รายย่อย JASIF ยื่น ก.ล.ต.ถอดวาระ 1-2 แม้ปรับสัญญาจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า - ลดดอกเบี้ย

รายย่อย JASIF ยื่น ก.ล.ต.ถอดวาระ 1-2 แม้ปรับสัญญาจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า - ลดดอกเบี้ย

"รังสรรค์" ผู้ถือหน่วยลงทุนรายย่อย JASIF ยื่น ก.ล.ต.ขอความเป็นธรรม - ขอคุ้มครองผู้ถือหน่วยลงทุน - พิจารณาถอดวาระที่ 1 วาระที่ 2.2 และวาระ 2.3 ของการประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนครั้งที่ 1/65 แม้แก้ไขสัญญาการจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า - แบงก์กรุงเทพลดดอกเบี้ย - ยืดชำระหนี้

นายรังสรรค์ บำบัดสรรพโรค ผู้ถือหน่วยลงทุนรายย่อย กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) กล่าวว่า จากกรณีที่จะมีการแก้ไขสัญญา โดยทางที่จะให้TTTBB ตกลงชําระค่าเช่าสายใยแก้ว นําแสงล่วงหน้าตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม และแทนที่สัญญา เช่าหลัก (Amended and Restated Main Lease Agreement) จํานวน 3,000 ล้านบาท   ภายหลังจากที่ธุรกรรมซื้อหุ้น และซื้อหน่วยลงทุนเสร็จสิ้น  และประเด็นที่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีการขยายระยะเวลาชำระหนี้ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้กองทุน JASIFนั้น  

 ทั้งนี้สำหรับประเด็นการจ่ายค่าเช่าล่วงหน้านั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่แค่นำเงินที่ต้องจ่ายอยู่แล้วมาจ่ายล่วงหน้า ไม่ได้ให้เค่าเช่าเพิ่ม ซึ่งส่วนตัวมองว่าเทียบกันไม่ได้กับการยกเลิกสัญญาประกันรายได้ค่าเช่า ที่จะมีรายได้เข้ามาปีละ 9,000 ล้านบาท 

ส่วนการอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกรุงเทพ มีการลดดอกเบี้ยให้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าหากเทียบกับกองรีทที่มีลักษณะคล้ายกัน อย่าง  กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) นั้น อัตราดอกเบี้ยที่ DIF นั้นถูกกว่า JASIF ที่จ่ายจึงมองว่าเป็นการลดมาที่ระดับใกล้เคียงกัน
 

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565  ส่วนตัวได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อีกฉบับ เรื่อง ขอความเป็นธรรม และขอให้คุ้มครองผู้ถือหน่วยลงทุน JASIF โดยพิจารณาถอดถอนวาระที่ 1 วาระที่ 2.2 และวาระ 2.3 ของการประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนครั้งที่ 1/2565

ตามหนังสือของผม ฉบับลงวันที่ 8 ส.ค.2565 ถึงคณะกรรมการ ก.ล.ต.  เรื่องขอความเป็นธรรมจากท่าน โปรดให้ความคุ้มครองถอดถอนวาระที่ 1.3 (การขออนุมัติยกเลิกสัญญาประกันรายได้ ค่าเช่า)และวาระที่1.4 ออกจากการประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนJASIF ครั้งที่1/2565 ในวันที่ 23 ก.ย.2565

 โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2565 ได้มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงวันจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนและวาระการประชุม โดยกำหนดวันประชุมใหม่เป็นวันที่ 18 ต.ค. 2565 เวลา 13.00 น. และกำหนดวาระการประชุมเป็นวาระที่ 1 วาระที่ 2 วาระที่ 2.1 วาระที่ 2.2 และวาระที่ 2.3 ซึ่งตามวาระที่ 1 และวาระที่ 2.2 ยังคงมีการขออนุมัติผ่อนผัน และ/หรือแก้ไขรายละเอียดบางประการที่เกี่ยวข้องกับการเช่า และค่าเช่าเส้นใยแก้วนำแสง(OFCs) และยกเลิกสัญญาประกันรายได้ค่าเช่าและสัญญาให้บริการจัดหาผู้เช่าทรัพย์สินและเพิ่มค่าเช่าล่วงหน้าที่ TTTBB ตกลงชำระให้กองทุนรวม 

 ทั้งนี้ผมในฐานะผู้ถือหน่วยลงทุนรายย่อยJASIF เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงวาระดังกล่าวยังคงมีความไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม และจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้ถือหน่วยลงทุนJASIF และกองทุนJASIF โดยเฉพาะตามวาระที่ 1 และวาระที่ 2.2 ยังคงมีการขออนุมัติยกเลิกสัญญาประกันรายได้ค่าเช่า ซึ่งการเพิ่มค่าเช่าล่วงหน้าที่TTTBB ตกลงชำระให้กองทุนรวม จะเห็นได้ว่ารายได้โดยรวมไม่เปลี่ยนแปลง มีผลบวกเพียงเล็กน้อย ไม่สามารถชดเชยกับรายได้จำนวนประมาณ 9,000 ล้านบาท ใน 3 ปี ที่จะสูญหายไปได้ ซึ่งผมขอเรียนชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาดังต่อไปนี้ 

1. หลังจากเกิดข่าวดีล(วันที่ 4 กรกฎาคม 2565) ผมได้ทำหนังสือถึง บลจ.บัวหลวงเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 โดยเสนอความเห็นว่าควรปฏิเสธข้อเสนอของผู้จะซื้อทั้งหมด เพราะจะทำให้เกิดผลเสียหายอย่างยิ่งต่อผู้ถือหน่วยลงทุน JASIF และผลประกอบการของกองทุน JASIF และผมได้เรียนถาม บลจ.บัวหลวง ว่า 

-บลจ.บัวหลวงในฐานะที่เป็นบริษัทจัดการกองทุนJASIF มีหน้าที่หลักในการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยJASIF และเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี เมื่อเป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่าดีลนี้ มีผลเป็นลบต่อผู้ถือหน่วยJASIF และกองทุน JASIF ขอเรียนถามว่า บลจ.บัวหลวงได้ดำเนินการอะไรบ้างเพื่อปกป้องดูแลผู้ถือหน่วยJASIF

 -เนื่องจากดีลนี้ มีความสำคัญต่อผู้ถือหน่วยJASIF ผมขอให้กองทุนJASIF จัดช่องทางเฉพาะกิจเป็นกรณีพิเศษสำหรับให้ผู้ถือหน่วยJASIF ได้สอบถามและสื่อสารความเห็น แชร์ความคิดเพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ แต่กลับได้รับคำตอบจาก บลจ.บัวหลวง ว่า จะประชุมชี้แจงโดยรวมทีเดียว ซึ่งยังไม่มีการชี้แจงใดๆจนถึงปัจจุบัน 

2. ช่วงก่อนจะมีข่าวดีล ผู้ถือหน่วยJASIF มีความพึงพอใจกับสัญญาเดิมอยู่แล้ว JASIF มีจุดแข็งมากกว่ากองทุนอื่น และที่เป็นจุดเด่นคือ เงินปันผลสูง ราคาอยู่ที่ประมาณ 10-11 บาท/หุ้น แม้จะมีจุดอ่อนด้านผู้เช่าอยู่บ้าง แต่ผู้ถือหุ้น ทุกคนรับได้ และที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 7 ปี ผู้เช่าสามารถชำระค่าเช่าได้ตรงตามกำหนดมาโดยตลอด

แม้ในช่วงปี 2563 เริ่มมีการบังคับใช้TFRS 16 ซึ่งมีผลกระทบต่ออัตราส่วนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่มีสัญญาเช่า ซึ่งทำให้ผลประกอบการของผู้เช่าส่วนใหญ่จะเกิดตัวเลขขาดทุนทางบัญชี แต่ไม่ได้ทำให้รายได้และผลประกอบการของผู้เช่า(TTTBB)ลดลงแต่อย่างใด 

3. จากข้อมูลของนักวิเคราะห์ดีเด่นกลุ่มสื่อสารในรายการ Money Plus by Yuthana วันที่ 9 ธันวาคม 2564 (เวลา 16.45 น. ช่วงที่ 2) แสดงให้เห็นว่าดีลนี้ กองทุนJASIF เสริมแกร่ง และเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้จะซื้อ 

4. ตามหนังสือชี้ชวนข้อมูลกองทุนรวม ตามรายละเอียดโครงสร้างจัดการกองทุนรวมJASIF ได้กำหนดหน้าที่และ ความรับผิดชอบของบริษัทจัดการกองทุนไว้ว่า “ต้องบริหารจัดการกองทุนรวมทั้งสินทรัพย์ และหนี้สินของกองทุนด้วยความรับผิดชอบระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน" 

5. JAS ในฐานะผู้สนับสนุนผิดสัญญาที่เคยตกลงไว้ว่าจะไม่ขายก่อนกำหนด การเรียกประชุมผู้ถือหน่วยJASIF เพื่อ ขออนุมัติขายและเปลี่ยนตัวผู้สนับสนุน(ที่ไม่ด้อยกว่าเดิม) สามารถกำหนดวาระให้โหวตได้เพราะไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด แต่การนำการขอยกเลิกสัญญาประกันรายได้ค่าเช่า(ซึ่งมีอายุสัญญา 3 ปี)

เป็นจำนวนเงินรายได้ค่าเช่าประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้ถือหน่วยJASIF และกองทุนJASIF มากำหนดเป็นวาระการประชุมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นโหวต เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ระมัดระวัง ไม่รักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนกว่า 55,000 ราย เพราะที่ผ่านมาการขอยกเลิกสัญญาประกันรายได้ค่าเช่าดังกล่าวได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อราคาหุ้นJASIF (ณ วันที่ 13 กันยายน 2565 ราคา 7.90 บาท/หุ้น ลดลงจากเดิมกว่า 20%) และเกิดความเสียหายต่อผู้ถือหน่วยJASIF เกิด PANIC ขายหุ้นขาดทุนเป็นจำนวนมาก

6. ด้วยจำนวนเงินค่าเช่าประมาณ 9,000 ล้านบาท เป็นจำนวนเงินที่สูงมากที่จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ซึ่งหากมีการวางแผน และเตรียมการล่วงหน้าอาจมีผลโหวตอนุมัติวาระดังกล่าวได้ ซึ่งในส่วนนี้ผู้กำหนดวาระการประชุมหรือบริษัทจัดการกองทุน หรือผู้ถือหน่วยJASIF ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนี้ 

7. ขอให้ บลจ.บัวหลวง เพิ่มเติมในวาระการประชุมด้วยว่า “ข้อตกลงจะไม่โอนหน่วยลงทุนที่อันจะส่งผลให้สัดส่วน การถือหน่วยลงทุนทั้งหมดของผู้สนับสนุนต่ำกว่ากำหนดในข้อตกลงดำเนินการ(Lock-up Undertaking) จะยังคงอยู่ต่อไป”

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น และเหตุผลตามข้อ 1 ถึงข้อ 7 ตามหนังสือของผมฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2565 และตามข้อ 1 และข้อ 2 ของหนังสือฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม2565 ผมในฐานะผู้ถือหน่วยลงทุน JASIF ขอความเป็นธรรมจากท่านคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โปรดให้ความคุ้มครองผู้ถือหน่วยลงทุนJASIF

โดยถอดถอนวาระที่ 1 วาระที่ 2.2 และวาระที่ 2.3 ออกจากการประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนJASIF ครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 18 ต.ค. 2565 และโปรดตรวจสอบการทำหน้าที่และความรับผิดชอบของ บลจ.บัวหลวง ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนJASIF ว่าได้ปฏิบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อบังคับของหนังสือชี้ชวนข้อมูลกองทุนรวม ตามรายละเอียดโครงสร้างจัดการกองทุนรวม JASIF ที่กำหนดไว้หรือไม่

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์