต่อจิตวิทยาการลงทุนในหุ้นสองกลุ่ม ประกอบไปด้วย
- กลุ่มค้าปลีก (ซ่อมแซมบ้าน) ตลาดอาจมองถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการตกแต่งและซ่อมแซม ซึ่งจะเป็นบวกต่อ HMPRO, GLOBAL, DOHOME
- กลุ่มประกันภัย มองว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้มีความเสี่ยงต่อการเคลมสินไหม ซึ่งอาจกระทบต่อผลประกอบการระยะสั้น นักลงทุนจึงควรเพิ่มความระวังความผันผวนของหุ้นในกลุ่มประกันภัย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์