ตลาดเงินถือว่าพอร์ตลงทุนอีกด้านสำหรับแบ่งไว้พักเงินเพื่อรอจังหวะลงทุน ด้วยคุณสมบัติมีความเสี่ยงต่ำกว่ายิ่งในพันธบัตรรัฐบาลทำให้ความเสี่ยงมีน้อย หากต้องการเพิ่มความเสี่ยงขึ้นมาอีกยังมีตัวเลือกอย่างหุ้นกู้เอกชนที่พาเหรดออกมาให้เลือกลงทุนกันจำนวนมาก และมูลค่ายังสูงเป็นประวัติการณ์
ตลาดการเงินที่กลับมาคึกคักยิ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเข้ามาไปลงทุนลักษณะเข้าเร็วออกเร็วเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งมีตัวแปรสำคัญคือ การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญเศรษฐกิจโลก อย่างธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อต้องการสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงให้ได้
โดยเฉพาะ FED ที่การประชุม 20-21 ก.ย.2565 มีการส่งสัญญาณล่วงหน้าชัดเจนแบบแข็งกร้าวว่า FED มีหน้าที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงตามเป้าหมายให้ได้ แม้จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐ และประชาชนชาวอเมริกันเผชิญความยากลำบากก็ตาม
บวกกับตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดที่ประกาศออกมาของสหรัฐเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 8.3% ส.ค.สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 8.1% แต่ที่น่ากังวลคือ เงินเฟ้อจากราคาอาหาร และสินค้าบริโภคเพิ่มสูง 11% ทำกังวลว่าเงินเฟ้อสหรัฐยังไม่ผ่านจุดสูงสุด
ดังนั้นสิ่งที่ตามมาหลังตลาดคาดการณ์ว่า FED จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยคือ เม็ดเงินลงทุนหรือ Fund Flow เคลื่อนย้ายมีการขายสินทรัพย์เสี่ยงไปอยู่ในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐ ที่ถือว่าปลอดภัยช่วงนี้และหาผลตอบแทนไปในตัวส่งผลทำให้ค่าเงินสหรัฐแข็งค่า
ขณะที่พันธบัตรสหรัฐราคาหน้าตั๋วลดลงทันทีจากความต้องการซื้อมากขึ้น ซึ่งจะสวนทางเสมอกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ที่ปรับตัวสูงขึ้นแทน ล่าสุด (16 ก.ย.) Bond Yield พันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้นมาทุกช่วงอายุ
โดยอายุ 10 ปี อยู่ที่ 3.45% อายุ 5 ปีอยู่ที่ 3.65% และ อายุ 2 ปี อยู่ที่ 3.89% ที่สำคัญยังเป็นการปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี และเกิดปรากฏการณ์ Inverted yield curve เมื่อ Bond Yield อายุ 2 ปี กลับ สูงกว่าอายุ 10 ปี (Twos-tens spread) หากเกิดภาวะดังกล่าวเป็นการบ่งชี้ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา
สำหรับพันธบัตรของไทย Bond Yield ปรับขึ้นทุกช่วงอายุเช่นเดียวกัน อายุ 5 ปี อยู่ที่ 2.45% และอายุ 10 ปี แตะ 2.95% ซึ่งถือว่ากลับมาทำนิวไฮในรอบ 3 เดือน เนื่องจากหลังการประชุมนโยบายการเงิน FED แล้วธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการประชุมนโยบายดอกเบี้ยวันที่ 28 ก.ย.2565 ซึ่งแนวโน้มยังเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน
เฉพาะการลงทุนในพันธบัตรดังกล่าว ธนาคารไทยพาณิชย์ แนะนำว่าเมื่อ Bond Yield ปรับเพิ่มขึ้น หรือในสภาวะที่เป็นดอกเบี้ยขาขึ้น ต้องพยายามหาตราสารหนี้ที่มีระยะเวลากำหนดไถ่ถอนที่สั้น เพื่อให้สามารถลงทุนตราสารหนี้ตัวใหม่ (ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น) ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นจะได้รับผลขาดทุนด้านราคาน้อยกว่าตราสารหนี้ระยะยาว
ทางตรงกันข้าม หาก Bond Yield ปรับลดลง หรือในสภาวะที่เป็นดอกเบี้ยขาลง ควรลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวมากกว่าเพื่อเป็นการล็อกอัตราผลตอบแทนไว้ เพราะเมื่อลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวที่อัตราผลตอบแทนที่สูงจะได้รับผลตอบแทนที่สูง และคงที่นั้นไปอีกหลายปี ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาลง
ส่วนใครลงทุนในตลาดหุ้นอิงกับธีมดังกล่าว ยังมีหุ้นให้ลงทุนได้ ทางบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ประเมินอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย 10 ปี สูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือน บวกต่อกลุ่ม Yield Surge Play เน้นกลุ่มประกัน TLI, TIPH, BLA ส่วนกลุ่มแบงก์ SCB และ KBANK จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์